Monday, February 29, 2016

The Real Book



The Real Book นับได้ว่าเป็นคัมภีร์ของนักดนตรีแจ๊สทุกคนในวันนี้ ความขลังของมันแพร่ระบาดไปทั่วทุกมุมโลกที่มีเสียงสำเนียงแจ๊สเล็ดลอดมาเข้าหู คนดนตรีรุ่นใหม่นี่โชคดีมากเลยนะครับ สมัยนี้หาหนังสือประเภท The Real Book กันได้ง่ายๆ จนแทบจะไม่รู้ซึ้งถึงคุณค่าของมัน ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว ก่อนยุค The Real Book จะมีหนังสือรวมเพลงประเภท Fake Book เล่มหนา รวมเพลงนับพันเพลง ในแต่ละหน้าจะมีโน้ตเพลงอยู่ 2 3 เพลง ผมได้เห็นครั้งแรกตอนไปดูวงพวกนักดนตรีฟิลิปปินส์เล่นกัน ทำให้อยากได้ขึ้นมาบ้าง ก็เลยแวะไปหาดูที่ร้านวิลสัน (Wilson) ตรงข้ามไปรษณีย์กลาง เป็นร้านนำเข้าหนังสือดนตรีจากต่างประเทศที่ทันสมัยที่สุดในยุคทศวรรษเจ็ดสิบ นอกจากจะขายเครื่องดนตรีด้วย วิลสันยังเป็นตัวแทนจำหน่าย Vox ของอังกฤษ ที่วงดังอย่าง The Beatles และThe Shadows ใช้ด้วย ได้มีโอกาสดูกีตาร์ และแอมป์วอกซ์กันชัดๆก็ที่นี่แหละ

Fake Book ที่ร้านวิลสันจะถูกห่ออย่างดีอยู่ในถุงพลาสติก ตั้งโชว์ไว้บนหิ้งในตู้กระจก เล่มหนึ่งราคาขายเป็นพัน ในยุคทองบาทละ 300 400 บาท บนปกจะพิมพ์คำว่า Professional Use Only กำกับให้รู้ว่าเป็นของสำหรับระดับมืออาชีพใช้งาน ความอยากได้นั้นมีมากอยู่ แต่ความขัดสนในทรัพย์นั้นมีมากกว่า ก็เลยต้องหาวิธีการที่จะดูดเพลงที่อยากได้ สมัยนั้นไม่มีเว็บไซต์ หรือทอร์เรนต์ให้โหลดกันสบายๆ แค่ใช้นิ้วคลิ้กอย่างเดี๋ยวนี้ ก็เลยใช้วิธีขอดู เอาหนังสือมาพลิกๆ พอเจอเพลงที่ต้องการ ก็ตั้งสมาธิให้ดี ไล่จำคอร์ดให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะจำได้ พอออกจากร้านก็รีบจดใส่กระดาษอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะลืม เมื่อกลับถึงบ้านก็รีบเอามาลองเล่นดู ด้วยความดีใจ เวลาที่อยากจะได้เพลงอื่น ก็ต้องทิ้งช่วงไว้สักระยะหนึ่ง จะไปขอเปิดดูบ่อยก็อายเจ๊คนขายเขา แม้ว่าเขาจะค่อนข้างใจดี ถ้าเทียบกับร้านขายเครื่องดนตรีอื่นๆ ที่มองพวกนักศึกษายังกะขอทาน 

ประวัติความเป็นมาของ The Real Book เท่าที่ผมได้รับรู้มาทางตรง และจากการไปค้นป้อนถามหาเพิ่มเติมจากกู...... แล้วรวบรวมมาเล่าสู่กันฟัง มีอยู่ 2 - 3 เวอร์ชัน ซึ่งต้นตอที่มาออกมาจากแหล่งเดียวกัน แตกต่างกันบ้างในรายละเอียดเพียงเล็กน้อย ที่มาของข้อมูลเหล่านี้มาจากคนที่เรียนเบิร์คลียุคเซเวนตี้ ผู้คลุกคลีอยู่ในเหตุการณ์

Bill Wurtzel นักกีตาร์แจ๊สรุ่นใหญ่วัย 73 ปีแห่งนิวยอร์ก พูดถึง The Real Book ว่า 

“ทุกคนมีกันคนละเล่ม แต่ไม่มีใครรู้ว่ามันมาจากไหน”

