Saturday, July 25, 2009

Partner

.

ในการเรียนรู้สิ่งใดก็ตาม ถ้าเราได้มีผู้รู้คอยเป็นพี่เลี้ยงประกบสอนอย่างใกล้ชิด ก็จะทำให้การเรียนรู้ในสิ่งเหล่านั้นมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และไร้ปัญหา เพราะมีคนช่วยแนะนำแก้ไขให้ ก่อนที่เราจะทำอะไรผิดๆ จนฝังลึกกลายเป็นนิสัยเสีย ที่แก้ยากในภายหลัง ในทางดนตรีก็เช่นกัน การที่เราจะเริ่มหัดเล่นเครื่องดนตรีชนิดใดก็ตาม ถ้าได้เริ่มต้นอย่างถูกต้อง ด้วยการเรียนจากครูผู้เชี่ยวชาญในเครื่องมือเหล่านั้น จะช่วยป้องกันขจัดปัญหาอันไม่พึงประสงค์ ที่จะตามมาโดยไม่รู้ตัวได้มากมายเลยทีเดียว การเล่นเครื่องดนตรีแต่ละชนิดเป็นศาสตร์ที่ละเอียดอ่อนมาก ถ้าเราหัดเล่นมาผิดวิธี และตอกย้ำความไม่ถูกต้องนั้นไปเรื่อยๆโดยไม่รู้ตัว จนติดเป็นนิสัย ก็ต้องมาเสียเวลาแก้กัน ก่อนที่จะก้าวไปข้างหน้า บางคนถึงกับหมดอนาคตทางดนตรีไปเลยก็มี แม้จะมีข้อยกเว้นสำหรับบางคน ที่ลุยเล่นมาแบบผิดๆ จนกลายเป็นมิติใหม่ของการเล่นเครื่องดนตรีชนิดนั้นไป แต่คนพันธุ์พิเศษอย่างนั้นจะมีแค่เพียงหนึ่งในร้อยล้าน หรือพันล้านคนเท่านั้น

เด็กวัยรุ่นในยุคสมัยโลกไซเบอร์ไร้พรมแดนนี้ ได้เปรียบกว่าพวกศิษย์ไม่มีครูทั้งหลายอย่างพวกผม วัยรุ่นยุคซิกตี้อย่างเทียบกันไม่ได้เลย เด็กสมัยนี้จะไม่รู้จักคำว่า ครูพักลักจำ เหมือนคนรุ่นพ่อในยุคก่อนอีกต่อไปแล้ว พวกเขาอยากจะเรียนอะไร แบบไหน จากอาจารย์ดังคนไหน ก็ไปเลือกหาหยิบซื้อ ตามสะดวก เอาแผ่นวีซีดีของอาจารย์นั้นกลับไปให้สอนถึงบ้าน อยากจะให้สอนซ้ำสักกี่เที่ยวก็ได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชั่วโมงเรียนเพิ่ม แต่การเรียนวิธีนี้มีข้อจำกัดอยู่ที่ว่า อาจารย์จะเป็นฝ่ายสอนให้เราได้รับรู้อยู่ข้างเดียว ไม่เปิดโอกาสให้ซักถาม หรือมาคอยชี้แนะ แก้ไข การเล่นของเราเวลาที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ดังนั้น การไปขอคำแนะนำจากคนที่มีประสบการณ์มากกว่าเรา ก็ยังเป็นความจำเป็นที่ไม่ควรมองข้ามได้เลย

เช่นเดียวกับการฝึกหูโดยการท่องเพลงจากเทปของเรา วิธีการฝึกที่ผ่านมาของเรา จะเป็นการฝึกอยู่กับเทป ใช้เทปเป็นครู การฝึกอยู่คนเดียวเดี่ยวโดดๆ บางครั้งเราอาจจะทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นใจขึ้นมาได้เหมือนกัน และที่สำคัญมาก คือ เราเองจะไม่รู้ตัวว่า ที่ฝึกอยู่นั้นมันถูกต้องจริง อย่างที่เราคิดหรือเปล่า สิ่งที่เราคิดว่าทำได้แล้วนั้น บางทีอาจจะได้แค่ในระดับต้น ที่ยังต้องพัฒนาไปอีกมาก การหาคนมาตรวจสอบความถูกต้อง จึงเป็นความสำคัญอย่างยิ่ง ตัวช่วยที่ดีที่น่าจะหาได้ไม่ยากนัก คือ คู่หูผู้ร่วมฝึก หรือ ที่จะเรียกกันต่อไปนี้ว่า Partner ซึ่งถ้าเราเล่นอยู่ในวง ก็พยายามตื๊อเพื่อนร่วมวงนั่นแหละ หรือเพื่อนที่ร่วมเรียนวิชาดนตรีด้วยกันก็ยิ่งดี

