Saturday, September 8, 2012

My Way


ส่งท้ายปีเก่าไปกับเพลง What A Wonderful World เมื่อครั้งที่แล้ว และในปีใหม่นี้ก็ขอให้ทุกท่านยังคงความสดใส มีความสุขกับมุมมองในแง่ดี แง่บวก ตลอดไปนะครับ

เริ่มต้นปีใหม่ 2011 นี้ ผมจะพาไปเจาะลึกกับเพลง My Way ที่คนรุ่นอาวุโสส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกันดี อีกทั้งยังเป็นเพลงเก่งของโกเหลียง ธีระ เคียนโพธิ์ธีระมาตร์ ผู้เป็นเพื่อนรักหล่าวเพ็งอิ้ว (เพื่อนเก่าแก่) ของผม ตั้งแต่สมัยรุ่นฟลายเวตด้วยกัน จนตอนนี้เขาทำน้ำหนักแซงหน้าข้ามไปหลายรุ่น ขึ้นเทียบรุ่นกับโมฮัมเหม็ด อาลีในพิกัดเฮฟวีเวตเรียบร้อยไปแล้ว นอกจากจะเป่าแซ็กโซโฟน และคลาริเน็ตเก่งแล้ว โกเหลียงยังร้องเพลงได้ไพเราะ น่าฟัง ด้วยเสียงทุ้มใหญ่ หนักแน่น ที่เต็มไปด้วยพลัง เข้าถึงอารมณ์เพลง และยังมีจุดเด่นในตัวที่เพิ่มขึ้นมาตามวัย ไม่นับรวมไขมันส่วนเกินที่เป็นแขกไม่ได้รับเชิญแล้ว โกเหลียงยังได้พัฒนาทักษะด้านการเอ็นเตอร์เทน ในเชิงพูดคุย หยอกล้อ สร้างบรรยากาศเป็นกันเองกับคนดู ได้น่าประทับใจมาก


เริ่มกันที่คนแต่งเพลงนี้ พอล แองก้า (Paul Anka) ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเพลง My Way เป็นชาวแคนาดา เชื้อสายเลบานอน เขาเริ่มดังเป็นขวัญใจวัยรุ่นตั้งแต่อายุ 15 ปี ด้วยเพลง Diana ในปี 1957 แล้วตามมาด้วย You Are My Destiny, Lonely Boy, Put Your Head on My Shoulder, Puppy Love และอีกหลายเพลง ซึ่งวัยรุ่นยุคซิกตี้อย่างโกเหลียงและผม จะร้องกันได้ทุกเพลง แล้วแองก้ายังโชว์กึ๋นด้านการแต่งเพลง ผลงานเพลงเปิดรายการทีวี The Tonight Show ซึ่งดำเนินรายการโดย Johnny Carson ได้เอาไปใช้งานคุ้มมาก ทำสถิติเป็นเพลงที่เล่นออกโทรทัศน์มากที่สุด ถึง 1,400,000 ครั้ง ในช่วงเวลา 30 ปี นับตั้งแต่ปี 1962 และเขายังแต่งเพลง She's a Lady ให้เป็นเพลงสุดฮิตของทอม โจน (Tom Jones) นักร้องขวัญใจแม่ยก ก่อนที่จะมาสร้างตำนานเพลง My Way ให้เป็นเพลงลายเซ็นของแฟรงก์ สินาตรา

ในช่วงกลางทศวรรษหกสิบกระแสดนตรีอังกฤษ นำโดยวงบีเติ้ลมาแรงมาก จนเบียดพวกเขาให้ตกยุคไป แองก้าเลี่ยงไปทำมาหากิน ร้องเพลงในบ่อนคาสิโน ปักหลักอยู่แถวลาส เวกัส นานพอสมควร ถือภาษิตรอสิบปีก็ยังไม่สาย เมื่อสบโอกาสก็ฟื้นชีพ เหมือนแมวเก้าชีวิต ดอน สอนระเบียบ กลับขึ้นแท่นท็อปฮิตอันดับหนึ่งในปี 1974 ด้วยเพลง (You're) Having My Baby แล้วตามซ้ำอย่างต่อเนื่องด้วย One Man Woman/One Woman Man, I Don't Like to Sleep Alone และ Times of Your Life ให้เป็นตัวเชียร์แขกอย่างดี สำหรับคอนเสิร์ตในช่วงระยะหลังที่เขาตะเวนแสดงไปทั่วโลก รวมทั้งบ้านเราด้วย อาจจะมีใครบางคนโชคดี ได้ไปสัมผัสศิลปินรุ่นใหญ่คนนี้อย่างใกล้ชิด ในคอนเสิร์ต “พอล แองก้า คลาสสิค โมเม้นท์ส ไลฟ์ อิน แบ็งคอค 2010” เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาแล้วก็ได้

