Sunday, June 21, 2009

Chromatic Scale

โครแมติกสเกล

ในดนตรีตะวันตกของฝรั่ง โดยหลักๆแล้ว จะประกอบขึ้นมาด้วยเสียงต่างๆทั้งหมด 12 เสียง ไม่เกินกว่านั้น ถ้าเราเอาเสียงทั้ง 12 เสียงที่มีอยู่ มาเรียงไล่ตามลำดับสูงต่ำ ช่วงห่างของแต่ละเสียงนั้นจะมีระยะห่างกันเท่ากับครึ่งขั้นเสียงโดยตลอด ซึ่งนั่นก็คือ โครแมติกสเกล (Chromatic Scale) เราสามารถสร้างสเกลทุกสเกลของดนตรีตะวันตก โดยอาศัยความรู้จากโครแมติกสเกล เพราะในแต่ละช่วงลำดับขั้นของเหล่าสเกลทั้งหลายนั้น นำมาซอยแบ่งออกเป็นจำนวนของครึ่งขั้นเสียงได้ทั้งหมด ดังนั้น การนับจำนวนของครึ่งขั้นเสียง จะมีให้เห็นเป็นหนึ่งในสูตรทางเลือกของการสร้างสเกลเสมอ






โครแมติกสเกล เห็นได้ชัดมากบนแป้นคีย์ของเปียโนหรือคีย์บอร์ด ซึ่งไล่เสียงโน้ต ไปตามลำดับครึ่งขั้นเสียง คือ กดไล่ลงไปบนทุกคีย์ขาวและดำที่เรียงตามลำดับ ไม่มีเว้น หรือข้ามไป โน้ตธรรมดา(เนเจอรัล) จะเป็นตัวคีย์ขาว และโน้ตที่ติดชาร์ป หรือแฟล็ต ก็จะเป็นตัวคีย์ดำที่คั่นอยู่

สำหรับกีตาร์ ในแต่ละช่อง แต่ละเฟร็ตที่อยู่ติดกัน จะมีระยะห่างของเสียงเป็นครึ่งขั้นเสียงเสมอ เราสามารถไล่เสียงโครแมติกสเกลกับกีตาร์ ด้วยการดีดอย่างต่อเนื่องตามลำดับทีละช่อง บางคนอาจจะโชคดี ได้รับการปลูกฝังให้ฝึกโครแมติกสเกลโดยไม่รู้ตัว ตั้งแต่เริ่มหัดเล่นกีตาร์ใหม่ๆ เพราะเป็นแบบฝึกหัดที่ดีมากในการช่วยให้นิ้วมือซ้ายได้ออกแรงกด ให้แต่ละนิ้วมีกำลังแข็งแรงโดยถ้วนหน้าทั้งสี่นิ้ว


.

Wednesday, June 17, 2009

By Heart


กระบวนการพัฒนาระดับการรับฟังให้หูของเรารับรู้ และจดจำความสัมพันธ์ของเสียงต่างๆ จนสามารถแยกแยะวิเคราะห์ การผสมผสานของสีสันแห่งเส้นเสียง ที่นำมาปรุงแต่งให้เป็นเสียงดนตรีที่ไพเราะนั้น เป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาในการฝึกฝนต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอนานนับปี แต่อัตราความก้าวหน้าจะเป็นไปอย่างช้าๆ ค่อยๆสะสมเพิ่มพูนไปทีละเล็กทีละน้อย จนเป็นเหตุให้น่าท้อใจได้สูง แต่ถ้าเราจะละเว้นไม่พัฒนาโสต เราก็จะไม่มีทางก้าวขึ้นไปสู่สังคีตศาตร์ระดับสูงได้เลย

มีนักดนตรี นักร้องจำนวนมากในบ้านเรา ที่ประกอบอาชีพทำมาหากินหารายได้เลี้ยงชีพอยู่กับเสียงเพลงเป็นเวลานานนับสิบปี แต่ไม่เคยคิดจะใช้ความพยายามเปิดกระโหลก บันทึกยัดเพลงที่เล่นอยู่แทบทุกวันเข้าไปในหัวเลย เวลาจะเล่นหรือร้องเพลงเหล่านั้นทีใด ก็เป็นต้องเปิดโน้ตเปิดเนื้อร้องดูกันทุกครั้งไป อันนี้เป็นภาพวงบนเวทีที่ดูไม่ดี และดูไม่เป็นมืออาชีพเลย ถ้าผมเป็นผู้พิจารณารับวงดนตรีเข้าทำงานที่ไหนสักแห่ง เกิดไปเจอวงที่มาสมัครเล่นเสนอตัว(Audition) ให้พิจารณาฝีมือ โดยเวลาที่เล่นยังต้องกางโน้ตเปิดดูเนื้อร้องกันทุกเพลง ผมจะไม่มีวันรับวงประเภทนี้เข้าทำงานอย่างเด็ดขาด เพราะถือว่านักดนตรีเหล่านั้น ยังขาดความพร้อมที่จะทำงานในระดับอาชีพ

