Monday, December 6, 2010

อินเตอร์วัล (Intervals) (8)



คอลัมน์นี้คงต้องติดพันกับเรื่องวิชาการทางทฤษฏีดนตรีไปอีกสักระยะหนึ่ง ใครที่สนใจงานเขียนด้านอื่นของผม (ขออนุญาตประชาสัมพันธ์) ให้ไปติดตามได้ที่นิตยสาร KOOL JAZZ และ JAZZ LIFE หรือเข้าเว็บ TK Park ก็ได้ครับ


รื่องอินเตอร์วัล ผมกะว่า อย่างมากเขียนสัก 3 ครั้งก็คงจบแล้ว แต่พอมาเกี่ยวพันถึงภาคปฏิบัติด้วย เลยต้องขยายความออกไปอีกหลายครั้ง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผมเชื่อว่า คงยังมีอีกหลายคน ที่หน้าผากยังผูกโบว์ คาด้วยคำถามมากมายที่ต้องการคำตอบที่ชัดเจนกว่านั้น แต่บางคำตอบนั้น ต้องเค้นเอาออกจากข้างในตัวเราเองเท่านั้น หาจากภายนอก หรือให้คนบอกไม่ได้

เราได้เรียนรู้เรื่องของอินเตอร์วัลในภาคทฤษฎีและปฏิบัติจบสมบูรณ์ไปเรียบร้อยแล้ว คราวนี้มาวัดผลดูกันว่า ความรู้ซึ้งอย่างถ่องแท้ของอินเตอร์วัลนั้น จะต้องอยู่ในระดับไหน? จึงจะถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

ดังที่จะได้ลำดับต่อไปนี้

1) จะต้องสามารถสะกด(สร้าง)อินเตอร์วัลได้โดยไม่จำกัดคีย์ นั่นคือ เราจะสร้างอินเตอร์วัลใดๆ จากตัวโน้ตใดๆ ก็ทำได้หมดในทุกคีย์ ไม่ว่าจะเริ่มจากโน้ตตัวไหนใน 12 เสียงดนตรี นึกอยากจะสร้างอินเตอร์วัลคู่ไหนก็บอกได้หมดทันที ไม่มีเงอะงะ ติดขัด ต้องมาไล่นับนิ้วหรือกดนิ้ว เคาะนิ้ว กับคอกีตาร์หรือแป้นคีย์บอร์ดในจินตนาการ เช่น ต้องการสร้างอินเตอร์วัลไมเนอร์หกจากโน้ต Db หรือ จะสะกดอินเตอร์วัลเมเจอร์สามจากโน้ต B ก็ทำได้เลยทันที เป็นต้น

อย่างที่เคยบอกมาตั้งแต่แรก ในเรื่องเมเจอร์สเกลนะครับ ว่าถ้าเราคล่องในทุกลำดับขั้นของเมเจอร์สเกลแล้ว ศึกษามาถึงตอนนี้ก็จะไม่มีปัญหาเลย แต่ถ้ายังไม่คล่อง ก็จะเริ่มมีปัญหา ขาดความมั่นใจ และชักจะไม่สนุกแล้ว วิธีแก้ทางเดียว คือ ย้อนกลับไปท่อง ทวนเมเจอร์สเกลให้ขึ้นใจ แล้วค่อยไล่ทบทวนมาใหม่ ถ้ายังจะขืนดันทุรังต่อไป ต้องจอดป้ายอย่างแน่นอน ไปไม่รอดครับ!

2) จะต้องสามารถชี้บอกอินเตอร์วัลได้ เมื่อสัมผัสจากการได้ยิน และได้เห็น อันนี้หมายถึง เมื่อเราได้ยินเสียงเพลง ก็จะรับรู้และบอกได้ว่า เสียงที่ผ่านเข้ามาสัมผัสโสตประสาทหูนั้นในแต่ละช่วง มีความสัมพันธ์กันเป็นอินเตอร์วัลอะไรบ้าง เรียกว่าใช้หูแกะเพลงโดยไม่ต้องอาศัยเครื่องดนตรีได้เลย หรือถ้าต้องการรู้ว่าเป็นคีย์อะไร ก็ใช้เสียงเทียบอ้างอิงเพียงเสียงเดียวก็พอแล้ว ในทางด้านจักษุสัมผัส ก็คือ เมื่อเห็นโน้ตเพลง ก็จะบอกได้เลยว่า คู่ไหนเป็นอินเตอร์วัลอะไรบ้าง

ข้อนี้ก็เป็นภาคปฏิบัติที่เราเพิ่งจะจบไป จะต้องใช้เวลานานในการฝึกฝน เป็นโครงการต่อเนื่องระยะยาว ค่อยๆเก็บสะสมไปเรื่อยๆ ต้องมีความพากเพียรและมุ่งมั่นอดทน แล้วจะประสบความสำเร็จในที่สุด

3) จะต้องสามารถสร้างมโนภาพของอินเตอร์วัลได้โดยการร้องออกมา ทั้งในทางเปล่งเสียง หรือสำนึกอยู่ในใจ ขยายความได้ว่า เราจะต้องสามารถร้องอินเตอร์วัลได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเริ่มจากโน้ตตัวใดไปยังอินเตอร์วัลไหน ก็ได้ทั้งนั้น เรียกว่าสั่งได้ดังใจนึก เมื่อเราร้องออกเสียงได้ เสียงอินเตอร์วัลจะก้องอยู่ในหัวเราเวลานึกในใจ หลังจากที่เราฝึกปรือผ่านด่านนี้มาได้แล้ว เวลาจะแต่งเพลง มีแค่กระดาษโน้ต, ดินสอและยางลบ ก็พอแล้ว ไม่ต้องอาศัยใช้เครื่องดนตรีมาเป็นตัวช่วยเลย บางคนอาจจะเคยได้รับรู้เรื่องราวของคีตกวีเอกเบโธเวน (Beethoven) หรือจะเรียกเป็นบีโธเวน ก็แล้วแต่นะครับ ซึ่งในบั้นปลายของชีวิตท่านได้กลายเป็นคนหูหนวก ไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย แต่ก็ยังสามารถแต่งซิมโฟนีมาสเตอร์พีซออกมาให้พวกเราได้ชื่นชมกันได้ นั่นเพราะท่านสำนึกได้ยินเสียงทั้งหมดอยู่ในใจ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเคาะฟังเสียงจากเปียโน หรือเครื่องดนตรีใดๆประกอบการประพันธ์เพลง

4) จะต้องสามารถปฏิบัติอินเตอร์วัลได้ในทุกระดับเสียงของเครื่องมือที่เล่น อันนี้เป็นเรื่องของการฝึกให้เกิดทักษะกับเครื่องดนตรีประจำตัวของใครของมัน ซึ่งการที่จะได้มานั้น มีหนทางเดียว คือ ฝึก ฝึก ฝึก และฝึก และฝึก และฝึก

ก็เป็นอันว่า ได้รับรู้ถึงเกณฑ์มาตรฐานของความรู้จริงแห่งอินเตอร์วัลกันแล้ว ลองทดสอบให้คะแนนตัวเองดูว่า เราเก่งหรือยัง? หรือยังต้องปรับปรุงในส่วนใดบ้าง?

ครั้งหน้า เราจะเรียนรู้เรื่องคอร์ด(Chord) ครับ




(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 104 มีนาคม 2007)



Monday, November 15, 2010

Intervals ภาคปฏิบัติ (3)


อินเตอร์วัล (Intervals) (7)



ถ้
าใครได้ไปลองฝึกตามที่ได้แนะนำไปแล้ว ก็คงพัฒนาหูของตัวเองขึ้นไปบ้างตามสมควรนะครับ ถ้าเพียงแค่อ่านผ่านไป ก็จะไม่เป็นประโยชน์อะไรสำหรับหูของคุณ อาจจะได้ประโยชน์สำหรับปากของคุณ ให้เอาไปคุยได้ว่า เฮ้ย! ต้องใช้เพลงอ้างอิงฝึกอย่างนี้อย่างนั้น ซึ่งก็นับว่าเป็นการทำตัวให้เป็นประโยชน์อย่างหนึ่งเหมือนกัน ในการเผยแพร่วิธีการพัฒนาหูให้พรรคพวกได้รับรู้ ถ้าเขานำไปปฏิบัติแล้วได้ผลดี คุณก็ได้รับส่วนบุญไปด้วย

ผมเคยเสาะแสวงหาวิธีการฝึกหูอยู่นานหลายปี แต่ก็ไม่เจอวิธีไหนที่จะช่วยพัฒนาการรับรู้เสียงให้เห็นผลที่น่าพอใจ บางครั้งยังนึกว่าเป็นเรื่องของพรสวรรค์ ที่ต้องทำใจยอมรับสภาพระดับจำกัดในการรับรู้แห่งเสียงดนตรีของตนเอง เพราะจากประสบการณ์ที่เคยเจอมาทั้งในและนอกประเทศนั้น อาจารย์ผู้สอนเขาจะเคาะคอร์ดมาเป็นชุดมาให้แจงว่า เป็นคอร์ดอะไรบ้าง? ฟังแล้วมึน ได้บ้าง แต่ไม่ได้บ้างมากกว่า พอไปถามขอคำแนะนำในการฝึก อาจารย์ก็บอกให้ไปเคาะคอร์ด ฟังให้มันติดหู แล้วจะได้เอง เราก็ไปนั่งเคาะเปียโน เคาะไป ฟังไป ซึ่งก็ช่วยได้บ้าง แต่ก็ยังคาใจอยู่เสมอว่า น่าจะมีวิธีการฝึกเป็นลำดับขั้นตอน ให้เราได้เรียนรู้พัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่านี้ จนกระทั่งได้มาเจออาจารย์แรน เบลค (Ran Blake) คณบดีของคณะ Contemporary Improvisation แห่ง New England Conservatory ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการดนตรีทั้งสายคลาสสิกและแจ๊ส ว่าเป็นสถาบันดนตรีที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