Berklee School of Music น่าจะเป็นแหล่งกำเนิดของ The Real Book เริ่มต้นมาจากการรวบรวมชี้ทโน้ตเพลงจากแฟ้มที่อยู่บนหิ้งของแกรี เบอร์ตัน (Gary Burton) เทพแห่งไวบราฮาร์พ หรือระนาดไฟฟ้า เรียกสั้นๆ ” ไวบ์” ซึ่งกลับมาเป็นครูให้โรงเรียนเก่า โดยนักศึกษาสองคน คือมิทช์ คูดลีย์ (Mitch Coodley) และสตู บอลคอมบ์ (Stu Balcomb) ซึ่งได้ทิ้งหลักฐานแฝงผลงานของทั้งคู่ แอบมาแทรกไว้ใน The Real Book ด้วย  มิทช์ คูดลีย์เป็นนักกีตาร์ จบแล้วเป็นครูสอนที่เบิร์คลี ผมเคยเรียนวิชา Ear Training ตอนอยู่เทอมสอง ส่วนสตู บอลคอมบ์ เคยได้ยินดร.กะทิ (สิราภรณ์ มันตาภรณ์) เอ่ยถึงว่า เป็นเพื่อนกัน สตูคนนี้เป็นเจ้าของลายมือเขียนโน้ตสวยใน The Real Book

"The Real Book โผล่มาราวๆปี 1971 พวกสิ่งพิมพ์ที่หาได้ในช่วงนั้น มันห่วยไม่ได้เรื่องเลย”

จอห์น วอยจ์ (John Voigt) บรรณารักษ์ห้องสมุดเบิร์คลี เล่าให้ฟังถึงความขาดแคลนโน้ตเพลงดีๆ สำหรับคนดนตรี จนทำให้มีคนจัดทำ The Real Book ขึ้นมา เพื่อสนองความต้องการของคนแจ๊สทุกระดับ 

เทพเบสไฟฟ้าสตีฟ สวอลโลว (Steve Swallow) มาเป็นอาจารย์อยู่ที่เบิร์คลี ช่วงปี 1974 1976 ตกเป็นผู้ต้องสงสัยอีกคนหนึ่ง ว่าเป็นผู้ป้อนโน้ตเพลงให้ผู้จัดทำ The Real Book จากข้อสังเกตที่ว่ามีผลงานเพลงของสวอลโลวและพรรคพวกจำนวนมาก เข้ามาปะปนรวมอยู่กับเพลงแจ๊สสแตนดาร์ดและเพลงแจ๊สรุ่นลายครามทั้งหลาย 

 

หลายปีต่อมา สตีฟ สวอลโลวออกอัลบั้มไตเติ้ล Real Book (ECM) ในปี 1993 เขาใช้ปกหนังสือมาเป็นปกซีดีชุดนี้ แล้วยังให้เครติดสตู บอลคอมบ์ในฐานะผู้ออกแบบปกด้วย 



The Real Book ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเรียนการสอนมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นสิ่งที่ต้องพกติดตัวพร้อมใช้งานตลอดเวลา โดยเฉพาะชั่วโมงเรียนภาคปฏิบัติอย่าง วิชาอานซามเบิล (ensemble) ที่ติวเข้ม เตรียมความพร้อมในการเล่นแบบวง ซึ่งจะคัดคนเล่นดนตรีต่างชนิด มีระดับฝีมือใกล้เคียงกันราว 5 6 คน มาร่วมเล่นเป็นวงด้วยกันในแต่ละเทอม เจอกันอาทิตย์ละครั้งๆละ 2 ชั่วโมง อาจารย์จะเป็นคนเลือกเพลงให้เล่นจาก The Real Book แต่ละเพลงที่ขานมาแทบจะไม่มีเพลงแจ๊สสแตนดาร์ดเลย กดดันให้วงมือใหม่หัดเล่นแจ๊สเครียดหนักขึ้นไปอีก เมื่อต้องมาประเดิมด้วยเพลงแจ๊สร่วมสมัยล้วนๆ อย่าง Broadway Blues (Ornette Coleman), Bright Size Life (Pat Metheny), Recorda-Me (Joe Henderson), Elizete (Clare Fisher), Eiderdown (Steve Swallow), Footprints (Wayne Shorter), Windows (Chick Corea) และ Coral กับ Lucky Southern ของ Keith Jarrett เป็นต้น แต่ก็ได้ประโยชน์มากจากประสบการณ์ในห้องเรียน เพราะเวลาไปฟังตัวจริงอย่าง Mick Goodrick, Jeff Berlin หรือ Mike Stern เล่นในผับ เขาก็เล่นเพลงพวกนี้กัน 

