Sunday, October 7, 2012

The Girl From Ipanema



The Girl from Ipanema (Garota de Ipanema) ได้รับการเชิดชูให้เป็นเพลงที่ดังที่สุด ในบรรดาเพลงบอสซาโนวาทั้งหมด เป็นตัวจุดประกายปลุกกระแสความคลั่งไคล้ในลีลาดนตรีบราซิเลียนไปทั่วโลก ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษหกสิบ จากผลงานของนักแซ็กโซโฟนแจ๊ส Stan Getz ร่วมกับศิลปินชาวบราซิล Joao Gilberto โดยมีนักร้องสาว Astrud Gilberto เป็นผู้ขับขาน ในอัลบั้ม Getz/Gilberto (1963) นอกจากนั้นยังคุยต่อได้อีกว่า ถ้าไม่นับเพลง Yesterday ของ The Beatles ซึ่งครองแชมป์ในฐานะเพลงที่ได้รับการบันทึกเสียงมากที่สุดในโลกแล้ว The Girl from Ipanema ก็ไม่เป็นรองใครอีก


มารู้จักกับเพลงดังนี้เป็นฉากๆกัน

คนแต่ง



Antonio Carlos Jobim คือ ตำนานที่ยิ่งใหญ่สุดของบอสซาโนวา เขาเป็นคีตกวี, นักเรียบเรียงเสียงประสาน,  นักร้อง, นักเปียโน และนักกีตาร์   มีผลงานที่ได้รับการยกย่องขึ้นทำเนียบเพลงดีเด่นมากมาย เพลงของเขาเป็นส่วนสีสันของเพลงสแตนดาร์ดที่นักดนตรีนิยมเอามาเล่น และคอเพลงมีระดับชมชอบเสพ  เขามีชื่อจริงว่า Antonio Carlos Brasileiro de Almeida Jobim  ( เกิด 25 มกราคม 1927 สถานที่ Rio de Janeiro   ตาย 8 ธันวาคม1994  สถานที่ New York City) มักจะเป็นที่รู้จักกันดี ในชื่อเล่น Tom Jobim ซึ่งคนบราซิลเขาอ่านกันว่า โทน  แม่เห็นแววดนตรีตั้งแต่ยังเด็ก เลยเอาไปฝากตัวเรียนเปียโนกับครูชาวเยอรมัน Hans Joachim Koellreuter ผู้ลี้ภัยสงคราม ซึ่งมีดีกรีระดับคีตกวี   อาจารย์ได้ปลูกฝังให้ได้ซึมซาบกับผลงานของ Debussy, Chopin, Ravel, Stravinsky, Rachmaninoff และ Villa-Lobos คีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ของบราซิล ซึ่งเป็นเพื่อนกันกับอาจารย์   ต่อมาในช่วงวัยหนุ่ม โจบิมหันมาหลงเสน่ห์แจ๊สแนวคูล อย่างถอนตัวไม่ขึ้น เขาชอบศิลปินเวสต์โคสต์อย่าง Gerry Mulligan, Chet Baker, Barney Kessel  รวมไปถึงนักดนตรีสไตล์คูลคนอื่นๆ ตั้งแต่ช่วงอายุ 20 หนุ่มโทนตัดสินใจเบนเข็มจากความมุ่งหวังที่จะเป็นสถาปนิก หันมาทุ่มเทให้กับดนตรีอย่างเต็มตัว  เริ่มต้นหาประสบการณ์จากไนท์คลับ แล้วค่อยแทรกตัวเข้าไปในห้องอัดเสียง  เริ่มมีคนรู้จักจากผลงานร่วมกับ Vinícius de Moraes ในดนตรีประกอบละคร เรื่อง Orfeo do Carnaval เมื่อปี 1956 ซึ่งภายหลังได้ถูกนำไปสร้างเป็นหนัง Black Orpheus   ต่อมาอีกสองปี João Gilberto นักร้องหน้าใหม่ เสียงนุ่มเสนาะ เอาผลงานของโทนไปนำเสนอในอัลบั้มชุดแรกของเขา กลายเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสดนตรีสายใหม่  เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในเวลาต่อมาว่า บอสซาโนวา   ผลงานเพลงของโจบิมส่งออกนอกประเทศบราซิลสู่หูคนทั้งโลกเป็นครั้งแรกในปี 1962  ในอัลบั้ม Jazz Samba โดยฝีมือการตีความใหม่ของนักเป่าแซ็กเทเนอร์ Stan Getz และนักกีตาร์สายไนลอน Charlie Byrd โดดเด่นด้วยเพลง Desafinado ที่บังเอิญฮิตขึ้นมาด้วยความสดและแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร  เปิดทางให้โจบิมนำทัพยอดนักดนตรีบราซิเลียนขึ้นผงาดบนเวที Carnegie Hall แห่งนครนิวยอร์ก ในปีเดียวกันนั้น  บอสซาโนวาฟีเวอร์ได้ระบาดอย่างหนักไปทุกแห่งหน   งานเพลงของโจบิมเป็นแหล่งขุมทรัพย์ ให้เหล่าศิลปินรุมกันมาตักตวงกันอย่างไม่ขาดสาย  อัลบั้มเพลงบอสซาปั๊มป์ออกมาจนเอ่อล้นตลาด วางทับซ้อนกันเกลื่อนแผงในร้านแผ่นเสียง  จนเทร็นด์ถึงจุดอิ่มตัว แล้วค่อยจางหายไปในช่วงปลายทศวรรษหกสิบ   โจบิมผู้พึงใจอยู่เบื้องหลังโดยนิสัยอยู่แล้ว หันไปจับงานดนตรีประกอบหนังแถวบ้านเกิด จนกระทั่งกลางช่วงทศวรรษแปดสิบ กระแสคลื่นดนตรีบราซิลลูกใหม่ได้หวนกลับมาอีกครั้ง ในฐานะพันธมิตรกับกลุ่มเวิร์ลด์มิวสิก  อาจารย์ใหญ่โทนก็ต้องออกเดินสายอีก ตามคำเรียกร้อง จนกระทั่งไปแสดงอำลาที่คาร์เนกี้ ฮอล ในเดือนเมษายน 1994   ก่อนที่โทนจะปิดฉากชีวิตตัวเองอย่างฉับพลันด้วยโรคหัวใจล้มเหลวในเดือนสุดท้ายของปี 