อาจารย์แรน เบลค เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกของการเรียนรู้ดนตรีโดยให้ความสำคัญของหูล้วนๆ ท่านเป็นนักเปียโนหัวก้าวหน้าระดับหัวแถวของโลก ผลงานทุกอัลบั้มเป็นงานคุณภาพที่ได้รับการยกย่องจากวงการแจ๊ส ท่านโดดเด่นทั้งในด้านการเล่นและการสอนมากว่า 40 ปีแล้ว ณ วันนี้ ท่านยังคงปฏิบัติกิจกรรมทั้งสองด้านอย่างไม่เหนื่อยล้าในวัยย่างเข้า 72 ปี

ขั้นตอนการสอนในปีแรกของอาจารย์แรน ท่านจะเริ่มปูพื้นฐานตั้งแต่ให้ท่องเพลงจนจำขึ้นใจ ร้องทำนองไม่เพี้ยน ตุนเป็นต้นทุนได้หลายสิบเพลง จนมีความแข็งแกร่งพอตัว ต่อมาถึงจะเป็นการฝึกอินเตอร์วัลโดยใช้เพลงอ้างอิงอย่างที่ผมได้ชี้แนะมาแล้ว นี่เป็นการเรียนรู้อย่างเป็นลำดับขั้นตอน ให้คนเรียนได้มีพัฒนาการอย่างหนักแน่นมั่นคง การที่เราจะข้ามขั้นไปหัดฟังเสียงคอร์ด ซึ่งประกอบด้วย 3 เสียงขึ้นไป โดยที่ยังไม่ผ่านการฝึกฟังอินเตอร์วัลซึ่งมีแค่ 2 เสียงนั้น ย่อมจะไม่เป็นผลดีต่อผู้เรียนอย่างแน่นอน ดั่งที่ผมได้ประสบมากับตัวเอง

ในครั้งที่แล้วที่เคยบอกว่า ถ้าเรา ร้องได้ ก็จะฟังออก มาคราวนี้ก็จะแจงในรายละเอียดของการฝึกฟังอินเตอร์วัลในด้านการรับรู้ (Passive) ในการฝึกระดับต้นนั้น เราต้องเริ่มฝึกอย่างช้าๆก่อน ช่วงระยะเวลาในการเปล่งเสียง(เล่น)ตัวโน้ตแต่ละตัวนั้น ควรเว้นระยะห่างให้ประสาทหูได้ซึมซับรับรู้กับแต่ละเสียงได้เต็มที่ จนกระทั่งมีความไวในการรับฟังเพิ่มขึ้น สามารถแจงอินเตอร์วัลได้อย่างแม่นยำไม่ผิดเพี้ยน แล้วจึงจะค่อยๆเร่งความถี่ในการเล่นให้กระชั้นชิดเข้าไปเรื่อยๆ โดยที่เสียงของตัวโน้ตก็จะหดสั้นลงไปเรื่อยตามความเร็วของสปีดที่เล่น จนกระทั่งแทบจะเล่นทั้งสองเสียงออกมาพร้อมกัน ด้วยเสียงที่สั้นกุดมากๆในเศษเสี้ยวของวินาที ก็ยังฟังออกบอกได้ว่าเป็นอินเตอร์วัลใด


กระบวนการรับฟังอินเตอร์วัล พอจะลำดับขั้นตอนได้ดังนี้ คือ

1) หูได้ยินเสียงอินเตอร์วัลโจทย์

2) นึกเปรียบเทียบเสียงอินเตอร์วัลที่ได้ยินกับเพลงอ้างอิง

3) ได้คำตอบประเภทของอินเตอร์วัลนั้น

พอผ่านด่านนี้ได้แล้ว ก็มาฝึกฟังเสียงอินเตอร์วัลที่เปล่งเสียงออกมาพร้อมกัน ซึ่งก็คือ ฮาร์โมนิกอินเตอร์วัล (Harmonic Intervals) โดยเริ่มจากช้าก่อน เช่นเดียวกันกับการฝึกเมโลดิกอินเตอร์วัล (Melodic Intervals) ก่อนหน้านี้ ค่อยๆบรรจงจิ้มนิ้วชี้ทั้งสองมือ เคาะลงบนคีย์เปียโนอย่างช้าๆ ให้เสียงของตัวโน้ตทั้งสองก้องกังวานอยู่ในหูเรา ถ้าเรายังจำแนกไม่ออก ก็ให้กดซ้ำเพื่อฟังซ้ำอีกครั้ง และซ้ำไปอีกหลายๆครั้ง ถ้ายังฟังไม่ออก ถ้าทำซ้ำเป็นสิบครั้ง ยังไม่ได้อีก ก็ต้องเล่นแยกทีละตัวแบบเมโลดิกอินเตอร์วัล พอจับเสียงได้แล้ว ก็เคาะพร้อมกันย้ำให้ประสาทหูเราได้จดจำรับรู้อีกหลายๆครั้ง ทำอยู่อย่างนี้เรื่อยไป จนเกิดทักษะ

การฝึกฮาร์โมนิกอินเตอร์วัลด้วยตัวเอง อาจจะมีอุปสรรคอยู่บ้าง บางคนอาจจะไม่มีเปียโนหรือคีย์บอร์ดเพื่อใช้ฝึก แม้จะมีเปียโนเอง การเคาะฝึกเองก็ยังเป็นปัญหา ครูบางคนจะแนะนำให้กำดินสอไว้มือละด้าม ใช้ด้านที่มียางลบจิ้มสุ่มลงบนคีย์เปียโน เพื่อที่เราจะได้ไม่รู้ว่าเป็นคีย์อะไร ถ้าจะให้ดีแล้ว ควรหาคนมาเล่นให้เราทายว่าเป็นอินเตอร์วัลอะไร จะเป็นตัวช่วยฝึกที่ดีมาก

เมื่อเราผ่านการร้องและฟังอินเตอร์วัลได้แล้ว หูของเราได้พัฒนาขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ด่านต่อๆไปจะไม่ยากมหาโหดเหมือนด่านนี้ เราได้ปูพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในช่วงนี้แล้ว ขอรับรองว่า เส้นทางต่อจากนี้ไปจะไม่วิบากกว่าที่ผ่านมานี้อีกอย่างแน่นอน

ข้อสำคัญที่สุด คือ คุณจะผ่านด่านอินเตอร์วัลไปได้หรือไม่? นั่นแหละคือตัวปัญหาที่จะต้องพิชิตให้ได้ก่อน




(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 103 กุมภาพันธ์ 2007)


Tuesday, October 12, 2010

Intervals ภาคปฏิบัติ (2)


อินเตอร์วัล (Intervals) (6)


ารฝึกอินเตอร์วัลภาคปฏิบัติเป็นเรื่องที่ต้องค่อยเป็นค่อยไป จะใจร้อนเร่งรีบ เร่งรัด ตัดตอนกระบวนการไม่ได้เลย เราจะต้องฝึกจนรู้แจ้งด้วยตัวเองไปทีละน้อย ทีละขั้น ฝึกเน้นทีจะคู่ ตั้งมาตรฐานให้กับตัวเองให้สูงเข้าไว้ อย่าเข้าข้าง อนุโลมให้กับตัวเอง ถ้ายังทำไม่ได้ 100% ก็อย่ายอมให้ผ่านโดยเด็ดขาด เพราะสิ่งที่ตามมาในภายหลังจะเลวร้ายมากๆ ดังนั้นจึงต้องใจเย็นๆ ค่อยๆทำไปทีละขั้น ย้ำเตือนกับตัวเองอยู่เสมอว่า ก่อนหน้าที่เราจะรู้ถึงเคล็ดลับในการฝึกอินเตอร์วัลนี้ เราก็ยังอยู่ได้สบายดีกับความไม่รู้มาตั้งนาน พอมารู้ถึงเคล็ดลับ เราก็ไม่ควรจะมาเร่งรัดรีบร้อนตักตวงจนเกินไป ตัวผมเองเล่นดนตรีมาตั้ง 10 กว่าปีแล้ว และต้องผ่านการฝึกเอียร์เทรนนิงทั้งแบบอ่านโน้ต แบบท่องจำเพลงอีกเป็นปี กว่าจะได้มาเริ่มฝึกโดยใช้เพลงอ้างอิงนี้ ซึ่งเหมือนได้เลื่อนชั้นไปเรียนคอร์สใหม่อีกเกือบปี เมื่อมาได้ฝึกก็โดนเคี่ยวกันหนักหนาสากรรจ์ ต้องอดทนสู้กันอย่างเลือดตาแทบกระเด็น เพราะอยากได้วิชาเองไง จึงต้องยอมอดทนให้อาจารย์โขกสับ ไม่มีใครบังคับ เสียตังค์ค่าเรียนก็แพงอีกต่างหาก