การมีคู่หูมาร่วมกันฝึก จะช่วยให้เกิดความก้าวหน้าได้รวดเร็ว และได้ความถูกต้องยิ่งกว่าการฝึกด้วยตัวเอง เรากับพาร์ตเนอร์จะสลับหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องของอีกคนหนึ่ง เป็นการช่วยกันทำการบ้าน คนที่ทำได้แล้ว ก็เท่ากับว่าเป็นการทบทวนเพลง ให้จดจำรู้ซึ้งยิ่งขึ้น ส่วนอีกคนที่ยังทำได้ไม่ดี ก็จะต้องพยายามฝึกให้หนักยิ่งกว่าปกติ เพราะมีคนมาช่วยชี้จุดบกพร่องที่ตัวเองมองไม่เห็น ทำให้รู้ตัวปัญหาที่จะต้องไปขจัดเป็นการบ้าน และยังมีเงื่อนไขเวลาที่กำหนดนัดหมายบังคับไว้ ว่าจะต้องไปต่อเพลงที่ยังไม่ผ่านนี้กับพาร์ตเนอร์ ผู้เริ่มเรียนมาพร้อมๆกัน ซึ่งถ้าเป็นตัวเราเองภายใต้ความกดดันแบบนี้ ก็คงไม่มีใครอยากไปแสดงความไม่พร้อมให้เสียฟอร์ม จริงมั้ยครับ

โดยทั่วไปแล้ว ศาสตร์การท่องเพลงจากเทปนี้ ถ้าเริ่มฝึกพร้อมกัน ก็เหมือนกับออกจากจุดสตาร์ทเท่ากัน เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่เหมือนกันหมด แม้พื้นฐานทางดนตรีจะมาไม่เท่ากันก็ตาม เมื่อตอนที่ผมไปเรียนกับอาจารย์แรน เบลค นั้น เพื่อนร่วมรุ่นเดียวกันมีตั้งแต่เด็กวัยรุ่นที่เพิ่งจบจากไฮสคูลมาหมาดๆ นักดนตรีอาชีพ ครูสอนดนตรี นักศึกษาแขนงอื่น นักศึกษาวิชาดนตรี ไปจนถึงนักศึกษาปริญญาโท ที่จบปริญญาตรีทางดนตรีจากสถาบันมีชื่อเสียง มาจากที่ต่างๆหลายมุมโลก แต่ท่านอาจารย์จะถือว่า ทุกคนที่มาเข้าเรียนคอร์ส Aural Training ในแนว Third Stream นี้ อยู่ในสถานภาพของผู้เริ่มต้นนับจากหนึ่งเท่ากันหมด คือ เป็นวิชาใหม่สำหรับทุกคน

เมื่อทุกคนได้เพลงการบ้านแล้ว ในช่วงแรกที่นักศึกษายังไม่คุ้นเคยกัน อาจารย์จะช่วยแนะนำจับคู่หาพาร์ตเนอร์ให้ก่อน ระยะต่อมาก็จะมีการเปลี่ยนสลับพาร์ตเนอร์ในกลุ่มกันบ้าง คนไหนที่ทำได้ดี อาจารย์ก็จะแนะนำให้ไปช่วยเพื่อนคนที่มีปัญหา เราจะได้เรียนรู้อะไรมากมายจากการฝึกร่วมกับพาร์ตเนอร์ กว่าการฝึกแบบหัวเดียวกระเทียมลีบหลายเท่าตัวเลยทีเดียว ถ้าเราได้เจอพาร์ตเนอร์ที่เก่งกว่า ก็จะเป็นฝ่ายได้รับมากกว่าให้ หรือแม้จะฝึกกับพาร์ตเนอร์ที่อ่อนกว่าเรา ก็ยังมีสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้ได้เรียนรู้เช่นกัน

รีบหาพาร์ตเนอร์มาช่วยกันฝึกให้ได้ จะเป็นสิ่งที่ดีมากๆเลยครับ


(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 78 มกราคม 2005)


Thursday, July 9, 2009

Watermelon Man


ในปี 1963 กระแสลาตินแจ๊สถูกปลุกให้กระหึ่มลำโพงวิทยุ ไม่ว่าจะหมุนหน้าปัดหาคลื่นไปทางไหนก็หนีไม่พ้นเพลง Watermelon Man ผลงานแผ่นซิงเกิ้ลของ Mongo Santamaria นักตีกลองคองก้าจากคิวบา เพลงนี้ดังมาก จนใครๆก็ต้องเอามาเล่น และเล่นต่อเนื่องกันมา ไม่มีที่ท่าที่จะเลิกรา บ้านเราตอนนี้คนรู้จักมากขึ้น จากโฆษณาทางทีวีชิ้นหนึ่ง ที่นำเอาไปเป็นเพลงประกอบ ซึ่งทำให้คนทั่วไปรู้จักคุ้นเคยกับทำนองเพลง แต่ไม่รู้ว่าเป็นเพลงอะไร?