ความเป็นมาของเพลง

 Heloísa Eneida Menezes Paes Pinto หรือเรียกกันสั้นๆ Helo Pinheiro สาวสวยวัย 18 คือ แรงดาลใจของเพลง The Girl From Ipanema นี้  โดยที่สาวน้อยซึ่งบ้านอยู่ที่ถนน Montenegro เขตละแวก Ipanema ของนคร Rio de Janeiro จะเดินผ่านร้าน Veloso Bar เพื่อจะไปยังชายหาดเป็นประจำทุกๆวัน    เวโลโซบาร์ เป็นจุดนัดพบประจำของสองนักแต่งเพลงหนุ่มคู่หู Jobim และ Moraes ซึ่งมักจะมานั่งแกร่วกินเบียร์กันและเฮฮากับเพื่อนฝูงที่โต๊ะริมทางเท้า พร้อมทั้งฉวยโอกาสเหล่สาวๆที่เดินผ่านไปผ่านมาด้วย   สองหนุ่มเกิดปิ๊งในความงามของละอ่อน Heloísa ที่นวยนาดผ่านไปมาบ่อยครั้ง ทำให้เกิดแรงดาลใจขึ้นมา  ในช่วงเวลานั้น Moraes กำลังแต่งเนื้อเพลงประกอบละครตลก ชื่อเพลง Menina que Passa (The Girl Who Passes By) แต่เนื้อร้องร่างแรกที่ได้มา ไม่เป็นที่ถูกใจของทั้งสองคน  มาลงตัวกับเวอร์ชันใหม่ที่ได้ไอเดียจากสาวสวยนี้ โดยที่กว่าเจ้าตัวจะรู้ว่าเป็นนางเอกในเพลงดัง ก็อีก 2 ปีครึ่งให้หลัง

ณ วันนี้ สถานที่ซึ่งเป็นส่วนร่วมของตำนานเพลงนี้ ได้ถูกเปลี่ยนชื่อให้สอดคล้องกับเพลง  Montenegro Street ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Vinicius de Moraes Street และร้านเหล้า Veloso Bar ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น A Garota de Ipanema แล้วยังมีสวนสาธารณะ Garota de Ipanema Park ใน Arpoador ซึ่งอยู่ใกล้ๆกันด้วย