เวลาที่ใช้ฝึกควรจะแบ่งเป็นหลายช่วง ครั้งละ 15 – 20 นาที ไม่ควรฝึกจนหูล้า เพราะจะไม่ได้ประโยชน์อะไรถ้าหูไม่รับรู้ จนแยกแยะเสียงไม่ได้ การฝึกแบบนี้ต้องใช้สมาธิมาก ถ้าร่างกายไม่พร้อม จะทำให้ได้ผลไม่เต็มที่ ก่อนเริ่มฝึก นั่งสมาธิทำใจว่างนิ่งๆ ให้จิตสงบอย่างน้อยสัก 1 นาที ก็จะยิ่งดีมาก

ในการฝึกอินเตอร์วัลนั้น แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ ด้านกระทำ (Active) ซึ่งเราเป็นผู้ปฏิบัติเสียงอินเตอร์วัล อย่างที่แนะนำให้ฝึกในครั้งที่แล้วนั้น เป็นการฝึกในแบบแอ็กทีฟ คือเราต้องออกแรง Action หรือบู๊ ต่อสู้กับตัวโน้ตโจทย์ที่มาท้าทายให้เราพิชิต ไม่ว่าตัวโน้ตโจทย์จะเปล่งเสียงอะไรออกมาก็ตาม เราจะต้องสามารถเปล่งเสียงร้องให้ตรงกับโน้ตนั้นก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้นจึงจะนึกถึงเพลงอ้างอิงไปยังอินเตอร์วัลที่โจทย์กำหนดได้ ว่ากันถึงเรื่องการฝึกอินเตอร์วัลนี้ เมื่อเราผ่านการฝึกไปหลายๆคู่สักระยะหนึ่ง จะมีความรู้สึกว่าอินเตอร์วัลแต่ละคู่ จะมีความยากง่ายต่างกัน บางคู่จะถูกโฉลกกัน ใช้เวลาไม่นานก็รู้จักกันดี สนิทกันเร็ว ได้มาง่ายๆ แต่บางคู่นั้นเสียงฟังไม่เข้าหูเลย กว่าจะยอมเป็นมิตรให้ความคุ้นเคย ก็ต้องใช้เวลานาน ที่น่าสนใจ คือ แต่ละคนจะมีปัญหากับอินเตอร์วัลไม่เหมือนกัน อินเตอร์วัลคู่หนึ่งอาจจะเป็นกล้วยสำหรับนาย ก. แต่กลับเป็นโคตรหินสำหรับนาย ข. และในทางกลับกัน

ในส่วนที่สองของการฝึกอินเตอร์วัล คือ ด้านการรับรู้ (Passive) เราจะเป็นฝ่ายถูกกระทำ นั่นคือ อินเตอร์วัลจะเป็นฝ่ายรุกจู่โจมเข้ามากระทบโสตประสาทการรับฟังของเรา เมื่อเราได้ยินเสียงอินเตอร์วัล ก็จะต้องจำได้ทันทีว่าเป็นอินเตอร์วัลคู่อะไร? สามารถบ่งชี้ออกมาได้อย่างถูกต้อง

ด้านกระทำนั้นจะยากกว่าด้านการรับรู้ และจะต้องออกแรงฝึกให้ได้ก่อน ด้านการรับรู้ก็จะเป็นของแถมมาเอง


สรุปง่ายๆว่า ถ้าเราร้องได้ เราก็จะฟังออก

ในการฝึกอินเตอร์วัลภาคปฏิบัตินั้น ถ้าเราหาเพื่อนสักคนมาเป็นคู่ฝึก หรือ พาร์ตเนอร์ ก็จะช่วยได้มากทีเดียว ย้อนกลับไปดูรายละเอียดเรื่องพาร์ตเนอร์ในฉบับเก่านะครับ ถ้าลืมไปแล้ว

แม้ว่าเมื่อเราสอบผ่านภาคปฏิบัติอินเตอร์วัลไปแล้วก็ตาม เรายังต้องทบทวนในส่วนนี้อยู่เป็นประจำ ผมต้องหน้าแตกอยู่บ่อยครั้งเวลาสอนเรื่องนี้ รู้อยู่ว่าจะร้องไปหาเสียงอะไร แต่ดันเสียงหลงไปหาโน้ตอื่น พอได้ยินเสียงของตัวเองก็รู้ว่า เสียท่าไปแล้ว ด้านการรับรู้นั้นไม่ค่อยมีปัญหา แต่ด้านกระทำยังต้องย้ำให้ตัวเองได้ยินอยู่เสมอ ถ้าเกิดว่างเว้นไปนานๆ ก็จะร้องไม่ได้อย่างใจนึก คือ นึกเสียงถูก แต่ร้องเพี้ยนเป็นเสียงอื่นไป

อย่างที่เคยบอกไว้ว่า ด่านภาคปฏิบัติของอินเตอร์วัลนั้น ยากมาก แต่ก็ไม่ยากเกินกว่าความมุ่งมั่นพยายาม ที่จะฝึกให้มันอยู่ในโอวาทของเราให้ได้ เคล็ดลับในการพัฒนาหู มันก็คล้ายๆกับเคล็ดลับในความสำเร็จอื่นๆ ที่พวกคนดัง คนเด่น คนเก่ง หรือดาราที่กำลังฮ็อตๆถอยพ้อคเก็ตบุ้ค ออกมาชี้ทางสว่างให้พวกเราได้เก่ง ได้พูดภาษาสำเนียงเหมือนฝรั่ง ได้รวย ได้หุ่นดี ได้ประสบความสำเร็จเหมือนพวกเขาบ้าง ในเรื่องการฝึกอินเตอร์วัลให้อยู่หมัดก็เช่นกันครับ แนะนำกันหนึ่งครั้งนี้สองครั้ง ก็พอจะเห็นลู่ทางไปช่วยตัวเองได้แล้ว

เห็นมั้ยครับ อินเตอร์วัลง่ายนิดเดียว........... แต่ยากมากๆ ครับ ฟังดูก็ง่ายๆ ไม่มีอะไร แต่เวลาที่ลองทำดู แล้วจะรู้ว่า ย า ก...... รากเลือด

เบื้องหลังแห่งความสำเร็จของทุกอย่าง ไม่ได้มากันง่ายๆ ต้องออกแรงกันมาก ทำงานกันหนัก กว่าจะได้รับผลตอบแทนที่น่าชื่นใจ

ตบท้ายด้วยรายการเพลงตัวอย่างของผม ที่สองโน้ตแรกของทำนองอิงกับอินเตอร์วัล มาฝากกัน เริ่มกันที่คู่สาม ทั้งขาขึ้นและขาลง
(ถ้าอ่านไม่ชัด ให้คลิกที่ภาพเพื่อขยาย ครับ)


และขยายความกระจ่างจากชีตเพลง






(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 102 มกราคม 2007)


Saturday, April 17, 2010

Wes Montgomery




Wes Montgomery
เป็นนักกีตาร์แจ๊สคนแรก ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ในหมู่คนฟังเพลงทั่วไป นอกเหนือไปจาก คอแจ๊สที่รู้กันดีอยู่ว่า เขาคือ นักกีตาร์แจ๊สหัวแถว ทายาททางดนตรีของ Charlie Christian บิดาแห่งแจ๊สกีตาร์ ผู้บุกเบิกให้โลกได้รับรู้ถึงศักยภาพของกีตาร์ไฟฟ้าในแนวแจ๊ส และ Wes ได้ขยายสมรรถนะ ความเป็นไปได้ของเครื่องสายชนิดนี้ ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เขาเป็นผู้ทะลวงทำลายปราการที่กีดกั้น จำกัดการแสดงออกของกีตาร์ ด้วยการสาธิตให้ประจักษ์ถึงความเป็นไปได้ ของสิ่งที่ผู้คนทั้งหลายคิดว่า เป็นไปไม่ได้สำหรับกีตาร์

Jim Hall เพื่อนนักกีตาร์แจ๊สด้วยกัน ได้กล่าวเปรียบเปรย ถึงระดับความก้าวหน้าที่เวสได้บรรลุถึง ไว้ว่า

“เวสนั้นเป็นเหมือนกับนักวิ่งคนแรก ที่ทะลวงเวลาสี่นาทีต่อหนึ่งไมล์ได้สำเร็จ พวกที่ตามมาทีหลัง อาจจะเล่นแบบอ็อกเทฟมหาโหดเหล่านั้นได้ และใช้นิ้วโป้งเล่นได้อย่างถึงอารมณ์เช่นกัน แต่คุณรู้มั้ยว่า เขาทิ้งคนรุ่นก่อนไว้ข้างหลังโน่น”

เรื่องราวของเวส ดูไปก็คล้ายคลึงกับตัวละครในนิยายจีน ประเภทกำลังภายใน ของจอมยุทธผู้มีฝีมืออันสูงส่ง ซุ่มตัวแสวงหาความสันโดษอยู่ในป่าเขา แต่โลกของแจ๊สยังนับว่าโชคดี ที่มีคนไปค้นพบเขา และนำเอาตัวไปอัดเสียง มาเป็นผลงาน ให้เราได้ชื่นชม และศึกษาเป็นแนวทางกันตลอดไป

