Monday, December 6, 2010

อินเตอร์วัล (Intervals) (8)



คอลัมน์นี้คงต้องติดพันกับเรื่องวิชาการทางทฤษฏีดนตรีไปอีกสักระยะหนึ่ง ใครที่สนใจงานเขียนด้านอื่นของผม (ขออนุญาตประชาสัมพันธ์) ให้ไปติดตามได้ที่นิตยสาร KOOL JAZZ และ JAZZ LIFE หรือเข้าเว็บ TK Park ก็ได้ครับ


รื่องอินเตอร์วัล ผมกะว่า อย่างมากเขียนสัก 3 ครั้งก็คงจบแล้ว แต่พอมาเกี่ยวพันถึงภาคปฏิบัติด้วย เลยต้องขยายความออกไปอีกหลายครั้ง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผมเชื่อว่า คงยังมีอีกหลายคน ที่หน้าผากยังผูกโบว์ คาด้วยคำถามมากมายที่ต้องการคำตอบที่ชัดเจนกว่านั้น แต่บางคำตอบนั้น ต้องเค้นเอาออกจากข้างในตัวเราเองเท่านั้น หาจากภายนอก หรือให้คนบอกไม่ได้

เราได้เรียนรู้เรื่องของอินเตอร์วัลในภาคทฤษฎีและปฏิบัติจบสมบูรณ์ไปเรียบร้อยแล้ว คราวนี้มาวัดผลดูกันว่า ความรู้ซึ้งอย่างถ่องแท้ของอินเตอร์วัลนั้น จะต้องอยู่ในระดับไหน? จึงจะถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

ดังที่จะได้ลำดับต่อไปนี้

1) จะต้องสามารถสะกด(สร้าง)อินเตอร์วัลได้โดยไม่จำกัดคีย์ นั่นคือ เราจะสร้างอินเตอร์วัลใดๆ จากตัวโน้ตใดๆ ก็ทำได้หมดในทุกคีย์ ไม่ว่าจะเริ่มจากโน้ตตัวไหนใน 12 เสียงดนตรี นึกอยากจะสร้างอินเตอร์วัลคู่ไหนก็บอกได้หมดทันที ไม่มีเงอะงะ ติดขัด ต้องมาไล่นับนิ้วหรือกดนิ้ว เคาะนิ้ว กับคอกีตาร์หรือแป้นคีย์บอร์ดในจินตนาการ เช่น ต้องการสร้างอินเตอร์วัลไมเนอร์หกจากโน้ต Db หรือ จะสะกดอินเตอร์วัลเมเจอร์สามจากโน้ต B ก็ทำได้เลยทันที เป็นต้น

อย่างที่เคยบอกมาตั้งแต่แรก ในเรื่องเมเจอร์สเกลนะครับ ว่าถ้าเราคล่องในทุกลำดับขั้นของเมเจอร์สเกลแล้ว ศึกษามาถึงตอนนี้ก็จะไม่มีปัญหาเลย แต่ถ้ายังไม่คล่อง ก็จะเริ่มมีปัญหา ขาดความมั่นใจ และชักจะไม่สนุกแล้ว วิธีแก้ทางเดียว คือ ย้อนกลับไปท่อง ทวนเมเจอร์สเกลให้ขึ้นใจ แล้วค่อยไล่ทบทวนมาใหม่ ถ้ายังจะขืนดันทุรังต่อไป ต้องจอดป้ายอย่างแน่นอน ไปไม่รอดครับ!

2) จะต้องสามารถชี้บอกอินเตอร์วัลได้ เมื่อสัมผัสจากการได้ยิน และได้เห็น อันนี้หมายถึง เมื่อเราได้ยินเสียงเพลง ก็จะรับรู้และบอกได้ว่า เสียงที่ผ่านเข้ามาสัมผัสโสตประสาทหูนั้นในแต่ละช่วง มีความสัมพันธ์กันเป็นอินเตอร์วัลอะไรบ้าง เรียกว่าใช้หูแกะเพลงโดยไม่ต้องอาศัยเครื่องดนตรีได้เลย หรือถ้าต้องการรู้ว่าเป็นคีย์อะไร ก็ใช้เสียงเทียบอ้างอิงเพียงเสียงเดียวก็พอแล้ว ในทางด้านจักษุสัมผัส ก็คือ เมื่อเห็นโน้ตเพลง ก็จะบอกได้เลยว่า คู่ไหนเป็นอินเตอร์วัลอะไรบ้าง

ข้อนี้ก็เป็นภาคปฏิบัติที่เราเพิ่งจะจบไป จะต้องใช้เวลานานในการฝึกฝน เป็นโครงการต่อเนื่องระยะยาว ค่อยๆเก็บสะสมไปเรื่อยๆ ต้องมีความพากเพียรและมุ่งมั่นอดทน แล้วจะประสบความสำเร็จในที่สุด

3) จะต้องสามารถสร้างมโนภาพของอินเตอร์วัลได้โดยการร้องออกมา ทั้งในทางเปล่งเสียง หรือสำนึกอยู่ในใจ ขยายความได้ว่า เราจะต้องสามารถร้องอินเตอร์วัลได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเริ่มจากโน้ตตัวใดไปยังอินเตอร์วัลไหน ก็ได้ทั้งนั้น เรียกว่าสั่งได้ดังใจนึก เมื่อเราร้องออกเสียงได้ เสียงอินเตอร์วัลจะก้องอยู่ในหัวเราเวลานึกในใจ หลังจากที่เราฝึกปรือผ่านด่านนี้มาได้แล้ว เวลาจะแต่งเพลง มีแค่กระดาษโน้ต, ดินสอและยางลบ ก็พอแล้ว ไม่ต้องอาศัยใช้เครื่องดนตรีมาเป็นตัวช่วยเลย บางคนอาจจะเคยได้รับรู้เรื่องราวของคีตกวีเอกเบโธเวน (Beethoven) หรือจะเรียกเป็นบีโธเวน ก็แล้วแต่นะครับ ซึ่งในบั้นปลายของชีวิตท่านได้กลายเป็นคนหูหนวก ไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย แต่ก็ยังสามารถแต่งซิมโฟนีมาสเตอร์พีซออกมาให้พวกเราได้ชื่นชมกันได้ นั่นเพราะท่านสำนึกได้ยินเสียงทั้งหมดอยู่ในใจ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเคาะฟังเสียงจากเปียโน หรือเครื่องดนตรีใดๆประกอบการประพันธ์เพลง

4) จะต้องสามารถปฏิบัติอินเตอร์วัลได้ในทุกระดับเสียงของเครื่องมือที่เล่น อันนี้เป็นเรื่องของการฝึกให้เกิดทักษะกับเครื่องดนตรีประจำตัวของใครของมัน ซึ่งการที่จะได้มานั้น มีหนทางเดียว คือ ฝึก ฝึก ฝึก และฝึก และฝึก และฝึก

ก็เป็นอันว่า ได้รับรู้ถึงเกณฑ์มาตรฐานของความรู้จริงแห่งอินเตอร์วัลกันแล้ว ลองทดสอบให้คะแนนตัวเองดูว่า เราเก่งหรือยัง? หรือยังต้องปรับปรุงในส่วนใดบ้าง?

ครั้งหน้า เราจะเรียนรู้เรื่องคอร์ด(Chord) ครับ




(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 104 มีนาคม 2007)