เนื้อเพลง

เนื้อเพลงดั้งเดิมโดยกวีและนักการทูต Vinicius de Moraes ซึ่งแต่งเป็นภาษาปอร์ตุเกส (มาถึงตรงนี้ ถ้ายังมีบางคนรู้สึกงงๆอยู่ ก็ขออนุญาตไขข้อข้องใจ ว่า ชาวบราซิลนั้นเขาพูดภาษาปอร์ตุเกสกันครับ แต่เดิมนั้น บราซิลเคยเป็นอาณานิคมของปอร์ตุเกสมาก่อน) 







The Girl From Ipanema
(Garota De Ipanema)

Olha que coisa mais linda,
mais cheia de graça
É ela menina
que vem que passa
Num doce balanço
caminho do mar

Moça do corpo dourado
do sol de Ipanema
O seu balançado
é mais que um poema
É a coisa mais linda
que eu já vi passar

Ah, porque estou tão sozinho
Ah, porque tudo e tão triste
Ah, a beleza que existe
A beleza que não é só minha
que também passa sozinha

Ah, se ela soubesse
que quando ela passa
O mundo sorrindo
se enche de graça
E fica mais lindo
por causa do amor

คำแปลที่ถอดความใกล้เคียงกับเนื้อร้องต้นฉบับ จะได้ประมาณนี้

Look at this thing, most lovely
most graceful
It’s her, the girl
that comes, that passes
with a sweet swinging
walking to the sea

Girl of the golden body
from the sun of Ipanema
Your swaying
is more than a poem
It’s a thing more beautiful
than I have ever seen pass by

Ah, why am I so alone
Ah, why is everything so sad
The beauty that exists
The beauty that is not mine alone
that also passes by on its own

Ah, if she only knew
that when she passes
the world smiles
fills itself with grace
and remains more beautiful
because of love




เนื้อร้องภาษาอังกฤษซึ่ง Norman Gimbel รับบรีฟเนื้อหาหยาบๆจากโจบิม แล้วนำมาแต่งใหม่ แทบจะเป็นคนละเรื่องกันเลยกับต้นฉบับ แต่ก็ได้ความลงตัว และคนทั่วโลกก็ยอมรับไปแล้ว








         
Tall and tan and young and lovely
The girl from Ipanema goes walking
And when she passes
Each one she passes goes, ah

When she walks it's like a samba
That sways so sweet and swings so gently
That when she passes
Each one she passes goes, ah

Ooh but he watches so sadly
How can he tell her he loves her
Yes he would give his heart gladly
But each day when she walks to the sea
She looks ahead not at he

Tall and tan and young and lovely
The girl from Ipanema goes walking
And when she passes
She smiles but she doesn't see

Oh, but he watches so sadly
How can he tell her he loves her
Yes, he would give his heart gladly
But each day when she walks to the sea
She looks ahead not at he

Tall and tan and young and lovely
The girl from Ipanema goes walking
And when she passes
She smiles but she doesn't see

She just doesn't see
She just doesn't see
She just doesn't see     
  
ทำนอง


ทำนองเพลง และทางคอร์ดของ Girl From Ipanema ไม่ใช่เพลงหมูๆ สำหรับนักดนตรีเลยนะครับ คนที่จะเล่นเพลงนี้ได้ต้องมีฝีมือและความรู้ทางดนตรีระดับกลางขึ้นไป ฮาร์โมนีในท่อนเวอร์สไม่ซับซ้อนมากสำหรับการด้น แต่จะไปตกม้าตายในท่อนคอรัส   ซึ่งโจบิมแต่งทำนองประโยคเดียว แต่ใช้ซ้ำกันสามครั้ง โดยขยับเสียงขึ้นไป และบิดความสัมพันธ์ของคอร์ดกับเมโลดี้โน้ตแรก ด้วยมุมมองใหม่ต่างจากเดิม ก่อนที่จะกลับไปเข้าร่องเข้ารอยในทางเดินคอร์ดให้คาดเดาได้ 







Girl From Ipanema

Bossa Nova in half-time (4/4  > 2/4)
Key: F major

Verse:
Fmaj7-------G7-------Gm7------- Gb7------Fmaj7----- [Gb7]

Chorus:
F#maj7-------B7-------
F#m7-------D7-------
Gm7-------Eb7-------
Am7---D79b5---Gm7---C79b5

End:
Fmaj7--- Gb7b5 (4X)