John Leslie Montgomery เป็นชื่ออย่างเป็นทางการ ของนักกีตาร์แจ๊สที่ไม่เหมือนกับนักกีตาร์แจ๊สคนใดทั้งสิ้น เขาหัดเล่นกีตาร์ด้วยตัวเอง เมื่อปี 1943 ตอนอายุย่างสิบเก้าแล้ว เวสซื้อแอมป์และกีตาร์ หลังแต่งงานได้เพียงสองสามเดือน เขาเคยมีกีตาร์เทเนอร์สี่สายอยู่ตัวหนึ่ง พี่ชายซื้อให้เป็นของขวัญวันเกิด ตอนอายุ 12 ขวบ แต่ก็ไม่ได้เล่นเป็นสาระอะไรกับมันนัก จนกระทั่ง เมื่อได้กีตาร์หกสายแบบทั่วไป และได้มาเริ่มให้ความสนใจ นับหนึ่งใหม่อย่างจริงจัง ทันทีที่ได้ฟัง Solo Flight ของ Charlie Christian เวสจังงังเหมือนโดนมนต์สะกด มันเป็นความประทับใจที่ตราตรึงฝังแน่น ไม่เคยลบเลือนไปจากความทรงจำ เขาท้าวความย้อนหลังให้ฟัง ถึงอุบัติการณ์ ที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงครั้งนั้น อีกเกือบยี่สิบปีต่อมา ว่า

Solo Flight เป็นแผ่นแรกที่ผมได้ฟัง โอ้โฮ, มันเหลือเกินจริงๆ! มันยังก้องอยู่ในหูผมเลย! เขาใช่เลย สำหรับผม และผมก็ไม่แสวงหาใครอื่นอีก ผมไม่ฟังคนอื่นเลยราวปีกว่าๆ ฟังใครก็ไม่เข้าหูไปหมด”

ก่อนหน้านี้ เวสเคยชื่นชอบนักกีตาร์ยิปซี Django Reinhardt กับ Les Paul รวมทั้งนักกีตาร์รุ่นนั้นอีกหลายคน แต่ก็ไม่มีใครจะโดนใจเขา เหมือนกับสำเนียงร่วมสมัยล้ำยุคของ Charlie Christian ที่มีพลังกระตุ้นให้เด็กหนุ่มวัยสิบเก้า ผู้รักเสียงดนตรี แต่ยังไม่มีแรงจูงใจอะไร ที่จะโน้มน้าวเขาให้ถึงกับอยากจะเป็นนักดนตรีคนนี้ ฮึดขึ้นมาหัดเล่นกีตาร์อย่างมุ่งมั่น แทบจะไม่ยอมปล่อยวางให้ห่างมือ

เวสกวาดซื้อแผ่นเสียงทุกแผ่นของ Charlie Christian เท่าที่จะหาได้ ฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่า จดจำทำนองโซโล จนขึ้นใจได้หมดทุกท่อน แกะเม็ดพราย รายละเอียด ในลีลาสำเนียง การเอื้อนวรรคตอน ประโยควลีทำนอง สัดส่วนขเบ็ตแห่งจังหวะ เล่นคลอตามไปกับแผ่นเสียงผู้เปรียบเสมือนครู จนไม่เหลื่อมคร่อม หกเดือนหลังจากนั้น เวสออกปฏิบัตการจริงภาคสนาม เข้าร่วมเล่นอาชีพกับวงท้องถิ่น อาศัยลูกกีตาร์โซโลของคริสเตียนเพียงอย่างเดียว เป็นเครื่องมือทำมาหากิน

แทนที่จะใช้ปิ้กเหมือนนักกีตาร์ทั่วไป เวสกลับใช้นิ้วโป้งดีด เขาเคยหัดเล่นกับปิ้กอยู่ราวสองเดือน แต่เสียงที่บันดาลออกมาไม่ถูกใจ เหมือนกับการใช้นิ้วโป้งดีดสัมผัสสายเหล็ก ซึ่งให้เนื้อเสียง ทุ้มนุ่ม เสนาะโสตกว่า แม้ว่าจะชอบเทคนิคการใช้ปิ้ก ที่ช่วยให้การเล่นสปีดเร็วได้ดีกว่า เวสตกอยู่ในสภาวะ รักพี่เสียดายน้อง ต้องชั่งใจอยู่พักหนึ่งว่า จะเลือกเอาซาวด์หรือสปีด และในที่สุด ก็ตัดสินใจเลือกใช้นิ้วโป้ง เป็นคำตอบสุดท้าย

หรือในตำนานอีกเวอร์ชันหนึ่ง มาจากเพราะเมียบ่น หนวกหู จนเขาต้องหลบเข้าดีดในมุมห้อง ลดโวลูมเสียงให้เบาลง ทิ้งปิ้ก ใช้นิ้วโป้งดีดออกมาเป็นเสียงนุ่มหูกว่า จนเมียเลิกบ่น ก็เป็นอันว่า ผ่าน

George Barnes นักกีตาร์แจ๊สรุ่นใหญ่ ผู้เคยเล่นสลับกับเวส ชื่นชมกับโป้งทองของเวส ว่า

“ผมดูเขาอย่างตลึงเลยละ เขาใช้นิ้วโป้งยังกะปิ้ก เขาใช้มันดีดทั้งขึ้นและลง และไม่เพียงแค่นั้นนะ, เขายังดีดรัวถี่ยิบกับมันได้ด้วย”

เวสไม่เคยรู้ว่าการดีดกีตาร์สายคู่ โดยใช้ตัวโน้ตเดียวกัน ในต่างระดับเสียง เป็นเสียงคู่แปด(Octave) และที่ยิ่งกว่า คือ การเล่นแบบบล็อกคอร์ด(Block Chords) ด้วยกีตาร์ ในระดับที่ตัวเองเล่นออกมานั้น เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้เลย แต่กว่าจะมีคนมาบอกให้รู้ ก็ทำเอายอดกีตาร์แจ๊สทั้งหลาย ที่ได้ดูเขาเล่น ต้องตาค้าง อ้าปากหวอ ไปตามกัน ในความมหัศจรรย์ของเทคนิค ที่ใช้เป็นเพียงองก์ประกอบของความสวยงาม แห่งดนตรีที่เวสสร้างสรรค์ออกมา

นอกจากช่วงสองปี(1948-50) ที่เขาตะเวนเล่นไปกับวงของ Lionel Hampton นักตีระนาดไฟฟ้า อดีตสมาชิกวง Benny Goodman ยุครุ่งเรืองสุดขีด ที่เวสคุ้นเคยสำเนียงไม้นวมจากแผ่นเสียง สมัยเล่นเคียงคู่กับ ชาร์ลี คริสเตียน ในวงของนักคลาริเน็ต ฉายา ราชาแห่งสวิง แล้ว เวสเล่นดนตรีอยู่แถวละแวกบ้านเกิด บริเวณอินเดียนาโปลิสตลอด สาเหตุใหญ่ ที่ทำให้เขาปลีกตัวไปไหนไม่ได้ เนื่องมาจากภาระทางครอบครัวอันหนักอึ้งที่ต้องแบกรับอยู่ เวสเป็นพ่อลูกดก มีลูกถึงเจ็ดคน เลยต้องลุยงานหนัก เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว กลางวันทำงานในโรงงานผลิตชิ้นส่วนวิทยุ พอตกกลางคืน ต้องไปเล่นดนตรีรอบแรกที่ Turf Bar ตั้งแต่สามทุ่มถึงตีสอง แล้วไปเล่นต่ออีกสองชั่วโมงครึ่ง ให้พวกนักเที่ยวยามดึกฟังที่ Missile Room เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดหกปี หลังจากที่เขาออกจากวงของ Hampton แต่เวสก็ไม่เคยปริปากบ่น งานยิ่งหนัก ยิ่งทำให้เขาแกร่ง

เวส เคยอัดเสียงร่วมกับวง Mastersounds ซึ่งเป็นวงของสามพี่น้อง Montgomery มีพี่ชาย Monk Montgomery ผู้บุกเบิกในการเอากีตาร์เบสไฟฟ้ามาเล่นแจ๊ส และ Buddy Montgomery ผู้น้อง นักเปียโน และนักระนาด(Vibes) ฝีมือดีคนหนึ่ง และตัวเขาเองเป็นสมาชิกหลัก ต่อมาในปี 1957 Monk และ Buddy ซึ่งร่วมเล่นกันมาเป็นเวลาหลายปี ณ Turf Bar แยกตัวออกไปลุยทางฝั่งเวสต์โคสต์ แต่เวส พ่อบ้านครอบครัวใหญ่ ต้องปักหลักเล่นอยู่ที่เดิม ขัดเกลาสไตล์การเล่นเฉพาะตัว ฝ่าด่านสู่อาณาเขตที่ยังไม่มีนักกีตาร์คนไหนเคยล่วงล้ำเข้าไป พัฒนาจนสมบูรณ์ลงตัวไร้เทียมทาน อยู่ในบาร์เล็กๆ นอกวงจรแจ๊ส แถวบ้านเกิด ภายหลังที่เขาดังขึ้นมา สามพี่น้องก็ได้กลับมารวมทีมกันอีกครั้ง ตะเวนเดินสายไปทั่วอเมริกา ภายใต้ชื่อ The Montgomery Brothers ได้รับความสำเร็จมากพอสมควร

ในช่วงทศวรรษห้าสิบ แม้แต่คนวงในแห่งโลกแจ๊ส เพียงจำนวนไม่มาก ได้รับรู้เรื่องราว ที่พวกนักดนตรีขาจร ผู้เคยแวะเยือนอินเดียนาโปลิส ช่วยกันโหมประโคมเล่า ปากต่อปาก ถึงกิตติศัพท์ของนักกีตาร์บ้านนอก ผู้ไม่รู้โน้ต แต่เล่นได้แทบทุกอย่าง ถ้าได้ฟังผ่านหูสักครั้ง หรืออย่างมากแค่สองครั้ง และสามารถด้นไปเรื่อยๆเป็นชั่วโมง โดยไม่มีวันจน ไม่ซ้ำลูกเดิม