วงการแจ๊สวันนี้ ไม่มีใครไม่รู้จัก
Herbie Hancock ศิลปินใหญ่ผู้มีความสามารถรอบตัว ปราดเปรื่องทั้งในเชิงเปียโนแบบอคุสติก เล่นกันเพียวๆโดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องขยายเสียง ไม่ว่าจะเป็นการโชว์เดี่ยว เล่นคู่ หรือร่วมกับวง ไม่เกี่ยงในสไตล์ดนตรี จะเป็นฟั้งก์ แจ๊สหรือคลาสสิกก็รับได้ทั้งหมด และเขายังแบ่งใจไปฝักใฝ่ในเสียงสังเคราะห์บันดาลผ่านคีย์บอร์ด อยู่ในระดับแถวหน้าของแนวฟิวชันและอีเลคโทร แฮนคอกสลับเส้นทางดนตรีกลับไปกลับมาระหว่างแจ๊สและฟั้งก์ ด้วยความรักพี่เสียดายน้อง สร้างความหงุดหงิดให้กับแฟนเพลงพันธุ์แท้ของทั้งสองสไตล์เป็นอย่างมาก แต่สำหรับใครที่ชอบทั้งสองสไตล์เหมือนแฮนคอกก็คงสบายใจไร้ปัญหา มีแต่ได้กับได้

Herbie Hancock เป็นคนชิคาโก เกิดก่อนวันสงกรานต์หนึ่งวัน ในปี1940
พอเริ่มหัดเปียโนตอน 7 ขวบ ก็ฉายแววเก่งออกมาเลย ได้โชว์ Piano Concerto in D Major ของ Mozart ร่วมกับ Chicago Symphony เพียงอีกสี่ปีต่อมา แฮนคอกเรียนคลาสสิกเปียโนจนถึงอายุ 20 แต่ได้แบ่งใจให้กับแจ๊สตั้งแต่สมัยมัธยมปลาย ในปี 1956 เขาเข้าเรียนวิศวกรรมศาสตร์ ที่ Grinnell College รัฐไอโอวา พอเรียนจบก็กลับบ้าน ได้งานเล่นกับนักทรัมเป็ต Donald Byrd ผู้อุปการะแฮนคอกในช่วงต้น ช่วยวิ่งเต้นค่าย Blue Note จนได้อัดเสียงอัลบั้มแรก Takin' Off ในปี 1962 แฮนคอกแต่งเพลงเองทั้งหมด ได้นักทรัมเป็ตดาวรุ่ง Freddie Hubbard และ Dexter Gordon เทเนอร์แซกฝีมือเยี่ยม ผู้เพิ่งผ่านมรสุมชีวิตมาหลายลูก มาช่วยเป็นเสียงนำ มือเบส Butch Warren และมือกลอง Billy Higgins มาคุมจังหวะ

Watermelon Man เป็นเพลงเปิดอัลบั้มเล่นในลีลาฮาร์ดบ็อปของค่ายบลูโน้ต ซึ่งวางแนวทางโดยนักเปียโน Horace Silver อาจารย์ใหญ่ของสไตล์นี้ ขึ้นต้นเพลงด้วยทำนองหลักสองเที่ยว แล้วผลัดกันโซโล่คนละสองเที่ยว เริ่มจากเฟร็ดดี้ ส่งต่อให้เด็กซ์เตอร์และตามด้วยเฮอร์บี้ แล้วกลับเข้าหัวเพลงอีกสองเที่ยว เป็นอันจบ ดูแล้วพวกเขาจะเล่นกันในลักษณะไม่ได้เตรียมการล่วงหน้า พอไปเจอกันที่สตูดิโอ เฮอร์บี้คงแจกลีดชีด(Lead Sheet)ให้คนละแผ่น นัดแนะหัวเพลงท้ายเพลง คิวโซโล่ของแต่ละคน แล้วลุยกันเลย บทโซโล่ของแต่ละคนไม่โดดเด่นพิเศษ ฟังแล้วผ่านหู จะติดหูก็เฉพาะท่วงทำนองหลัก