ศิลปิน 


ศิลปินที่บันทึกเสียงเพลงนี้ มีมากมายนับไม่ถ้วน  จะขอพูดถึงเวอร์ชันนิยาม ซึ่งเป็นที่แพร่หลายกว่าใครเพื่อน และมีเกร็ดน่าสนใจสำหรับคนรักเพลง The Girl From Ipanema นี้   เซซชันประวัติศาสตร์ครั้งนั้น บันทึกเสียงที่นิวยอร์ก ในเดือนมีนาคม 1963  ภายใต้การนำของ Stan Getz  ซึ่งค่ายแผ่นเสียง Verve ได้ลงทุนอิมพอร์ตศิลปินบอสซาตัวจริงจากบราซิล นักร้องและนักกีตาร์ Joao Gilberto และนักแต่งเพลง Antonio Carlos Jobim มาร่วมเล่นเปียโนให้ด้วย ในระหว่างที่อัดเสียงเพลงนี้กันอยู่  Creed Taylor ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์ของอัลบั้ม Getz/Gilberto นี้ มองเห็นศักยภาพเชิงพาณิชย์ในแนวครอสโอเวอร์  เลยเสนอขอเพิ่มเสียงร้องที่ถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษ  ซึ่งเมื่อกวาดตามองไปทั่วห้องอัดเสียง ก็มีแต่ Astrud Gilberto ภรรยาสาวของ Joao ซึ่งติดตามสามีมาด้วย พอจะพูดภาษาอังกฤษอยู่ได้บ้าง แต่เธอก็ไม่เคยมีประสบการณ์ร้องเพลงในระดับอาชีพที่ไหนมาก่อนเลย  หลังจากสามีร้องเป็นภาษาปอร์ตุเกสในท่อนแรกแล้ว  เป็นคิวของ Astrud ใส่เสียงร้องเนื้อภาษาอังกฤษในท่อนสอง เธอร้องด้วยความเป็นธรรมชาติ บริสุทธิ์ ใส ซื่อ เหมือนเด็กๆ แฝงด้วยความเหงา สำเนียงเหน่อ แต่ฟังแล้วมีเสน่ห์  เมื่ออัลบั้มออกสู่ตลาด  แฟนเพลงตอบรับอย่างท่วมท้นถล่มทลายเหนือความคาดหวัง ทำให้ The Girl From Ipanema ดังมากๆในช่วงหน้าร้อน ปี 1964   แอสตรูด กิลเบอร์โต คนร้องเพลงนี้ แต่โดนมองข้าม ไม่ได้รับเครดิตปรากฏชื่อบนปกอัลบั้มพิมพ์ครั้งแรก พลิกผันชะตาชีวิตกลายเป็นดาวขึ้นมาในทันใด  และ........the rest is history





















(ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร KoolJazz Vol.01 Issue 001 November 2006)



Saturday, September 8, 2012

My Way


ส่งท้ายปีเก่าไปกับเพลง What A Wonderful World เมื่อครั้งที่แล้ว และในปีใหม่นี้ก็ขอให้ทุกท่านยังคงความสดใส มีความสุขกับมุมมองในแง่ดี แง่บวก ตลอดไปนะครับ

เริ่มต้นปีใหม่ 2011 นี้ ผมจะพาไปเจาะลึกกับเพลง My Way ที่คนรุ่นอาวุโสส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกันดี อีกทั้งยังเป็นเพลงเก่งของโกเหลียง ธีระ เคียนโพธิ์ธีระมาตร์ ผู้เป็นเพื่อนรักหล่าวเพ็งอิ้ว (เพื่อนเก่าแก่) ของผม ตั้งแต่สมัยรุ่นฟลายเวตด้วยกัน จนตอนนี้เขาทำน้ำหนักแซงหน้าข้ามไปหลายรุ่น ขึ้นเทียบรุ่นกับโมฮัมเหม็ด อาลีในพิกัดเฮฟวีเวตเรียบร้อยไปแล้ว นอกจากจะเป่าแซ็กโซโฟน และคลาริเน็ตเก่งแล้ว โกเหลียงยังร้องเพลงได้ไพเราะ น่าฟัง ด้วยเสียงทุ้มใหญ่ หนักแน่น ที่เต็มไปด้วยพลัง เข้าถึงอารมณ์เพลง และยังมีจุดเด่นในตัวที่เพิ่มขึ้นมาตามวัย ไม่นับรวมไขมันส่วนเกินที่เป็นแขกไม่ได้รับเชิญแล้ว โกเหลียงยังได้พัฒนาทักษะด้านการเอ็นเตอร์เทน ในเชิงพูดคุย หยอกล้อ สร้างบรรยากาศเป็นกันเองกับคนดู ได้น่าประทับใจมาก