“ทุกๆเรื่องที่คุณได้ยินเกี่ยวกับ Wes Montgomery มันมักจะต้องไปเกี่ยวข้องกับอะไรที่เหลือเชื่อเสมอ และเรื่องราวทั้งหมดที่เกี่ยวกับเวสนั้น เป็นเรื่องจริง”

เป็นคำยืนยันความถูกต้อง จาก Melvin Rhyne นักออร์แกน ผู้ร่วมลำบากด้วยกัน อยู่ในสภาวะเดียวกันมาในยุคนั้น

หลังจากเสร็จสิ้นจากภาระกิจ การเล่นโชว์ตัวคืนเดียวที่อินเดียนาโปลิส Cannonball Adderley นักเป่าอัลโตแซ็ก แถวหน้าของแจ๊ส แวะเข้าไป Missile Room สัมผัสบรรยากาศแจ๊สท้องถิ่นยามดึก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ เวสกำลังอิมโพรไวส์อย่างได้ที่ Adderley โดนสำเนียงเสียงคู่แปด รัวกระแทกใส่ จนร่างใหญ่ อ้วนกลมของเขา แทบจะตกเก้าอี้ที่นั่งฟังอยู่ เขาตื่นเต้นในฝีมือการเล่นกีตาร์ของเวส จนแทบจะระงับใจไว้ไม่อยู่ อีกสองวันต่อมา รีบดิ่งไปยังสำนักงานของบริษัทแผ่นเสียง Riverside ในนิวยอร์กทันที พรั่งพรูกล่าวสรรเสริญเวสอย่างเลอเลิศ ใส่ให้ Orrin Keepnews หุ้นส่วนของบริษัท ฟังจนเคลิ้มตาม


ห้าวันต่อมา ออร์รินบินไปอินเดียนาโปลิส เพื่อพิสูจน์ให้เห็นจริงด้วยตัวเอง ถึง Turf Bar และยังตามต่อไปที่ Missile Room เขานั่งอยู่โต๊ะติดขอบเวที ได้เห็นกันจะจะ ตรงหน้าเวส ที่นั่งเล่นกีตาร์กิ๊บสันตัวใหญ่ รุ่น L5 ตัวโปรด ด้วยใบหน้าโปรยยิ้มอย่างมีความสุข ที่ได้ทำในสิ่งที่เขารัก ออร์รินมองตามนิ้วโป้งดีดสาย เห็นมันพร่าลานตาไปหมด เขาใช้เวลาในการตัดสินใจเพียงแค่ 30 วินาที และกางสัญญาอัดแผ่นเสียง ขอลายเซ็นเวสในบาร์ ตอนรุ่งสางของคืนนั้นเลย

อีกไม่ถึงสองอาทิตย์ เวสปรากฎตัวในนิวยอร์ก เพื่อเข้าสตูดิโอบันทึกเสียงอัลบั้มชุดแรก เขามีโอกาสขึ้นไปแจมกับ Horace Silver นักเปียโนฮาร์ดบ็อป ซึ่งกำลังเล่นอยู่ที่ Village Gate เวสเรียกเสียงเฮจากคนดูอย่างกึกก้อง เขาโซโลอยู่นาน จนสะใจคนฟัง ภายหลังในช่วงพัก ซิลเวอร์ได้บอกกับเวส ว่า

“นายเล่นคนละคีย์กับเราเลยวะ แต่มันออกมาดีเหลือเกิน จนเราไม่อยากขัดจังหวะบอกนาย”

ช่วงเวลาที่เวส มาเริ่มต้นอัดเสียงให้กับ Riverside อายุปาเข้าไป 36 ปี แล้ว ฝีมือการเล่นกีตาร์กำลังเปล่งพลานุภาพอยู่ในช่วงสุดยอด เขาลุยเดี่ยวเข้านครนิวยอร์ก แหล่งชุมนุมของเหล่ายอดฝีมือแจ๊สทั้งหลาย ตอนเข้าห้องอัด ก็แทบจะไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้าอะไรเลย ต้องมาประกบกับทีมนักดนตรี ที่ไม่เคยเล่นด้วยกันมาก่อน ในบางสถานการณ์ที่ต้องเล่นเพลงใหม่ ไม่คุ้นหู หรือเพลงต้นแบบ แต่งเอง ถึงจะมีโน้ตมาวางให้ เขาก็อ่านไม่ออก หรือแม้จะเขียนเป็นแบบคอร์ดชาร์ต ก็ไม่รู้จัก อาศัยหูทิพย์เพียงอย่างเดียว ในการประมวลผล บันทึกเข้าสู่หน่วยความจำ ด้วยอัตราความเร็วเท่าเทียมกับคนอ่านโน้ตได้ สยบเซียนแจ๊สผู้ร่วมงาน ให้ศิโรราบในความจำเป็นเลิศ เหมือนเครื่องเทปอัดเสียงของเขา

เวส กลายเป็นดาราขึ้นมาในชั่วข้ามคืน หลังจาก Riverside ค้นพบเขาในปี 1959 เหล่านักวิจารณ์แจ๊สตื่นเต้นกับปรากฏการณ์ใหม่ ที่ประทุขึ้นมาในโลกแจ๊ส ต่างรุมกันเขียนเชียร์ยกใหญ่ ไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองเป็นคนล้าหลัง ตกข่าว และพร้อมใจกันโหวต ให้เขาเป็นสุดยอดแห่งนักกีตาร์แจ๊ส หลังแจ้งเกิดเพียงไม่นาน Ralph Gleason นักวิจารณ์แจ๊สรุ่นใหญ่ เขียนไว้ดี ได้ใจความ ว่า

“ตอนที่เวสเข้ามาในวงการ เขาเต็มไปด้วยความแปลกใหม่ และเต็มไปด้วยพลัง ไล่ต้อนคนอื่น ให้มุดเข้าไปหลบกันอยู่ในสตูดิโอ”

แม้จะเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังแล้ว แต่ฐานะทางเศรฐกิจของเขา ไม่ได้กระเตื้องขึ้นมาเท่าใดนัก ไม่เคยมีผลงานทรงคุณค่าชุดไหนของเวส ยุคสังกัดริเวอร์ไซด์ รุ่นพิมพ์ครั้งแรก ทำยอดขายได้เกินหมื่นชุดเลย Keepnews ปลอบใจให้เขาอดทนต่อไป ว่า

“เมื่อปีที่แล้ว ยังไม่มีใครรู้จักคุณเลย คุณเป็นพวกจรจัดและจน ตอนนี้ คุณเป็นดาราและยังจนอยู่ นั่นนับเป็นความก้าวหน้าแล้วนะ”

ไปฟัง Orrin Keepnews ย้อนความหลังใน YouTube



ผลงานของเวส จากยุคริเวอร์ไซด์ ได้รับการยกย่องว่า เป็นช่วงเวลาที่เขาผลิตผลงานการเล่น ออกมาได้ดีที่สุดในชีวิต และงานระดับหัวกะทิของค่ายนี้ ในยุคสมัยอนาล็อก ที่ยังต้องให้หัวเข็มสัมผัสร่องแผ่นไวนีล เพื่ออ่านสัญญาณเสียง ของแผ่นเสียงลองเพลย์นั้น อัลบั้มแผ่นคู่ While We’re Young คือ งานมาสเตอร์พีซของเวส เป็นการเอาชุดเดี่ยวลำดับสอง The Incredible Jazz Guitar ซึ่งบันทึกเสียงไว้ เมื่อวันที่ 26 และ 28 มกราคม 1960 ได้ Tommy Flanagan มาเล่นเปียโนเสริมได้อย่างเหมาะเจาะ บนฐานเครื่องจังหวะที่หนักแน่นของสองพี่น้องตระกูล Heath โดย Percy (เบส) และ Albert (กลอง) และอัลบั้ม So Much Guitar ( 4 สิงหาคม 1961) ที่ขาดตลาดไปนานแล้ว มาประกบคู่กัน ชุดนี้ตัวประกอบไม่เป็นรอง ด้วย Hank Jones คนเปียโนที่ใครๆชอบใช้บริการ เพราะเขาช่วยส่งเสริมให้ตัวนำดูดี Ron Carter ยอดเบสใหญ่ ช่วงยังหนุ่มไฟแรง และมือกลอง Rex Humphries ประสานจังหวะกับนักคองก้า Ray Barretto ผู้มาเคาะ แต่งเติมสีสันลาติน

ความปราดเปรื่องในเชิงด้น ระดับอัจฉริยะของเวส ได้ถ่ายทอดผ่านปลายนิ้วซ้ายกดลงบนเฟร็ต ผสานการดีดโดยโป้งขวา ให้คนฟังได้ซึมซาบถึงความรุ่มรวยในจินตนาการ ความคล่องตัวลื่นไหล ไม่สะดุด ติดขัดในเพลงเร็ว ด้วยความชัดเจน เฉียบขาด หนักแน่น เต็มไปด้วยพลัง และจิตวิญญาณในทุกตัวโน้ต ในทุกอารมณ์ดนตรี