ต้นกำเนิดของ My Way มาจากเพลงฝรั่งเศส Comme d’Habitude ผลงานร่วมของนักร้อง Claude Francois และนักแต่งเพลง Jacques Reveaux ถอดความหมายเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า As Usual ซึ่งถ้าแปลเป็นภาษาไทยคงประมาณว่า “เหมือนอย่างเคย” เนื้อหาของเพลงนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักที่ใกล้จะถึงจุดจบ ซึ่งเป็นคนละเรื่อง (ทำนอง) เดียวกันกับเพลง My Way เลยทีเดียว เพลงนี้ฮิตติดอันดับหนึ่ง ในปี 1967 และคงจะยังเป็นช่วงที่เพลงยังออนแอร์ติดลมบนอยู่ เมื่อพอล แองก้าได้ฟังผ่านหูที่ริเวียรา ช่วงระหว่างไปพักผ่อนที่นั่น ตอนปี 1967 ซึ่งเขาคิดว่ามันเป็นเพลงที่ไม่ค่อยจะได้เรื่องสักเท่าไหร่ แต่มีอะไรบางอย่างที่น่าสนใจแอบแฝงอยู่ในนั้น พอคิดได้อย่างนั้นแล้ว ก็ไม่รอช้า รีบจัดการติดต่อไปยังเจ้าของเพลง เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ ซึ่งคนแต่งเพลงใจดี ยกให้เขาฟรีๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น แองก้าพกเพลงนี้กลับนิวยอร์ก ทิ้งลืมไว้ในลิ้นชัก โดยไม่ได้คิดทำอะไรกับมันเลย จนกระทั่งเกือบสองปีผ่านไป เมื่อเขาได้รับโทรศัพท์จากลูกพี่ใหญ่ แฟรงก์ สินาตรา นักร้องนักเลงผู้มักจะมีข่าวพัวพันกับบรรดามาเฟีย สั่งให้เขาไปทานอาหารด้วยกันที่ฟลอริดา แองก้าไม่รอช้า ไม่ลืมที่จะพกพาสปอร์ตไปด้วย กันเหนียวเผื่อลูกพี่ลากยาว อาจจะไปลงเอยที่ไหนในโลก ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ระหว่างที่กินไปคุยไปกับสินาตรา ซึ่งมีสองเจ้าพ่อมาร่วมโต๊ะด้วย สินาตราระเบิดอารมณ์ออกมา

“อั๊วจะเลิกราจากวงการแล้วโว้ย โคตรเซ็งเลยว่ะ ออกไปจากแม่งเลย”

แล้วหันมาทางแองก้า

“ลื้อจะต้องแต่งเพลงให้อั๊ว ลื้อรับปากมาเป็นปีๆแล้ว ว่าจะแต่งเพลงให้อั๊ว”