เริ่มกันที่คนแต่งเพลงนี้ พอล แองก้า (Paul Anka) ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเพลง My Way เป็นชาวแคนาดา เชื้อสายเลบานอน เขาเริ่มดังเป็นขวัญใจวัยรุ่นตั้งแต่อายุ 15 ปี ด้วยเพลง Diana ในปี 1957 แล้วตามมาด้วย You Are My Destiny, Lonely Boy, Put Your Head on My Shoulder, Puppy Love และอีกหลายเพลง ซึ่งวัยรุ่นยุคซิกตี้อย่างโกเหลียงและผม จะร้องกันได้ทุกเพลง แล้วแองก้ายังโชว์กึ๋นด้านการแต่งเพลง ผลงานเพลงเปิดรายการทีวี The Tonight Show ซึ่งดำเนินรายการโดย Johnny Carson ได้เอาไปใช้งานคุ้มมาก ทำสถิติเป็นเพลงที่เล่นออกโทรทัศน์มากที่สุด ถึง 1,400,000 ครั้ง ในช่วงเวลา 30 ปี นับตั้งแต่ปี 1962 และเขายังแต่งเพลง She's a Lady ให้เป็นเพลงสุดฮิตของทอม โจน (Tom Jones) นักร้องขวัญใจแม่ยก ก่อนที่จะมาสร้างตำนานเพลง My Way ให้เป็นเพลงลายเซ็นของแฟรงก์ สินาตรา

ในช่วงกลางทศวรรษหกสิบกระแสดนตรีอังกฤษ นำโดยวงบีเติ้ลมาแรงมาก จนเบียดพวกเขาให้ตกยุคไป แองก้าเลี่ยงไปทำมาหากิน ร้องเพลงในบ่อนคาสิโน ปักหลักอยู่แถวลาส เวกัส นานพอสมควร ถือภาษิตรอสิบปีก็ยังไม่สาย เมื่อสบโอกาสก็ฟื้นชีพ เหมือนแมวเก้าชีวิต ดอน สอนระเบียบ กลับขึ้นแท่นท็อปฮิตอันดับหนึ่งในปี 1974 ด้วยเพลง (You're) Having My Baby แล้วตามซ้ำอย่างต่อเนื่องด้วย One Man Woman/One Woman Man, I Don't Like to Sleep Alone และ Times of Your Life ให้เป็นตัวเชียร์แขกอย่างดี สำหรับคอนเสิร์ตในช่วงระยะหลังที่เขาตะเวนแสดงไปทั่วโลก รวมทั้งบ้านเราด้วย อาจจะมีใครบางคนโชคดี ได้ไปสัมผัสศิลปินรุ่นใหญ่คนนี้อย่างใกล้ชิด ในคอนเสิร์ต “พอล แองก้า คลาสสิค โมเม้นท์ส ไลฟ์ อิน แบ็งคอค 2010” เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาแล้วก็ได้