เปิดฉากด้วยความเร้าใจ กับผลงานของ Sonny Rollins ตำนานแซ็กโซโฟนที่ยังมีลมหายใจอยู่ Airegin ชื่อเพลงเอามาจากชื่อประเทศ Nigeria มาเรียงตัวอักษรย้อนจากหลังไปหน้า Cottontail ของท่าน Duke Ellington คือ สนามทดสอบความเร็วในแบบสวิง ซิ่งกันมาแบบเต็มสปีด เหยียบมิดเกจ์ แค่เคาะเท้าตามยังเมื่อย ยามเมื่อผ่อนจังหวะสู่เพลงช้าแนวบัลลาด เวสปรับใจเข้าสู่อารมณ์โรแมนติก ร่ายกรีดสาย กล่อมทำนองหวาน ชวนให้วาบหวิว เคลิ้มตามเสน่ห์ปลายนิ้ว ใน One For My Baby เพลงเหงายามดึก ที่คอแจ๊สรุ่นปู่คุ้นเคยกับเวอร์ชันต้นแบบของ Frank Sinatra เขาเน้นทำนองซึ้งลุ่มลึก ด้วยสายคู่ใน Polkadots and Moonbeams และ In Your Own Sweet Way เขาเปลี่ยนสีสันการนำเสนอทำนอง ด้วยการเล่นแบบบล็อกคอร์ด ฟังสบายๆ ในขณะที่ While We’re Young เป็นเดี่ยวกีตาร์ โดยไม่มีตัวช่วย

ในการเล่นเพลงสแตนดาร์ดเหล่านี้ เราจะสังเกตุเห็นได้ว่า เวสให้ความเคารพในแนวทำนองของครูเพลงเป็นอย่างมาก ไม่ถือวิสาสะบิดเบี้ยวทำนองที่ลงตัวดีอยู่แล้ว ให้ผิดเพี้ยนไป จนไม่หลงเหลือเค้าเดิม อย่างศิลปินแจ๊สบางคน พอขึ้นเพลงมาได้ยังไม่จบท่อน ก็ลุยอิมโพรไวส์เลย แต่เวสจะย้ำทำนองหลัก จนจบเพลงก่อน แล้วค่อยอิมโพรไวส์ ถ้าเราคุ้นเคยกับเพลงเหล่านั้น ก็สามารถร้องตามไปกับเมโลดี้ได้เลย

นอกจากจะได้สัมผัสกับความมหัศจรรย์ ในฝีมือเหนือมนุษย์แล้ว เรายังจะได้ชื่นชมกับความสามารถ ในการแต่งเพลงหลากหลายลีลาของเขาด้วย Four On Six และ West Coast Blues นับเป็นเพลงเด่นที่สุดของชุด และเป็นแบบอย่าง แสดงให้เห็นถึงสไตล์การเล่นกีตาร์ที่ลงตัวสวยงาม มีการผูกประโยคทำนอง ด้วยมุขไม่เคยซ้ำตัวเอง มีสัมผัสคล้องจอง เหมือนได้ฟังการด้นกลอนสด ลักษณะฟอร์มการด้นของเวส มีขั้นตอน ระเบียบแบบแผน ที่จัดเตรียมวางผังไว้เป็นอย่างดี โดยปกติแล้ว เขาจะเริ่มปูทางจากแนวทำนองเดี่ยวก่อน แล้วค่อยเพิ่มความเข้มข้นช่วงกลางด้วยสายคู่ ไปบรรลุถึงจุดไคลแม็กซ์ด้วยบล็อกคอร์ด หลังจากนั้น จึงค่อยสรุป ร่อนลงอย่างสวยงาม

ไปฟังเวส เล่น Four On Six ใน YouTube กัน





D-Natural Blues เป็นอาขยานการเล่นสโลวบลูส์ สำเนียงแจ๊ส ที่ครูเคยให้เป็นเพลงการบ้านแกะลูกโซโล สมัยที่ผมเรียนกีตาร์แจ๊ส ได้ใช้เป็นส่วนหนึ่งของลูกหากิน มาจนถึงทุกวันนี้ เวสเปลี่ยนบรรยากาศมาให้ความรื่นเริงสดใส ในลีลาลาตินแนวรุมบ้าด้วย Mister Walker และเร่งจังหวะให้เร่าร้อน คึกคัก ขึ้นไปอีกใน Twisted Blues

อุปนิสัยส่วนตัวของเวส เป็นคนสมถะ รักครอบครัว เป็นคนนิสัยดี ไม่เคยว่าร้ายใคร ไม่หลงตัวเอง เป็นที่รักใคร่ของทุกคน ใครๆก็อยากร่วมงานด้วย แต่กับตัวเขาเองแล้ว เวสจะเรียกร้องความเป็นเลิศจากผลงาน เพื่อความสมบูรณ์สูงสุด ในเนื้องานอย่างไม่มีการหยวน ด้วยความที่เป็นคนพิถิพิถันในการทำงานมาก ไม่เคยพอใจในการเล่นของตัวเอง เวลาทำงานในสตูดิโอ เขามักจะขออัดเสียงใหม่อยู่เรื่อย ไม่ยอมรับฟังคำของผู้ร่วมงานทุกคน ที่บอกว่า เขาเล่นได้ยอดเยี่ยมแล้ว บางครั้ง เมื่อถึงเวลาเลือก take สำหรับลงแผ่นมาสเตอร์ ก็ก่อให้เกิดความยุ่งยากใจไม่น้อย เพราะดีสูสีกันมาก ถึงกับต้องใช้วิธีเอาเหรียญมาโยนหัวโยนก้อยตัดสิน บางเพลงก็ไม่มีโอกาสคลอดออกมา ให้คนนอกสตูดิโอได้ฟังกัน เพราะความจำกัดเนื้อที่ความจุ ของร่องแผ่นเสียงแห่งเทคโนโลยียุคนั้น อัลบั้ม The Alternative ออกมาในปี 1982 คือ ผลพลอยได้จากความจู้จี้ของเวส 14 เพลงของชุดนี้ เป็น take อัดเผื่อเลือก สำหรับอัลบั้มชุดต่างๆ ของ Riverside ที่เวสไม่ยอมปล่อยให้ผ่านออกไปเป็นแผ่นเสียง ยกเว้น Born To Be Blue เพลงเดียว

ช่วงเวลาสี่ปีกว่าที่เวส สังกัดริเวอร์ไซด์ เขามีผลงานภายใต้ชื่อตัว ในฐานะศิลปินนำร่วม และในฐานะศิลปินรับเชิญ ประกบกับ Cannonball และ Nat Adderley, Milt Jackson, Harold Land และ George Shearing รวมทั้งหมด 12 อัลบั้ม มาสเตอร์เหล่านั้นได้ถูกชำระใหม่ รวบรวมมาอยู่ในกล่องเดียวกัน ภายใต้ชื่อ The Complete Riverside Recordings (Riverside 12RCD-4408-2) ถ้าใครอยากจะเจาะลึก ฟังเวสให้เต็มอิ่ม จุใจ กับเกือบ 14 ชั่วโมงของคอลเล็กชันนี้ ควรจะหาซีดีกล่องนี้ มาเป็นสมบัติไว้ แต่ถ้ามีงบจำกัด ก็ยังยืนยันให้หาซีดีเดี่ยว The Incredible Jazz Guitar (Riverside) และ So Much Guitar (Riverside) เพราะซีดีเวอร์ชันของ While We’re Young ยังไม่ผลิตออกมาในตอนนี้

เวสผู้มีปัญหาเกี่ยวกับความเครียด มีอาการเป็นไมเกรน จนต้องเข้าพบแพทย์ ให้ช่วยบำบัดอาการอยู่บ่อยครั้ง และการขึ้นไปล่องลอยอยู่ในเครื่องบินบนท้องฟ้า เป็นสิ่งที่น่ากลัวมากสำหรับเขา เวสจะหลีกเลี่ยงงานแสดงคอนเสิร์ต หรือเล่นในคลับที่ต้องเดินทางไกล เกินการเดินทางโดยรถยนต์ ถ้ามีความจำเป็นจะต้องนั่งเครื่องบิน ก็จะเป็นทางเลือกสุดท้ายของการเดินทาง อย่างเช่นกิ้กที่ปฏิเสธไม่ได้ในปี 1962 เมื่อเวสได้รับเชิญให้ไปร่วมเล่นกับ John Coltrane ผู้นำแห่งแจ๊สเวลานั้น ที่บาร์ Jazz Workshop เมืองซาน ฟรานซิสโก และแสดงต่อในงานเทศกาลแจ๊สที่มอนเทอเรย์ แคลิฟอร์เนีย ทางฝั่งตะวันตก เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่มีใครบันทึกเสียงการแสดงประวัติศาสตร์เหล่านี้ไว้เลย

หลังจากที่ Riverside เลิกกิจการไปในปี 1964 เวสได้ย้ายไปสังกัดบริษัท Verve ภายใต้การดูแลของ Creed Taylor โปรดิวเซอร์ผู้เล็งเห็นถึงความเป็นไปได้ ของการนำเสนอเสียงกีตาร์ของเวสสู่ตลาดป็อป เทเลอร์วางแนวการเล่นของเวสใหม่ มุ่งไปตามกระแสกลไกตลาดดนตรีป็อป สรรหาเพลงที่คนฟังคุ้นหูกันดีอยู่แล้ว มาเรียบเรียงใหม่ จากปลายพู่กันเสียงของ Don Sebesky อเรนเจอร์ผู้รุ่มรวยไอเดีย ในด้านแต่งแต้มประดิษฐ์ประดอยเพลง ให้เป็นที่เสนาะโสตยิ่งขึ้น