แล้วแองก้าก็นึกถึงทำนองเพลงนี้ขึ้นมาทันที บวกกับคำประกาศเกษียณตัวเองของสินาตราที่ยังก้องหูอยู่ เป็นตัวจุดประกาย พอกลับไปนิวยอร์ก เขาดึงโน้ตเพลงนี้ออกมาจากลิ้นชัก เล่นมันกับเปียโน ปรับเปลี่ยนทำนองเล็กน้อย ตอนตีหนึ่งของคืนนั้น แองก้านั่งอยู่หน้าเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า เริ่มเขียนเพลง โดยจินตนาการเสมือนว่าตัวเขาเป็นสินาตราที่กำลังแต่งเพลงนี้อยู่ ย้อนมองถึงชีวิตที่ผ่านมาของลูกผู้ชายคนหนึ่ง สอดแทรกสำนวนภาษานักเลงที่ไม่เคยใช้มาก่อน ให้ได้ความสมจริงสมจังกับบุคลิกภาพของแฟรงก์ พอแต่งเสร็จตอนตีห้า เขาก็รีบโทรไปบอกสินาตรา ถึงเพลงพิเศษสำหรับอัลบั้มส่งท้ายของศิลปินใหญ่ ในชีวิตของคนทำเพลงฮิตมากมาย เป็นครั้งนี้ครั้งเดียวที่แองก้ารู้สึกมั่นใจเต็มร้อย ว่าเพลงนี้ต้องดังแน่นอน เขาบินไปลาส เวกัส ร้องให้สินาตราฟัง ลูกพี่ฟังแล้วขยิบตาให้ครั้งหนึ่ง เป็นที่รู้กัน

“สินาตรา เพิ่งจะทำใจยอมรับได้ ว่าเขาต้องร้องเพลงพ็อพ ที่ตัวเองเกลียด เขายึดเคร่งอยู่กับเพลงสแตนดาร์ด เขาเกลียดเอลวิส และที่ชอบผมเพราะ ผมทำเงินให้พวกเจ้าพ่อในเวกัส”

อีกสองเดือนต่อมา แองก้าก็ได้ฟังสินาตราร้องเพลงของเขาเป็นครั้งแรก ผ่านทางโทรศัพท์ที่สินาตราจ่อหูให้ฟัง นักร้องใหญ่ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงกับการบันทึกเสียง My Way ในวันที่ 30 ธันวาคม 1968 และผลิตออกมาเป็นแผ่นเสียงหลังจากนั้นไม่นาน ตอนต้นปี 1969 แต่เพลงนี้ไม่ประสบความสำเร็จในทันทีอย่างที่คาดหวัง และสินาตราก็ได้อำลาจากวงการบันเทิงอย่างที่เขาเคยบอกไว้ แต่เป็นเพียงช่วงสั้นๆ ในปี 1971 แม้ My Way จะติดชาร์ตแค่อันดับ 27 ในอเมริกาและใต่ขึ้นสูงสุดอันดับ 5 ในอังกฤษ แต่ทำสถิติอยู่ในท็อป 40 นานถึง 75 อาทิตย์ My Wayเป็นเพลงที่ไม่หวือหวา ประเภทมาเร็ว ไปเร็ว แต่เป็นเพลงที่มาแล้ว อยู่นาน นานมากว่า 40 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีทีท่าว่าความนิยมจะเสื่อมคลายลดลงเลย







พอล แองก้าโดนค่ายเพลงต้นสังกัดของเขาต่อว่าอย่างสาดเสียเทเสีย ที่ปล่อยเพลงเด็ดให้สินาตราไป เขาก็สวนกลับไปว่า เขาแต่งได้ แต่ไม่ใช่สำหรับร้องเอง เป็นเพลงเฉพาะสำหรับแฟรงก์เท่านั้น ไม่มีใครอื่น แต่ก็ไม่มีใครเชื่อ มีศิลปินนับร้อยทั้งหญิงชาย เอาไปทำซ้ำกันมากมาย รวมทั้งตัวคนแต่งเองด้วย ตั้งแต่เวอร์ชันต้นแบบเพิ่งออกมาไม่นาน เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยส่วนตัวแล้ว แองก้าชอบเวอร์ชันของ Nina Simone, Shirley Bassey และวง The Gypsy Kings ซึ่งร้องเป็นภาษาสเปน