ต้นกำเนิดของ My Way มาจากเพลงฝรั่งเศส Comme d’Habitude ผลงานร่วมของนักร้อง Claude Francois และนักแต่งเพลง Jacques Reveaux ถอดความหมายเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า As Usual ซึ่งถ้าแปลเป็นภาษาไทยคงประมาณว่า “เหมือนอย่างเคย” เนื้อหาของเพลงนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักที่ใกล้จะถึงจุดจบ ซึ่งเป็นคนละเรื่อง (ทำนอง) เดียวกันกับเพลง My Way เลยทีเดียว เพลงนี้ฮิตติดอันดับหนึ่ง ในปี 1967 และคงจะยังเป็นช่วงที่เพลงยังออนแอร์ติดลมบนอยู่ เมื่อพอล แองก้าได้ฟังผ่านหูที่ริเวียรา ช่วงระหว่างไปพักผ่อนที่นั่น ตอนปี 1967 ซึ่งเขาคิดว่ามันเป็นเพลงที่ไม่ค่อยจะได้เรื่องสักเท่าไหร่ แต่มีอะไรบางอย่างที่น่าสนใจแอบแฝงอยู่ในนั้น พอคิดได้อย่างนั้นแล้ว ก็ไม่รอช้า รีบจัดการติดต่อไปยังเจ้าของเพลง เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ ซึ่งคนแต่งเพลงใจดี ยกให้เขาฟรีๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น แองก้าพกเพลงนี้กลับนิวยอร์ก ทิ้งลืมไว้ในลิ้นชัก โดยไม่ได้คิดทำอะไรกับมันเลย จนกระทั่งเกือบสองปีผ่านไป เมื่อเขาได้รับโทรศัพท์จากลูกพี่ใหญ่ แฟรงก์ สินาตรา นักร้องนักเลงผู้มักจะมีข่าวพัวพันกับบรรดามาเฟีย สั่งให้เขาไปทานอาหารด้วยกันที่ฟลอริดา แองก้าไม่รอช้า ไม่ลืมที่จะพกพาสปอร์ตไปด้วย กันเหนียวเผื่อลูกพี่ลากยาว อาจจะไปลงเอยที่ไหนในโลก ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ระหว่างที่กินไปคุยไปกับสินาตรา ซึ่งมีสองเจ้าพ่อมาร่วมโต๊ะด้วย สินาตราระเบิดอารมณ์ออกมา

“อั๊วจะเลิกราจากวงการแล้วโว้ย โคตรเซ็งเลยว่ะ ออกไปจากแม่งเลย”

แล้วหันมาทางแองก้า

“ลื้อจะต้องแต่งเพลงให้อั๊ว ลื้อรับปากมาเป็นปีๆแล้ว ว่าจะแต่งเพลงให้อั๊ว”

แล้วแองก้าก็นึกถึงทำนองเพลงนี้ขึ้นมาทันที บวกกับคำประกาศเกษียณตัวเองของสินาตราที่ยังก้องหูอยู่ เป็นตัวจุดประกาย พอกลับไปนิวยอร์ก เขาดึงโน้ตเพลงนี้ออกมาจากลิ้นชัก เล่นมันกับเปียโน ปรับเปลี่ยนทำนองเล็กน้อย ตอนตีหนึ่งของคืนนั้น แองก้านั่งอยู่หน้าเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า เริ่มเขียนเพลง โดยจินตนาการเสมือนว่าตัวเขาเป็นสินาตราที่กำลังแต่งเพลงนี้อยู่ ย้อนมองถึงชีวิตที่ผ่านมาของลูกผู้ชายคนหนึ่ง สอดแทรกสำนวนภาษานักเลงที่ไม่เคยใช้มาก่อน ให้ได้ความสมจริงสมจังกับบุคลิกภาพของแฟรงก์ พอแต่งเสร็จตอนตีห้า เขาก็รีบโทรไปบอกสินาตรา ถึงเพลงพิเศษสำหรับอัลบั้มส่งท้ายของศิลปินใหญ่ ในชีวิตของคนทำเพลงฮิตมากมาย เป็นครั้งนี้ครั้งเดียวที่แองก้ารู้สึกมั่นใจเต็มร้อย ว่าเพลงนี้ต้องดังแน่นอน เขาบินไปลาส เวกัส ร้องให้สินาตราฟัง ลูกพี่ฟังแล้วขยิบตาให้ครั้งหนึ่ง เป็นที่รู้กัน

“สินาตรา เพิ่งจะทำใจยอมรับได้ ว่าเขาต้องร้องเพลงพ็อพ ที่ตัวเองเกลียด เขายึดเคร่งอยู่กับเพลงสแตนดาร์ด เขาเกลียดเอลวิส และที่ชอบผมเพราะ ผมทำเงินให้พวกเจ้าพ่อในเวกัส”

อีกสองเดือนต่อมา แองก้าก็ได้ฟังสินาตราร้องเพลงของเขาเป็นครั้งแรก ผ่านทางโทรศัพท์ที่สินาตราจ่อหูให้ฟัง นักร้องใหญ่ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงกับการบันทึกเสียง My Way ในวันที่ 30 ธันวาคม 1968 และผลิตออกมาเป็นแผ่นเสียงหลังจากนั้นไม่นาน ตอนต้นปี 1969 แต่เพลงนี้ไม่ประสบความสำเร็จในทันทีอย่างที่คาดหวัง และสินาตราก็ได้อำลาจากวงการบันเทิงอย่างที่เขาเคยบอกไว้ แต่เป็นเพียงช่วงสั้นๆ ในปี 1971 แม้ My Way จะติดชาร์ตแค่อันดับ 27 ในอเมริกาและใต่ขึ้นสูงสุดอันดับ 5 ในอังกฤษ แต่ทำสถิติอยู่ในท็อป 40 นานถึง 75 อาทิตย์ My Wayเป็นเพลงที่ไม่หวือหวา ประเภทมาเร็ว ไปเร็ว แต่เป็นเพลงที่มาแล้ว อยู่นาน นานมากว่า 40 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีทีท่าว่าความนิยมจะเสื่อมคลายลดลงเลย