อัลบั้มขายดี ที่เขาอัดให้ Verve ช่วงปี 1965-66 นับได้ว่า เป็นต้นสายของแนวครอสโอเวอร์ ประเภท Smooth Jazz ที่ออกมาเกลื่อนตลาดยุคสหัสวรรษนี้ และเวสโดนแจ็กพอร์ต เงินทองไหลมาเทมาอย่างไม่ขาดสาย กับเพลง Goin’ Out Of My Head ผลงานที่นักฟังเพลงคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ได้รับการโหวตให้เป็นเพลงยอดเยี่ยม ประเภทบรรเลง และเป็นเพลงฮิตยอดนิยมเพลงหนึ่งของวิทยุเอเอ็ม ในปี 1966


ชีวิตในช่วงหลังของเวส เปลี่ยนไปอย่างมาก แนวการเล่นและทัศนคติเกี่ยวกับดนตรีของเขา แทบจะกลับกลายจากหน้ามือ เป็นหลังมือไปเลยทีเดียว เวสกล่าวย้ำว่า เขากำลังเล่นดนตรีป็อป และควรจะมองกันในแนวนี้ เวสโดนสังคมแจ๊สประณาม ในข้อหาประพฤติผิดจรรยาบรรณ ต่ออาชีพศิลปินแจ๊ส ดุจเช่น Louis Armstrong ที่เคยโดนพวกแจ๊สตกขอบลงโทษ ยำกันจนเละ สะบักสะบอมมาแล้ว และเหยื่ออันโอชะรายปัจจุบัน George Benson ทายาททางแจ๊สกีตาร์ของเวส ผู้ไปได้ดีทางป็อปยิ่งกว่าคนแจ๊สใดๆ

เขาเคยรำพันให้คนใกล้ชิดฟังถึงความอึดอัด ที่ต้องมาเล่นเพลงป็อปเอาใจตลาด แต่ก็เป็นสิ่งไม่ยาก ที่จะให้เราเข้าใจว่า ทำใมเขาจึงต้องทำ หลังจากต้องแบกงานสามจ็อบเป็นเวลานาน มีรายได้แค่พอเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว ให้พออยู่รอดไปวันๆ ในที่สุด เมื่อมาเจอขุมทอง พลิกผันจากชีวิตบัดซบ สู่ความอยู่ดีกินดี ก็ต้องรีบกอบโกยเพื่อครอบครัว เอาไว้ก่อน แม้ว่าในช่วงเวลานี้ของเขา เวสจะทำหน้าที่ในฐานะศิลปินผู้นำเสนอเพลง บรรเลงตามรายการที่โปรดิวเซอร์จัดหามาให้ มุ่งเน้นในด้านพานิชย์ดนตรี แต่เขายังคงรักษาความเป็นสุดยอดแห่งแจ๊สกีตาริสต์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม ในยามที่เขาได้อยู่ใกล้ชิดคนดู ในบรรยากาศของแจ๊สคลับ ไม่นำพากับความหงุดหงิดของแฟนเพลงกลุ่มใหม่ ที่ตั้งใจจะมาฟังเขาเล่นเพลงฮิต

เวสรวมทีมอีกครั้งกับลูกทีมของวง Miles Davis คือ Wynton Kelly (piano), Paul Chambers (bass) และ Jimmy Cobbs (drums) ซึ่งเคยร่วมงานกันมาจากชุด Full House อัลบั้มบันทึกจากการแสดงสดที่แคลิฟอร์เนีย เมื่อปี 1962 ครั้งนี้ที่บาร์ Half Note ในนิวยอร์ก ปี 1965 ออกมาเป็นอัลบั้มชุด Smokin’ At The Half Note ให้เราได้สัมผัสตัวตนที่แท้จริงของเวส มอนต์กอเมอรี นี่คือ อัลบั้มชุดบังคับ สำหรับนักเรียนกีตาร์แจ๊สทุกคน เป็นอัลบั้มยุคสังกัด Verve เพียงชุดเดียว ที่คอแจ๊สน้อมรับอัญเชิญขึ้นหิ้งบูชาอย่างเอกฉันท์ Pat Metheny ผู้เตรียมความพร้อม สู่ความเป็นจอมยุทธกีตาร์แจ๊ส แห่งยุคทศวรรษแปดสิบ ด้วยการพกตุนลูกโซโลของเวสไว้เต็มหัว เป็นทุนสร้างฐานสู่ความเป็นแพ็ท เมธีนี ฟันธงให้เป็นแจ๊สกีตาร์อัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เท่าที่เคยมีมา และบทโซโลใน Unit 7 ได้รับการเทิดทูนให้เป็น หนึ่งในสุดยอดแห่งกีตาร์โซโล ที่ได้มีการบันทึกเสียงเป็นหลักฐานเอาไว้

เวสย้ายตามไปอยู่กับครีด เทเลอร์ สังกัด A & M ในปี 1967 ปั่นอัลบั้มขายดีออกมาอีกสามชุด A Day In The Life, Down Here On The Ground และ Road Song งานยุคหลังของ Wes เหล่านี้ ออกมาในแนว Easy Listening หวานแหววยิ่งกว่าที่ผ่านมา ใช้วงเครื่องสาย และเครื่องลม เล่นประกอบอยู่ข้างหลัง”เสียงเพราะ” เน้นทำนองของกีตาร์ แทบจะไม่มีการอิมโพรไวส์หลงเหลืออยู่เลย แต่นักดนตรีตัวประกอบ ไม่ว่าจะเป็นพวกทีมเครื่องเป่า หรือทีมจังหวะอย่าง Herbie Hancock (piano), Ron Carter (bass) และ Grady Tate (drums) ที่เรียกมาใช้บริการก็ยังเป็น แจ๊สตัวจริงทุกคน

เวสกลับมาบ้านอินเดียนาโปลิส หลังเสร็จสิ้นงานทัวร์แสดง เพื่อพักผ่อนอยู่กับครอบครัว เกิดอาการหัวใจวายตายอย่างปุบปับ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 1968 ในช่วงที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง ขณะที่อายุเพียง 45 ปี เท่านั้น

ด้วยเทคนิคที่ลึกล้ำเหลือเชื่อ ผสมกับจินตนาการอันละเอียดอ่อน บวกกับเสียงกีตาร์หวานนุ่มลึก ออกมาเป็นดนตรีที่เพราะพริ้งมีเสน่ห์ ของ Wes Montgomery ที่ใครๆได้ฟังแล้ว ยากที่จะไม่ไหลหลง ทำให้แวดวงของผู้ชื่นชม ในฝีมือของเขาขยายกว้างออกไป ไม่จำกัดแค่เพียงวงการแจ๊สเท่านั้น

ทุกวันนี้ เราจะได้ยินเสียงกีตาร์ที่ได้รับแรงดาลใจจากเวส ในดนตรีเกือบทุกประเภทเป็นประจำ


(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 36 – 37 มิถุนายน - กรกฎาคม ปี 2001 เป็นบทความแรกที่เขียนลงในนิตยสารโอเวอร์ไดรฟ์ )


Saturday, January 23, 2010

Jazz Cool Band

.



ส่งข่าวถึงคอแจ๊สที่อยู่แถวภูเก็ต วันวาเลนไทน์ปีนี้ถ้ายังไม่มีโปรแกรมไปฉลองที่ไหน อันนี้น่าสนใจครับ
(คลิ๊กที่รูป เพื่อดูขยายใหญ่)







แวะเข้าไปชมและฟังการแสดงของวง Jazz Cool Band (JCB) เรียกน้ำย่อยได้ก่อน ที่ http://www.myspace.com/jazzcoolband




เกี่ยวกับวงดนตรี Jazz Cool Band (JCB)


วงดนตรี Jazz Cool Band ประกอบด้วยสมาชิกวง จำนวน 9 คน ซึ่งร่วมงานกันมามากกว่า 10 ปีโดยทั้งหมดอาศัยอยู่ในเมืองมาแซล ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส

นอกเหนือจากการแสดงคอนเสริท์เป็นประจำทุกสัปดาห์ ในเมืองมาแซล, ลียง และปารีส แล้ว JCB Jazz Cool Band ยังให้ความสำคัญในกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมและชุมชนด้วยการแสดงคอนเสริท์การกุศล ซึ่งได้จัดการแสดงในสถานที่ต่างๆทั่วโลก สำหรับประเทศไทย JCB Jazz Cool Band ได้เดินทางมาเปิดการแสดงคอนเสริท์การกุศล 4 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2546, 2548, 2549 และในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 เพื่อหาทุนสนับสนุนกิจกรรมของสภากาชาดไทย (Thai Red cross), สโมสรโรตารีปทุมวัน, องค์กรยูนิเซฟ (UNICEF), มูลนิธิเพื่อสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก (Children Cardiac Surgery Foundation), กองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wild Fund Association), และสมาคมฝรั่งเศสในประเทศไทย (Association Francaise de Bangkok)

รายชื่อสมาชิกวง JCB Jazz Cool band

1. Jean Louis Nguyen Qui Voice & Alto Sax
2. Renee Pellegrin Piano
3. Franck Blanchard Bass
4. Jean Michel Gladieuz Drums
5. Igor Nassonov Trombone
6. Andre Liardet Tenor Sax and Clarinet
7. Jean Claude Haro Trumpet and Buggle
8. Rene Fortune Alto Sax
9. Olivier Labrot Trumpet



.