หลังจากเสร็จงานของตัวเองไม่นานนัก มือแซ็ก Pat Patrick ชวนแฮนคอกผู้เป็นเพื่อน ให้ไปช่วยเล่นในวง Mongo Santamaria แทน Chick Corea นักเปียโนประจำวง ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาฝึกบินเช่นเดียวกับเขา งานเล่นคืนนั้นมีแขกน้อย นักดนตรีเลยชวนกันหาเพลงมาแจมแก้เซ็ง แฮนคอกงัดเอา Watermelon Man มาร่วมกับเขาด้วย มองโกเกิดชอบใจเอาไปอัดเสียง ออกเป็นซิงเกิ้ลมาในเดือนมีนาคม ปี 1963 ใต่ขึ้นชาร์ตอย่างรวดเร็วจนติดอันดับทอปเท็น แจ้งเกิดให้กับทั้ง Mongo Santamaria และ Herbie Hancock อีกทั้งยังเป็นการเปิดศักราชยุคเฟื่องของ Latin Soul ซึ่งบางครั้งก็เรียก Popcorn หรือ Boogaloo ส่วนเพลง Watermelon Man เอง ก็ได้รับการตอบรับจากศิลปินแจ๊สเป็นอย่างดี มีการนำไปอัดเสียงกันมากมายหลายเวอร์ชัน ขึ้นทะเบียนเป็นเพลงสแตนดาร์ดไปโดยอัตโนมัติ

Watermelon Man
เวอร์ชันดังของนักคองก้า Mongo Santamaria มีความยาวเพียงแค่ 2 นาที 26 วินาที ซึ่งเหมาะกับเวลาออกอากาศทางวิทยุ Rodgers Grant เคาะเปียโนเพทเทิร์นคอร์ดขึ้นเพลงพร้อมกับแผงเครื่องเคาะ 4 ห้อง ปูทางให้ทีมเครื่องเป่าทำนองในแบบเบ่งเสียง โดยมีหางเครื่องคอยส่งเสียงแซว ฟังดูกวนๆ แต่เป็นสีสันให้ความคึกคักดี Marty Sheller นักทรัมเป็ตมือเยี่ยมแนวลาติน เริ่มโซโล่หลังจบทำนองสองเที่ยว โดยแซ็กคู่ของ Pat Patrick และ Bobby Capers เป่าริฟฟ์ตอบรับ เป็นโซโล่ชุดเดียว ที่เตรียมการมาก่อน เรียบง่าย ลงตัว ลูกสวยและติดหู จากนั้นกลับไปเล่นทำนองหนึ่งเที่ยว แล้วค่อยๆ เฝดหายไป

Poncho Sanchez
นักคองก้าหัวแถวของวันนี้ ยังคงทะนุบำรุงลีลาเดิมไว้อย่างดี ใน Conga Blue (1995) ซึ่งได้เชิญมองโก ซันตามาเรียมาร่วมแจมโชว์เดี่ยวลีลารัวคองก้าปิดท้ายเพลงด้วย แต่นักดนตรีเล่นกันคึกคักกว่า ใน Latin Soul (1999)

Herbie Hancock
หวนกลับมารีไซเคิล Watermelon Man อีกครั้งในปี 1973 ด้วย Head Hunters (1973) เขาตั้งโจทย์ถามตัวเอง ว่าทำอย่างไรถึงจะฟั้งก์ เมื่อได้ข้อสรุปว่า น่าจะอยู่ที่ตัวคุมจังหวะ จึงจัดการจ้างมือเบส Paul Jackson Jr. และมือกลอง Harvey Mason, Sr. คนแจ๊สรุ่นใหม่ที่โตมากับฟั้งก์ มาสมทบกับ Bennie Maupin นักเป่าแซ็กจากทีมเก่า และนักเคาะเพอร์คัสชัน Bill Summers พอแก้ปัญหาถูกจุด ก็แจ็กพอตได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำแผ่นแรกของแจ๊สทันที ซึ่งเผลอแพล่บเดียว เวลาผ่านไปกว่า 30 ปีแล้ว แต่เมื่อมาฟังทบทวนใหม่ตอนที่เขียนนี้ ยังได้ความสด ใหม่ เป็นบรรทัดฐานสำหรับเวอร์ชันหลังที่ตามมา อย่างของราชาออร์แกน Jimmy Smith บุกเบิกเสียง Hammond B-3 ให้เป็นที่ยอมรับในสังคมแจ๊สตั้งแต่ทศวรรษห้าสิบ ก่อนที่ลูกวงส่วนใหญ่ใน Damn! (1995) จะเกิดเสียอีก สมิธเคี้ยววอเตอร์เมลอน แมนเล่นเป็นขนมหวาน ด้วยสำเนียงบลูส์ที่อยู่ในสายเลือด แล้วส่งต่อให้ Mark Whitfield ซึ่งฟังแล้วนึกว่าเป็น George Benson คนเล่นคีย์บอร์ดควรเสาะหาเวอร์ชันนี้มาฟังครับ และฟั้งก์เข้าทางวง Fourplay ใน 30 Years of Montreux Jazz Festival (2000) David Benoit นักเปียโนรุ่นใหญ่ของ Crossover Jazz ตีความมาในแบบ Acid Jazz ให้แฟนๆเขาโยกไปกับดริ๊งในมือ ไม่ต้องคิดมาก จากชุด Right Here, Right Now (2003)