แองก้าเคยติงเอลวิส เพรสลีย์ ว่าเพลงนี้ไม่เข้าทางของราชาร็อก แต่เอลวิสกลับชอบ My Way มาก เกินกว่าที่จะหักห้ามใจ ปล่อยผ่านไป ใครจะท้วงติงอย่างไรก็ไม่ฟังเสียง เอาไปร้องออกคอนเสิร์ต และออกรายการโทรทัศน์ถ่ายทอดสดทั่วโลกครั้งประวัติศาสตร์ Aloha from Hawaii ช่วงหลังปีใหม่ของปี 1973 ให้คนร่วมพันล้านคนได้ดูการแสดงพร้อมกัน แผ่นซิงเกิ้ลเพลง My Way บันทึกจากการร้องแสดงสดของเอลวิส ออกวางจำหน่ายตอนปลายปี 1977 หลังจากที่เขาเสียชีวิตไปหลายอาทิตย์ ขายดีมากเกิน 5 แสนแผ่น จนได้รับแผ่นเสียงทองคำ เป็นเวอร์ชันที่ดังระดับน้องๆของสินาตรา





และถ้าอยากฟังเวอร์ชันที่แปลก แหวกแนว ประเภทฮาร์ดคอร์ของ My Way ก็นี่เลย เวอร์ชันแบบพังก์ร็อกของวง Sex Pistols ร้องโดยมือเบส Sid Vicious ซึ่งมั่วแต่งเนื้อเพลงเองเสริมไปหลายท่อน เพราะเขาจำเนื้อเพลงจริงได้ไม่หมด





ด้วยเนื้อหาของเนื้อเพลง ที่โดนใจคนฟัง ทำให้ใครๆก็ทึกทัก ยึดเข้าเป็นของตัว ส่งผลให้ My Way กลายเป็นเพลงยอดนิยมอันดับหนึ่ง สำหรับส่งวิญญาณไปสู่ปรโลกในพิธีฝังศพที่อังกฤษ และยังได้กลายเป็นเพลงยอดฮิตสำหรับงานเลี้ยงประเภทเกษียณ, งานเลี้ยงอำลา และฯลฯ อีกทั้งยังเป็นเพลงที่ขาดไม่ได้สำหรับสถานคาราโอเกะ โดยเฉพาะในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่ง My Way ได้กลายเป็นสาเหตุของการทะเลาะวิวาท จนถึงขั้นก่อคดีฆ่ากันตายไปหลายศพ ในต่างวาระกัน ผมคาดเดาว่า เวลาที่คนร้องเพลงนี้ คงจะเป็นอารมณ์แบบเดียวกับเพลง “เย้ยฟ้า ท้าดิน” ที่พอร้องแล้วของขึ้น สร้างความฮึกเหิมให้กับคนที่ร้อง ทำให้เกิดอาการเขม่นจากแขกคนอื่น กลายเป็นโศกนาฏกรรมขึ้นมา จนถึงกับโดนแบนกลายเป็นเพลงต้องห้าม ที่ถูกถอดออกจากรายการ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องน่าเศร้าซ้ำขึ้นมาอีก





ในขณะที่ My Way เป็นเพลงโปรดของแฟนเพลง แต่พวกเขาหารู้ไม่ว่า มันเป็นเพลงเกลียดของสินาตรา ศิลปินผู้ทำให้เพลงนี้ดัง ต้องจำใจร้องเอาใจแฟนเพลงมาตลอดในช่วงบั้นปลาย ที่เพลงนี้ช่วยให้เขากลับมาดังอีกครั้งหนึ่ง ยิ่งรับงานมาก ก็ต้องร้องเพลงบังคับที่ตีแผ่ความเป็นแฟรงก์ สินาตรานี้ทุกครั้ง จนกลายเป็นภาระที่สร้างความเอือมระอามากขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างแสดงคอนเสิร์ตที่อัลเบิร์ตฮอล เมื่อปี 1984 ช่วงที่คนดูปรบมืออย่างกึกก้องหลังเพลงจบ สินาตราถึงกับบ่นพึมพำ เสียงหลุดลอดออกลำโพงให้ได้ยินว่า

“กูละเบื่อเพลงนี้โคตรๆ”

แผ่นหินที่หลุมศพของแฟรงก์ สินาตรา ซึ่งเสียชีวิตในปี 1998 ไม่ได้สลักคำว่า My Way เหมือนกับแผ่นหินของแฟนเพลงนับล้านคนที่ปลื้มกับเพลงนี้ แต่กลับเป็นเพลงฮิตรุ่นเก่าของเขา

The Best Is Yet To Come





(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Phuket Bulletin ฉบับที่ 104 มกราคม 2011)