Friday, January 8, 2010

Intervals (4)



การพลิกกลับของอินเตอร์วัล

(Inversion of Intervals)

ในอีกมุมมองหนึ่งของอินเตอร์วัล คือ ถ้าโน้ตตัวล่างของอินเตอร์วัลย้ายขึ้นไปอยู่อีกหนึ่งอ็อคเท็ฟที่สูงกว่า หรือโน้ตตัวบนของอินเตอร์วัลย้ายลงไปอยู่อีกหนึ่งอ็อคเท็ฟที่ต่ำกว่า นั่นเป็นอินเวอร์ชันของอินเตอร์วัล (Inversion of Intervals) คือ การพลิกกลับของอินเตอร์วัล หรือการกลับหัวเป็นหาง กลับหางเป็นหัว เป็น การสลับตำแหน่งกันนั่นเอง โดยโน้ตล่างขยับขึ้นไปอยู่บน โน้ตบนขยับลงมาอยู่ล่าง

ถ้าเราแม่นยำในการบ่งชี้อินเตอร์วัล จากที่ได้เรียนรู้และฝึกฝนมาแล้ว พอมาถึงเรื่องการพลิกกลับของคู่เสียงนั้น ก็จะเป็นสิ่งที่ง่ายมากๆ เพียงแค่จำกฎ 4 ข้อ ต่อไปนี้

1) ขนาดของอินเตอร์วัลและอินเวอร์ชันจะรวมกันได้เป็น 9 เสมอ คือ อินเตอร์วัลคู่ 3 เวลาพลิกกลับก็จะกลายเป็นอินเวอร์ชันคู่ 6, คู่ 2 พลิกกลับเป็นคู่ 7, คู่ 1 พลิกกลับเป็นคู่ 8 และคู่ 4 พลิกกลับเป็นคู่ 5 เป็นต้น วิชาเลขระดับอนุบาลเลยนะครับ

2) เมเจอร์จะกลับเป็นไมเนอร์ และในทางกลับกัน คือ คู่ไมเนอร์เวลาพลิกกลับก็จะกลายเป็นคู่เมเจอร์ นำกฎข้อที่ 1 มาใช้ร่วมกันก็จะได้ผลทันใจเลย เช่น คู่ 2 ไมเนอร์เวลาพลิกกลับก็จะกลายเป็นคู่ 7 เมเจอร์, คู่ 6 เมเจอร์พลิกกลับก็จะกลายเป็นคู่ 3 ไมเนอร์

3) ออกเม็นเท็ดจะกลับเป็นดิมินิช และในทางกลับกัน กฎข้อนี้เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับกฎข้อที่สอง

4) เปอร์เพ็คก็จะยังคงเป็นเปอร์เพ็คเหมือนเดิม สถานภาพไม่เปลี่ยนแปลง แมัจะถูกพลิกกลับ เช่น คู่ 5 เปอร์เพ็คเวลาพลิกกลับจะกลายเป็นคู่ 4 เปอร์เพ็ค หรือคู่ 1 เปอร์เพ็คเวลาพลิกกลับจะกลายเป็นคู่ 8 เปอร์เพ็ค ซึ่งยังคงสถานภาพเป็นเปอร์เพ็คอินเตอร์วัลอยู่เหมือนเดิม

เรื่องของอินเตอร์วัลและอินเวอร์ชันของมัน ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอีกต่อไป หลังจากได้เรียนรู้ถึงกฎการพลิกกลับของอินเตอร์วัลนี้แล้ว แต่ก็ไม่ควรปักใจเชื่อไปเลยโดยไม่มีการพิสูจน์ ควรเอามาวิเคราะห์ให้เห็นจริงชัดแจ้งด้วยตัวเองอีกครั้งนะครับ จะได้ไร้กังขาไม่มีความแคลงใจอีกต่อไป

แผนผังต่อไปนี้ แสดงถึงอินเตอร์วัล และอินเวอร์ชันของมัน โดยใช้ตัวโน้ต C เป็นโน้ตฐาน



คู่เสียงที่กว้างกว่าอ็อคเท็ฟ
(Compound Intervals)

อินเตอร์วัลที่เราได้ศึกษาผ่านมาแล้ว เป็นซิมเปิ้ลอินเตอร์วัล (Simple Intervals) ทั้งสิ้น นั่นคือ อินเตอร์วัลที่มีขนาดเล็กกว่าอ็อคเท็ฟ ส่วนอินเตอร์วัลที่มีขนาดกว้างกว่าอ็อคเท็ฟ เรียกว่า คอมเปาด์อินเตอร์วัล (Compound Intervals) คือ การรวมตัวของอ็อคเท็ฟและอินเตอร์วัลบางคู่ที่เล็กกว่า สูตรวิธีคิดง่ายๆ คือ บวกเจ็ดรวมเข้าไปกับอินเตอร์วัลคู่เล็ก เช่น คู่ 2 ก็จะขยายเป็นคู่ 9, คู่ 3 ขยายเป็นคู่ 10 และ คู่ 4 ขยายเป็นคู่ 11 เป็นต้น

ตามปกติแล้ว คุณลักษณะของอินเตอร์วัลจะยังคงที่เหมือนกับคู่ขนาดเล็กของมัน เมเจอร์อินเตอร์วัลก็จะยังเป็นเมเจอร์อินเตอร์วัล หรือไมเนอร์อินเตอร์วัลก็ยังเป็นไมเนอร์อินเตอร์วัลเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

มาถึงจุดของการเรียนรู้ตรงนี้ เราได้รับรู้ถึงการเรียกชื่อคอมเปาด์อินเตอร์วัลอย่างเป็นทางการแบบนี้ แต่สำหรับต่อไปข้างหน้าของการวิเคราะห์ศึกษา ที่เกี่ยวพันกับอินเตอร์วัลคู่กว้างเหล่านี้ เขามักจะนิยมใช้เรียกกันเป็นภาษาดนตรีในอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมีความสะดวกและคล่องตัวกว่า คือ เขาจะมองไปในรูปแบบของความสัมพันธ์กับสเกล โดยจะยึดจากลำดับขั้นของเมเจอร์สเกลเป็นหลักในการพิจารณา สำหรับสเกลหรือโหมดอื่นๆ ซึ่งอาจจะติด b หรือ # อยู่ในบางลำดับขั้น ก็จะปรากฎอยู่ในคอมเปาด์อินเตอร์วัลของมันด้วย ลำดับขั้นของสเกลที่จะถูกปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ ให้อยู่ในรูปแบบของคอมเปาด์อินเตอร์วัลในเชิงฮาร์โมนีต่อจากนี้ไป คือ ลำดับขั้นที่สอง, สี่และหก ซึ่งจะกลายเป็นเก้า, สิบเอ็ดและสิบสาม ตามลำดับ เมื่อไปเจอกับอินเตอร์วัลอย่าง m9, A11 หรือ m13 ก็จะเรียกความสัมพันธ์เป็น b9, #11 และ b13

คงจะเข้าใจนะครับ! เพียงแค่บวกเจ็ดเข้าไปในลำดับที่สอง, สี่และหกของทุกสเกลที่เราเจอ ก็จะได้เป็นลำดับเก้า, สิบเอ็ดและสิบสาม ซึ่งเป็นเสียงสีสันสำคัญของทางฮาร์โมนี เราจะได้ศึกษารายละเอียดกันต่อไปในอีกไม่นาน

บางคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมไม่พูดถึงลำดับขั้นที่สาม, ห้าและเจ็ด ในรูปแบบของคอมเปาด์อินเตอร์วัลด้วย ก็เพราะว่า ลำดับขั้นเหล่านี้ คือ คอร์ดโทน หรือเสียงซึ่งเป็นสมาชิกของเซเวนธ์คอร์ด อันเป็นส่วนหลักของฮาร์โมนีอยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆในโครงสร้างแห่งแนวประสานเสียง เราจึงไม่มีความจำเป็นที่จะวิเคราะห์ ให้อินเตอร์วัลเหล่านี้อยู่ในรูปแบบของคอมเปาด์อินเตอร์วัล ในประสบการณ์ของผมเคยได้ยินคนเรียกคู่ 10 อยู่บ้าง นอกจากนั้นเขาก็ไม่ได้ใช้กัน จะเห็นอ้างอิงแต่เพียงในตำราเท่านั้น

ก็เป็นอันว่า อินเตอร์วัลในภาคทฤษฎีจะจบสมบูรณ์เพียงแค่นี้ครับ ลำดับต่อจากนี้ไปจะเป็นเรื่องของอินเตอร์วัลภาคปฏิบัติ ซึ่งจะเป็นด่านอรหันต์สุดโหด ที่จะต้องใช้ความมานะพยายาม อดทน มุ่งมั่น ทุ่มเทในการฝึกฝนอย่างมากมายมหาศาล เพื่อที่จะพิชิตผ่านไปได้ งานนี้อาจจะต้องใช้เวลาเป็นปีหรือหลายปี ก็ยังได้ไม่หมด หรือยังไม่คล่อง แต่ผลที่ได้รับนั้นจะคุ้มค่าสำหรับความเป็นนักดนตรีของคุณ ไม่ว่าจะได้มามากหรือน้อยก็ตาม ถ้าเปรียบเป็นหญิงสาว ก็จะเป็นคนที่จีบยากมากที่สุดคนหนึ่ง ถ้าไม่รักจริงหวังแต่ง ก็คงไม่ทนตื๊ออย่างไม่เลิกรา จนสาวเจ้าใจอ่อนยอมทอดไมตรีตอบรับรักอย่างแน่นอน

อันนี้ก็ต้องท้าพิสูจน์กัน เตรียมความพร้อมไว้ให้ดีนะครับ


(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 100 พฤศจิกายน 2006)