นักดนตรีบลูส์ก็นิยมเอา
Watermelon Man มาเล่นเป็นเพลงโชว์ ในแบบมันๆเร้าใจ ปลุกความฮึกเหิมให้กับแฟนบลูส์ในบรรยากาศเล่นสด Albert King เล่นทีไรก็สะใจมันหยดทุกที หาฟังได้จากชุดเด็ด Live Wire/Blues Power (1968) และ Blues at Sunset (1973) และ Albert Live (1979) แล้วลองเปรียบเทียบกับ Buddy Guy ในชุด Hold That Plane (1972) หรือชุด H.R. Is a Dirty Guitar Player (1963) โดยนักกีตาร์แจ๊ส Howard Roberts ถ้าเกิดสงสัยว่าเล่นในแบบโซลจะออกมาเป็นยังไง ก็ต้องฟังเวอร์ชันของเจ้าพ่อโซล James Brown ผมต้องขออภัย ไม่รู้เหมือนกันว่า มาจากอัลบั้มชุดไหน เพลงที่มีอยู่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดไว้ Les McCann นักเปียโนแนวโซลแจ๊ส นำมาเสนอใน Talkin' Verve (1998) ด้วยแนวที่เขาถนัด และ Sly & the Family Stone มาโขยกในแนว R&B ชุด Big Funked Up Hits (2000) มือเปียโนผู้ถนัดเชิงลาติน Michel Camilo มาให้แปลกใจเล็กๆ ด้วยลีลาฮาร์ดบ็อป ใน Thru My Eyes (1996)

Jon Hendricks
ศิลปินแจ๊สแนว Vocalese คนสำคัญ หนึ่งในสมาชิกวง Lambert, Hendricks and Ross ต้นแบบของ The Manhattan Transfer ที่คอแจ๊สวันนี้รู้จักดี Vocalese คือสไตล์แจ๊สที่เอาบทโซโล่เด่นดังของเพลงแจ๊ส มาใส่เนื้อร้อง Jon Hendricks ถอดทำนองและโซโล่เวอร์ชันของมองโก ซันตามาเรีย ให้เราฟังในอัลบั้ม ... In Person at the Trident (1963) และยกทีม Lambert, Hendricks & Bavan ขึ้นเวทีใหญ่ At Newport '63 (1963) ร่วมกับสองศิลปินใหญ่ Clark Terry และ Coleman Hawkins ส่วนนักร้องหญิง Dee Dee Bridgewater ผู้กำลังก้าวขึ้นเป็นเป็นรุ่นใหญ่ มาร้องลีลาฟั้งก์แบบของแฮนคอกใน Jazz a Saint Germain (1998) ถ้าบังเอิญไปได้ยิน Oscar Brown, Jr. ร้อง Watermelon Man ใน Sin & Soul...And Then Some (1960) แล้วรู้สึกว่า เป็นคนละเพลงเดียวกัน ก็ไม่ผิดครับ ของคุณออสการ์ เขาใช้ชื่อนี้มาก่อน


ในเชิงวิเคราะห์สำหรับนักศึกษาดนตรี Watermelon Man เป็นเพลงบลูส์ 16 ห้อง ซึ่งแตกต่างจากฟอร์มเพลงบลูส์ทั่วไปในช่วงท้ายเพลง เทียบกับ Basic Blues Form เราจะเห็นได้ชัดว่า 10 ห้องแรกนั้นยังรักษารูปแบบทางคอร์ดอย่างเคร่งครัด จะผิดเพี้ยนออกไปก็เพียง 6 ห้องหลัง ซึ่งความจริงก็ไม่ได้ผิดปกติอะไรมาก เพียงแค่ชะลอตอนจบด้วยการแทรกเพิ่มเข้ามา 4 ห้อง ด้วยคอร์ดห้า(V) และคอร์ดสี่(IV) อย่างละห้อง 2 ชุด พูดให้(น่าจะ)ง่ายเข้า ตามความรู้สึกของคนเล่นดนตรี โดยปกติถ้าเราเล่นคอร์ดส่งจากคอร์ดห้าตามมาด้วยคอร์ดสี่แล้ว เป้าหมายของคอร์ดต่อไปคือ คอร์ดหนึ่ง แต่ Watermelon Man กลับยื้อหน่วงเหนี่ยว ย้อนกลับไปคอร์ดห้าอีกสองเที่ยว ก่อนที่จะยอมจอดป้าย