นักดนตรีสมัยเก่าที่เล่นโน้ตได้ มักจะดูถูกพวกที่อ่านโน้ตไม่ออกว่า เป็นพวกนักดนตรีเล่นแบบ By Heart คือ เล่นโดยอาศัยความจำลูกเดียว เพราะเอาโน้ตมากางให้ดู ก็อ่านไม่ออก แต่ที่จริงแล้ว นั่นคือการเล่นดนตรีที่ถูกต้องที่สุด คือ ต้องจำเพลงให้ได้ ไม่ว่าคุณจะอ่านโน้ตออกหรือไม่ออก หรือจะเล่นดนตรีประเภทไหนก็ตาม

สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของคนเล่นดนตรี คือ คุณจะต้องจำเพลงที่เล่นให้ได้

ที่คณะ Contemporary Music (อดีตคณะ Third Stream) แห่งสถาบัน New England Conservatory Of Music ซึ่งศาสตราจารย์ Ran Blake เป็นคณบดีอยู่นั้น ท่านจะเคร่งครัดในเรื่องนี้มาก ถือเป็นกฎเหล็กระจำสำนักเลยว่า เวลาที่ปรากฎตัวแสดงดนตรีบนเวทีต่อสาธารณชน จะต้องไม่มีกระดาษโน้ตอยู่ตรงหน้าเป็นอันขาด นักดนตรีเมื่อมาถึงขั้นตอนที่จะขึ้นไปอวดความสามารถ ควรผ่านการฝึกปรือในบทเพลงเหล่านั้นมามากพอจนคล่องแคล่วไม่ติดขัด และจำขึ้นใจ ไม่มีลืม

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ Mauricio นักเปียโนและแอคคอร์เดียนจากสเปน รูมเมทของผม นักศึกษาปีหนึ่งคณะ Third Stream ที่ผมเรียกเขาว่า “เจ้าเมา” ตัดสั้นๆจากชื่อเต็ม เมาริซิโอ ซึ่งเจ้าตัวก็ถูกใจมาก เมื่อรู้ความหมายในภาษาไทย เจ้าเมาของเราไปช่วยเพื่อนต่างคณะ เล่นออกงานคอนเสิร์ตที่หอดนตรีของสถาบัน ซึ่งบังเอิญอาจารย์แรน ได้ไปร่วมดูอยู่ด้วย พอวันรุ่งขึ้น บุรุษไปรษณีย์มาเคาะประตูปลุก ให้เซ็นรับโทรเลขถึงเขาตั้งแต่เช้าเลย เจ้าเมานึกว่าเป็นเรื่องด่วนจากทางบ้าน แต่พอเปิดอ่านข้อความดูแล้ว รูปร่างที่ล่ำสันสูงใหญ่ของเขาถึงกับเข่าอ่อนทรุดลงกองบนพื้น ยกมือขึ้นปิดหน้าร้องไห้โฮดังๆ ออกมาอย่างไม่อาย ไม่ยั้งเสียง แล้วเขาบอกผมว่า จะเตรียมจัดกระเป๋ากลับบาร์เซโลนา ไม่อยู่เรียนแล้ว ผมก็คิดว่าเขาคงเสียใจเพราะญาติเสีย แต่เมื่อได้อ่านข้อความสั้นๆในโทรเลข จึงได้รู้ว่า เจ้าสำนักส่งสารมาตำหนิ โทษฐานที่ดันไปเปิดดูโน้ตเวลาแสดงคอนเสิร์ตเมื่อคืนที่ผ่านมานั่นเอง

ใครที่ไม่อยากดูไม่ดีบนเวที ก็ต้องรีบจำเพลงให้ได้เยอะๆ แล้วจะรู้ว่า มันดียังไง



(ปรับปรุงจากตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 76 พฤศจิกายน 2004)