The Real Book ของผม เป็นรุ่นสี่ (4th Edition) เป็นมรดกตกทอดจากคุณยศศิริ เลอลภ เพื่อนจากศิลปากร ยศเป็นมือเบสจบสถาปัตย์ เขาแวะอ้อมไปบอสตัน จอดป้ายที่เบิร์คลีหนึ่งเทอม สนองกิเลสทางดนตรีที่อัดอั้นไว้นาน ก่อนที่จะมุ่งหน้าต่อไปสู่นครนิวยอร์ก เพื่อรายงานตัวเป็นนักศึกษาป.โททางด้านผังเมือง ต่อยอดสายตรง ณ Pratt Institute สถาบันศิลปะอันโด่งดังระดับโลก เพื่อนคนนี้นำร่องให้ผมตามไปเรียนที่เบิร์คลีได้ง่ายและสะดวกขึ้นมากเลย แถมยังได้พักพิงอาศัยในช่วงที่ไปนิวยอร์กอีกหลายปี ผมขอขอบใจยศเพื่อนรักผ่านทางคอลัมน์นี้อีกครั้งหนึ่งครับ

The Real Book เป็นหนังสือเพลงเถื่อนที่ผิดกฏหมาย งานเพลงทั้งหมดเป็นผลงานละเมิดลิขสิทธิ์ เจ้าของเพลงไม่ได้รับส่วนแบ่งจากยอดขายของหนังสือนี้ จึงไม่มีใครกล้าเสนอหน้าออกมาเป็นจำเลยให้โดนจับซะดีๆ มีคนโพสต์ในกระทู้ว่า เขาเคยซื้อ The Real Book โดยตรงจากสตู บอลคอมบ์ ในราคาเล่มละประมาณ 30 35 เหรียญ แต่เจ้าตัวไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้ หรือปริปากบอกใครว่าเป็นผลงานของเขา The Real Book ซึ่งผลิตโดยการถ่ายเอกสารนี้ ไม่มีวางขายบนชั้นหนังสือทั่วไป ส่วนใหญ่จะซื้อกันข้างถนนแถวๆเบิร์คลี  ในช่วงที่ผมเรียนอยู่นั้น มีเพื่อนร่วมชั้นเป็นคนขายอยู่ด้วย จะเห็นเขาตะโกน Real Book , Real Book เรียกลูกค้า อยู่แถวฝั่งตรงข้ามโรงเรียนเป็นประจำ เขาบอกว่าเอาของมาจากนิวยอร์ก บางคนบอกว่าไปซื้อจากร้านหนังสือ Bumble Bee Book Store ใกล้เบิร์คลีก็ได้  ร้านนี้เล็กๆ มีหนังสือดนตรีอัดแน่น ผมชอบแวะไปดูอยู่เรื่อย ได้หนังสือดีๆมาหลายเล่ม ลุงแอโฟรอเมริกันเจ้าของร้านใจดีมาก ถ้าจะซื้อ The Real Book ต้องกระซิบบอกแก แล้วแกถึงจะดึงออกมาจากลิ้นชักข้างโต๊ะให้ลูกค้า   

The Real Book รุ่นแรกๆมีข้อผิดพลาดอยู่ทั่วไป ส่วนใหญ่จะเป็นจำพวกทางคอร์ด และได้มีการแก้ไขความผิดพลาด ในใบแทรกที่เพิ่มเติมมาตั้งแต่ 5th Edition เป็นต้นมา The Real Book ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากจนมีสำนักพิมพ์ดนตรีจัดทำ The Real Book ที่ถูกกฏหมายออกมาอีกหลายเวอร์ชัน แต่นักดนตรีรุ่นเก่าจะผูกพันกับ The Real Book รุ่นพิมพ์เถื่อนที่คุ้นเคยมานานปี มากกว่ารุ่นพิมพ์ใหม่ที่ถูกต้องทั้งในเนื้อหาสาระและกฏหมาย 




The Real Book เป็นนวัตกรรมอันยิ่งใหญ่สำหรับวงการเพลงแจ๊ส แต่น่าเสียดายที่เจ้าของผลงานชิ้นนี้ไม่สามารถแอ่นอกออกมารับเครดิตโดยตรงได้

 

  (ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 156 พฤศจิกายน 2011)