ในส่วนของทำนองมีประโยคทำนองหลักเพียง 2 ประโยค ซึ่งฟังติดหู ร้องติดปาก เป็นความชาญฉลาดในการบริหารตัวโน้ตได้อย่างทรงประสิทธิภาพและประหยัดของคนแต่งเพลง วิเคราะห์สเกลที่ใช้ ประมาณว่าเป็นดอเรียนโหมด (Dorian) คือ ใช้ตัวโน้ตในโหมดดอเรียนเกือบครบทั้งหมด ขาดเพียงลำดับที่สี่

สำหรับสเกลที่จะใช้โซโล่กับทางคอร์ดของเพลงนี้ ซึ่งเป็นเพลงบลูส์ เราก็ใช้สเกลบลูส์ธรรมดา (1, b3, 4, 5, b7) ที่ใช้กับเพลงร็อกทั่วไปนี่แหละ เล่นเข้ากับคอร์ดดอมิเนนท์เซเวนธ์อยู่แล้ว

ในส่วนที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของ Watermelon Man คือ สองโน้ตแรกของทำนองมีความสัมพันธ์กันเป็นคู่เสียง (Interval) ไมเนอร์เซเวนธ์ขาลง (Descending Minor Seventh) มีประโยชน์มากสำหรับการฝึกหู เป็นคู่เสียงที่หาเพลงต้นแบบยากคู่หนึ่ง เป็นของฝากสำหรับคนที่ยังฝึก Aural Training อยู่

มีโอกาสจะกลับมาเขียนเรื่องราวของเพลงสแตนดาร์ดต่อครับ


(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 88 พฤศจิกายน 2005)

Monday, July 6, 2009

First Aural Training Lesson


กลับมาประจำการที่บล็อกแล้วครับ ผมหายไปจากหน้า
จอคอมพิวเตอร์ตัวเก่งหลายวัน ขออภัยแฟนประจำที่เข้ามาเยี่ยมแล้ว ไม่มีบทความใหม่อัพโหลดให้อ่าน

ผมได้มีโอกาสกลับไปเยี่ยมอาจารย์ Ran Blake อีกครั้งที่บอสตัน เมื่อปลายปี 2002 ท่านยังพำนักอยู่ที่คอนโดมิเนียมหลังเดิม แถวบรูคไลน์ ซึ่งผมเคยช่วยขนของย้ายบ้านให้ท่าน เมื่อราวยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ท่านยังคงเป็นศาสตราจารย์สติเฟื่อง ผู้สมองไม่เคยว่างเว้นจากดนตรี ยังคงเป็นครูผู้เปี่ยมไปด้วยความเมตตา คอยช่วยเหลือและห่วงใยในบรรดาศิษย์ทั้งหลาย ยังคงเป็นเพื่อนผู้เปี่ยมด้วยน้ำใจสำหรับทุกคนที่รู้จัก ยังโปรดปรานทานอาหารไทย เพื่อเพิ่มความเผ็ดร้อนให้กับชีวิต เหมือนดนตรีของท่านที่ต้องปรุงรสด้วยคู่เสียงเผ็ดหู จานโปรดพิเศษของท่าน คือ สะเต๊ะไก่ ต้มข่าไก่ และพล่ากุ้ง เผ็ดกลาง เวลาของท่านก็ยังคงรัดตัวด้วยงานต่างๆมากมาย มีเวลาจำกัดสำหรับการนัดหมายพบปะ ซึ่งเลขาฯส่วนตัวที่คณะ Contemporary Improvisation แห่ง New England Conservatory ได้ติดต่อนัดหมายให้ผมไปเจอในเวลาที่ท่านเสร็จสิ้นจากการสอน ท่านพาผมและภรรยาไปทานอาหารไทยแถวใกล้บ้าน โดนท่านต่อว่าว่ามาอยู่น้อยวันเกินไป ทำให้ได้เจอกันเพียงช่วงสั้น ได้พบปะพูดคุยและทานอาหารกันไปราวชั่วโมงกว่า ท่านก็ต้องขอตัวไปทำงานต่อ ผมได้ถามท่านว่า นอกจากตัวผมแล้ว ท่านยังมีศิษย์คนอื่นๆ ที่เป็นคนไทยอีกหรือเปล่า ท่านตอบว่า ยังไม่มีเลย ผมเลยเรียนท่านว่า ผมได้ไปเผยแพร่ถ่ายทอดแนวการฝึกหูแบบ Third Stream ที่เมืองไทยอยู่บ้างเหมือนกัน แต่แค่เจอด่านแรกก็จอดกันเสียแล้ว ถ้ามีโอกาสก็จะพยายามสอนต่อไปอีก เผื่อจะไปเจอคนที่สนใจจะเรียนรู้อย่างจริงจังบ้างในอนาคต

มาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ ก่อนอื่นต้องเตรียมอุปกรณ์การเรียนกันก่อน อุปกรณ์การเรียนหลัก คือ เครื่องเทปคาสเส็ตต์แบบพกพา ประเภททนทานต่อการใช้งานอย่างสมบุกสมบัน รุ่นที่มีไมโครโฟนอยู่ในตัว ใช้อัดเสียงได้ด้วย เครื่องเทปนี้ควรจะลงทุนซื้อของเกรดดี ที่ใช้งานง่าย คล่องตัว ถ้ามีปุ่มบังคับกรอกลับ(rewind) ที่แตะแล้วถอยหลังได้ทีละนิด ก็จะยิ่งดีมากๆสำหรับการฝึก ซึ่งเราจะต้องใช้กรอเทปกลับกลับมาเกือบตลอดเวลาของการฝึก เฉลี่ยแล้ววันละสามถึงสี่ชั่วโมง สำหรับปีแรกของการฝึก Aural Training นี้ สำหรับใน พ.ศ.นี้ เราอาจจะใช้คอมพิวเตอร์ ที่มีโปรแกรมเล่นเพลง ซึ่งอำนวยความสะดวกยิ่งกว่าเทปก็ได้ครับ

แฟ้มหรือสมุดบันทึก เป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่ง เพื่อจดบันทึกการเรียนในแต่ละครั้ง และรายละเอียดต่างๆของการฝึก Log Book ที่เราใช้เป็นเหมือนไดอารี่บันทึกความก้าวหน้าในการพัฒนาหูของเรา เมื่อเราได้ผ่านการฝึกฝนไประยะหนึ่ง แล้วย้อนกลับไปอ่านบันทึกที่ต้องต่อสู้อย่างหนัก กว่าจะผ่านด่านเสียงแต่ละด่าน ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง ว่าเราสามารถทำสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะทำได้ เพราะคิดว่าสิ่งนั้น มันจะต้องเป็นพรสวรรค์ที่พระเจ้าประทานมาให้เฉพาะบางคนเท่านั้น แต่ด้วยพรแสวงภายใต้การคุมเข้มของครูผู้เคร่งครัด ไม่ยอมปล่อยให้ผ่าน ทำให้เกิดปาฏิหาริย์ขึ้นกับหูเราได้เหมือนกัน หูเรามีคุณภาพ เกินความคาดฝัน คุ้มค่าที่สุดกับเวลาที่ทุ่มเทลงไปเลยครับ

ในขณะที่เขียนบทความนี้ ผมได้ปัดฝุ่น Log Book ของผมขึ้นมาทบทวนประกอบไปด้วย ความทรงจำเก่าๆเมื่อครั้งที่ยังเรียนอยู่กับอาจารย์แรน เบลค ผุดขึ้นมามากมาย นึกถึงความยากลำบากในการฝึก ที่ต้องนั่งขลุกฟังเทปอยู่นานนับปีเหมือนคนบ้า นึกถึงผลของพัฒนาการทางโสตที่ได้รับในเวลาต่อมา ก็ต้องขออนุญาตย้ำอีกครั้งว่า คุ้มค่าที่สุดกับเวลาที่ทุ่มเทลงไปเลยครับ

ใครก็ตามที่เล่นดนตรีแล้ว หูไม่สามารถแยกแยะความเพี้ยนของเสียงได้ คนๆนั้นก็ไม่สมควรที่จะมาเป็นนักดนตรี

ในบทเรียนแรกนี้ เมื่อกดปุ่มอัดเทปแล้ว อาจารย์แรนจะเล่นเปียโน ทำนองเพลงสั้นๆ ประมาณ 5 – 6 เพลง เพื่อเป็นการบ้านให้เราไปท่องจำมาร้องให้อาจารย์ฟังในอาทิตย์หน้า เพลงแรกที่ต้องไปท่อง B.L. จะเป็นทำนองเบส มือซ้ายของเปียโน ตอนหลังถึงรู้ว่า B.L. นั้นก็คือ Bass Line ของเพลง Don’t Explain ที่เราต้องท่องทำนองในบทเรียนแรกนี้ด้วย สี่ตัวโน้ตแรกของ B.L. ขึ้นต้นด้วย C B Ab และ G ลองเล่นโน้ตชุดนี้ ตัวละหนึ่งจังหวะ แล้วร้องตาม จะรู้สึกว่าร้องไม่คล่องปาก เพราะไปสะดุดที่ตัวโน้ต Ab ซึ่งเป็นอุปสรรคแรกของบทเรียนนี้ ปกติเราจะชินกับเสียงของชุดโน้ต C B A G มากกว่า

เพลงที่สอง Go เป็นเพลงเน้นสัดส่วนจังหวะในช่วงแรก และลงท้ายด้วยทำนองล้อกันในวลีต่างระดับเสียง ที่เราจะต้องพิชิตความเพี้ยนให้ได้