Saturday, June 13, 2009

Bill Frisell, Ron Carter, Paul Motian



บทวิจารณ์อัลบั้มนี้ เป็นต้นฉบับสำหรับนิตยสาร “JazzLife” ฉบับแรก (Vol.1) ซึ่งผมได้เขียนส่งควบไปกับเรื่อง “Jazz Goes Country” โดยที่บรรณาธิการ “อนันต์ ลือประดิษฐ์” เปิดโอกาสให้เขียนแนะนำอัลบั้มสั้นๆ อีกต่างหาก แต่คงมีปัญหาเรื่องเนื้อที่ตอนที่สรุปจะพิมพ์เล่ม เลยไม่มีคอลัมน์วิจารณ์ซีดีตามแผนเดิม ผมเลยขอถือโอกาสนำมาเผยแพร่ครั้งแรกในบล็อกนี้ ให้เป็นโบนัสแถมสำหรับคนที่สนับสนุนนิตยสาร “JazzLife” และสำหรับคนที่ได้แต่โบนัสแถมไปอย่างเดียว ก็ขอให้ช่วยไปหาซื้อหนังสือดี “JazzLife” มาอ่านด้วยครับ



Album: Bill Frisell, Ron Carter, Paul Motian
Artist: Bill Frisell/Ron Carter/Paul Motian
Personnel: Bill Frisell: guitar; Ron Carter: bass; Paul Motian: drums.
Release Date: Sep 12, 2006
Recording Date: Feb 14, 2005-Feb 15, 2005
Label: Nonesuch 79897
Tracks: Eighty-One; You Are My Sunshine; Worse and Worse; Raise Four; Pretty Polly; On the Street Where You Live; Monroe; Introduction; Misterioso; I'm So Lonesome, I Could Cry.

อัลบั้มชุดนี้เป็นการรวมตัวของ 3 ศิลปินใหญ่ ซึ่งมี
บิล ฟริเซล (Bill Frisell) เป็นแม่งาน ตัวของฟริเซลมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับพอล โมเชียน (Paul Motian) มือกลองผู้ยื่นโอกาสให้เขาตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักกีตาร์นิรนามในช่วงทศวรรษแปดสิบ ทั้งสองยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาตลอดจนถึงปัจจุบัน แม้บิลจะไต่เต้าขึ้นมายืนอยู่แถวหน้าของวงการแล้วก็ตาม รอน คาร์เตอร์ (Ron Carter) ผู้เป็นเอตทัคคะในทางเบสเคยเล่นกับฟริเซลบ้าง แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ทั้งสามคนมารวมกลุ่มบรรเลงด้วยกันในสตูดิโอ บันทึกเสียงไปด้วย โดยไม่มีการซ้อมล่วงหน้ามาก่อน ได้ผลลัพธ์ที่ออกมาเหมือนกับว่ารอน คาร์เตอร์เป็นสมาชิกวงมานานนับสิบปี พวกเขารู้ทาง รู้ใจกันจนเป็นหนึ่งเดียว ได้ฟังผลงานของธีโลเนียส มั้งค์ (Thelonious Monk) เพลง “Misterioso” และ “Raise Four “ หรือ “I'm So Lonesome, I Could Cry “ ของแฮงก์ วิลเลียม (Hank Williams) แล้ว ไม่อยากจะเชื่อเลยว่า พวกเขาไม่เคยเล่นกันเป็นทีมมาก่อน

นี่คือ การนำเสนอศิลปะแห่งการด้นในระดับสูงสุด จากศิลปินผู้บรรลุในศาสตร์

ตัวของฟริเซลเองทุ่มเทอย่างเพลิดเพลินให้กับดนตรีคันทรีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จนเสียงเหน่อของแนวนี้หล่อหลอมเข้าเป็นเนื้อเดียวกับส่วนอื่นที่เป็นลายเซ็นมาก่อนของเขา ตอนนี้ไม่ว่าเขาจะเล่นอะไร ความเป็นบิล ฟริเซลที่ใส่หมวกโคบาลก็จะฉายออกมาด้วย ในอัลบั้มนี้ถ้าดูตามที่มาของเพลงอาจจะมีเพลงลูกทุ่งเพียง 3 เพลง แต่ความเป็นคันทรีนั้นฟุ้งกระจายไปทั่วครับ

นี่คือ Album Of The Year (2006) ของผม ฟังแล้ว”ได้แรง” หรอยจริงๆ


Monday, June 8, 2009

ทำไมต้องเมเจอร์สเกล?