ลำดับต่อมา Left Alone ผลงานของ Mal Waldron นักเปียโนหัวก้าวหน้ายุคบุกเบิก ผู้ที่อาจารย์แรน เคยเป็นศิษย์อยู่ระยะหนึ่ง เพลงนี้หาฟังได้จากอัลบั้มชุด Far Cry ของ Eric Dolphy ที่ผิวฟลู้ตได้อย่างยอดเยี่ยมมาก ปัญหาของเพลงนี้อยู่ที่ทำนองช่วงท้ายของท่อน ที่ต้องใช้สมาธิในการแกะด้วยหูอย่างละเอียดในทุกตัวโน้ต จะมั่วผ่านไม่ได้เลย

Vanguard ผลงานของอาจารย์แรนเอง ทำนองไพเราะน่าฟัง แต่แฝงเร้นด้วยโน้ตเท่ห์ ซึ่งเกิดจากการบิดแนวทำนองพื้นๆธรรมดา ให้เพี้ยนออกไปด้วยคู่เสียงเผ็ดร้อน กลายเป็นเพลงร่วมสมัย ฟังง่าย แต่ไม่ธรรมดา ทุกตัวโน้ตของเพลงนี้จะต้องตั้งใจฟังมากขึ้น เพราะมีตัวปัญหาซ่อนอยู่ในแทบทุกประโยคเพลงเลย หาฟัง Vanguard ได้จากอัลบั้ม Rapport ของ Ran Blake เป็นเล่นคู่กับ Anthony Braxton นักเป่าเครื่องลมตระกูลแซกโซโฟนแถวหน้าของแนวฟรีแจ๊ส ซึ่งใช้โซปราโนแซกเป่าเพลงนี้

You Better Go Now ของ Robert Graham คือ เพลงสุดท้ายที่อาจารย์เล่นทำนองสำหรับการบ้าน เพลงนี้ไม่มีด่านที่เป็นขวากหนามน่ากลัวอะไรมาก เป็นเพลงให้ท่องจำเพื่อสะสมคะแนนเก็บ รวบรวมเข้าบัญชีรายชื่อเพลงในกรุเพลงส่วนตัวของเรา ตุนเอาไว้เป็นทุนสำรองสำหรับใช้งานในอนาคต

แต่การบ้านยังไม่หมดเพียงแค่นั้นนะครับ ยังมีเพลงจากชุด Billie Holiday Story (Decca) ของ Billie Holiday อีก 3 เพลงที่จะต้องไปท่อง คือ I’ll Look Around, Deep Song และ Somebody’s On My Mind

บิลลี่ ฮอลิเดย์ คือ นักร้องหญิงสุดยอดตลอดกาลคนหนึ่งของดนตรีแจ๊ส นักร้องและนักดนตรีมากมายได้รับอิทธิพลจากเสียงร้องของเธอ ทุกวันนี้เสียงร้องอมตะของบิลลี่ ฮอลิเดย์ มีวางให้เลือกซื้อมากกว่าช่วงที่เธอยังมีชีวิตอยู่เสียอีก ผลงานที่อาจารย์แรนนำมาเป็นบทท่องจำภาคบังคับ เป็นยุคขาลงของฮอลิเดย์ เธอได้ผ่านจุดสุดยอดแห่งอาชีพไปแล้ว แต่ก็ยังมีเค้าแห่งความยิ่งใหญ่เหลืออยู่ ก่อนหน้าที่จะมาเรียนกับอาจารย์แรน ผมชอบฟังบิลลี่ ฮอลิเดย์อยู่แล้ว แต่ไม่เคยฟังอย่างจริงจังขนาดเอาเป็นเอาตายเกือบทุกวันตลอดทั้งปีเหมือนตอนที่เรียน ฟังกันจนซึมซาบเข้าไปในจิตวิญญาณ เหมือนกับคนที่ไปให้เขาสักรูปอะไรลงบนผิวกาย มันก็จะติดตัวเราไปจนตายอย่างนั้น Good Morning Heartache ของ Billie Holiday เป็นหนึ่งเพลงการบ้านในบทเรียนต่อมา ซึ่งฟังไป ท่องตามไป จนมึนกันไป ถึงกับเรียกชื่อเพลงเพี้ยนกลายเป็น Good Morning Headache ไปเลย

นั่นก็เป็นบทเรียนแรกเกี่ยวกับการเรียน Aural Training ในแบบ Third Stream ของท่านคณบดี Ran Blake ที่ผมได้ไปศึกษามา นำมาเผยแพร่ต่อเพื่อเป็นแนวทางประยุกต์ใช้ ตามความเหมาะสมสำหรับความใฝ่รู้ในแนวดนตรีเฉพาะทางของแต่ละคน ที่ต่างกิเลสกันไป

ซึ่งจะได้ขยายความกันในโอกาสต่อไป


(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 69 มีนาคม 2004)