ความรอบรู้อย่างทะลุปรุโปร่งในเมเจอร์สเกล จะช่วยให้การศึกษาทฤษฎีดนตรีดำเนินไปได้อย่างราบรื่นตลอดรอดฝั่ง ไม่สะดุดติดขัด เป็นคุณสมบัติติดตัวที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับนักดนตรีสากลทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในแขนงใด

คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่า เรื่องของเมเจอร์สเกลมันพื้นฐานเบื้องต้นมาก ทำไมจะต้องมาว่ากันซ้ำซากอีก ตีพิมพ์ให้เปลืองหน้ากระดาษโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งผมเห็นด้วย 100 % ถ้าคุณรู้ซึ้งถ่องแท้ในระดับความคล่องที่ผมพูดถึง คือ ต้องสามารถตอบสวนกลับมาได้ทันทีอย่างถูกต้องโดยไม่ต้องหยุดคิด เมื่อถูกถามถึงลำดับขั้นใดๆก็ตามของเมเจอร์สเกล ไม่ว่าจะเป็นคีย์อะไร ใครที่ทำได้ในระดับนี้แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะอ่านบทความฉบับนี้อีกต่อไป ข้ามไปได้เลย

ใครที่ยังไม่คล่องก็ต้องฝ่าด่านนี้ไปให้ได้ ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องยากอะไร เพราะถ้ายังได้แบบไม่คล่องจริงๆ ก็จะมีปัญหาในบทต่อๆไปอย่างแน่นอน

เสียงดนตรีฝรั่งหรือตะวันตกที่เราคุ้นเคยรู้จักกันดีทั่วไปนั้น มีอยู่ทั้งหมด 12 เสียง ซึ่งเรานำมาสร้างเป็นเมเจอร์สเกลได้ 12 คีย์ ในแต่ละคีย์มี 7 เสียง ดังนั้น 12x7 = 84 เรามีการบ้านที่จะต้องท่องจำเพียงแค่ 84 ตัว ซึ่งน้อยกว่าตอนเด็กๆ ที่ต้องโดนท่องสูตรคูณเสียอีก

ในขั้นตอนส่วนนี้ของการเรียนรู้ ขอย้ำว่า ต้องท่องให้จำขึ้นใจลูกเดียว ไม่ต้องคิด การคิดหาผลลัพธ์นั้นจะช้าเกินไป ไม่ทันการเท่ากับการท่องจำ ชีวิตจะง่ายและสบายขึ้นเยอะ ถ้ากำราบให้เจ้าตัวโน้ตทั้ง 84 ตัว เชื่องอยู่ในโอวาท เรียกใช้ตอนไหน รีบมาทันใด ดูๆแล้ว มันเหมือนง่าย แต่ทำไมยังมีนักดนตรีจำนวนมากทำกันไม่ได้ก็ไม่รู้ เคยได้คำตอบว่า สาเหตุของการไม่ได้ให้ความสำคัญ คงเป็นเพราะไม่ได้เห็นถึงประโยชน์ของมัน ซึ่งก็จะเป็นสิ่งที่แปลกมากอีกนั่นแหละ ผมนึกไม่ออกเลยว่า คนที่เรียนเกี่ยวกับดนตรี แล้วไม่เกี่ยวข้องกับเมเจอร์สเกลได้อย่างไร?

สำหรับผมแล้ว ถือว่าความรู้ในเมเจอร์สเกล คือ พื้นฐานสำคัญที่สุดในการศึกษาดนตรี ตราบใดที่คุณยังเกี่ยวข้องกับดนตรีตะวันตกอยู่ คุณจะไม่มีทางหลุดพ้นจากเมเจอร์สเกลได้เลย เมเจอร์สเกลจะเป็นสเกลหลักที่จะใช้อ้างอิงในการศึกษาทฤษฎีดนตรีไปตลอด ตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับสูง ดังนั้น ความรู้ซึ้งในเมเจอร์สเกลอย่างถ่องแท้ จะเป็นประตูเปิดไปสู่ศาสตร์แห่งดนตรี ให้ดำเนินไปอย่างราบรื่นไม่ติดขัด

ก็ขอย้ำคำตอบอีกครั้ง ถึงคุณสมบัติของผู้ที่มาสมัครเรียนทฤษฎีแจ๊สกับผมว่า อ่านโน้ตคล่อง, ไม่คล่องหรือไม่กระดิก ไม่สำคัญเท่ากับต้องคล่องในทุกลำดับขั้นของทุกคีย์แห่งเมเจอร์สเกล ถ้าตอบได้ไม่ตะกุกตะกักว่า ลำดับที่สามของคีย์ E major คือโน้ตอะไร? หรือลำดับที่หกของคีย์ Ab major คือโน้ตอะไร?

แล้วเราจึงจะมาลุยแจ๊สกัน


(ปรับปรุงจากตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 93 เมษายน 2006)




Saturday, June 6, 2009

Montana State University Symphony Orchestra



ด่วนที่สุด!!!! สำหรับคนอยู่แถวภูเก็ต ไม่ควรพลาดโอกาสนี้

ของดี! ของฟรี! หอบหิ้วกันมาจากอเมริกาหลายสิบชีวิต

******มีเวอร์กชอบสำหรับนักดนตรีด้วย ในวันอาทิตย์เช้า