พอล แองก้าโดนค่ายเพลงต้นสังกัดของเขาต่อว่าอย่างสาดเสียเทเสีย ที่ปล่อยเพลงเด็ดให้สินาตราไป เขาก็สวนกลับไปว่า เขาแต่งได้ แต่ไม่ใช่สำหรับร้องเอง เป็นเพลงเฉพาะสำหรับแฟรงก์เท่านั้น ไม่มีใครอื่น แต่ก็ไม่มีใครเชื่อ มีศิลปินนับร้อยทั้งหญิงชาย เอาไปทำซ้ำกันมากมาย รวมทั้งตัวคนแต่งเองด้วย ตั้งแต่เวอร์ชันต้นแบบเพิ่งออกมาไม่นาน เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยส่วนตัวแล้ว แองก้าชอบเวอร์ชันของ Nina Simone, Shirley Bassey และวง The Gypsy Kings ซึ่งร้องเป็นภาษาสเปน





แองก้าเคยติงเอลวิส เพรสลีย์ ว่าเพลงนี้ไม่เข้าทางของราชาร็อก แต่เอลวิสกลับชอบ My Way มาก เกินกว่าที่จะหักห้ามใจ ปล่อยผ่านไป ใครจะท้วงติงอย่างไรก็ไม่ฟังเสียง เอาไปร้องออกคอนเสิร์ต และออกรายการโทรทัศน์ถ่ายทอดสดทั่วโลกครั้งประวัติศาสตร์ Aloha from Hawaii ช่วงหลังปีใหม่ของปี 1973 ให้คนร่วมพันล้านคนได้ดูการแสดงพร้อมกัน แผ่นซิงเกิ้ลเพลง My Way บันทึกจากการร้องแสดงสดของเอลวิส ออกวางจำหน่ายตอนปลายปี 1977 หลังจากที่เขาเสียชีวิตไปหลายอาทิตย์ ขายดีมากเกิน 5 แสนแผ่น จนได้รับแผ่นเสียงทองคำ เป็นเวอร์ชันที่ดังระดับน้องๆของสินาตรา





และถ้าอยากฟังเวอร์ชันที่แปลก แหวกแนว ประเภทฮาร์ดคอร์ของ My Way ก็นี่เลย เวอร์ชันแบบพังก์ร็อกของวง Sex Pistols ร้องโดยมือเบส Sid Vicious ซึ่งมั่วแต่งเนื้อเพลงเองเสริมไปหลายท่อน เพราะเขาจำเนื้อเพลงจริงได้ไม่หมด





ด้วยเนื้อหาของเนื้อเพลง ที่โดนใจคนฟัง ทำให้ใครๆก็ทึกทัก ยึดเข้าเป็นของตัว ส่งผลให้ My Way กลายเป็นเพลงยอดนิยมอันดับหนึ่ง สำหรับส่งวิญญาณไปสู่ปรโลกในพิธีฝังศพที่อังกฤษ และยังได้กลายเป็นเพลงยอดฮิตสำหรับงานเลี้ยงประเภทเกษียณ, งานเลี้ยงอำลา และฯลฯ อีกทั้งยังเป็นเพลงที่ขาดไม่ได้สำหรับสถานคาราโอเกะ โดยเฉพาะในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่ง My Way ได้กลายเป็นสาเหตุของการทะเลาะวิวาท จนถึงขั้นก่อคดีฆ่ากันตายไปหลายศพ ในต่างวาระกัน ผมคาดเดาว่า เวลาที่คนร้องเพลงนี้ คงจะเป็นอารมณ์แบบเดียวกับเพลง “เย้ยฟ้า ท้าดิน” ที่พอร้องแล้วของขึ้น สร้างความฮึกเหิมให้กับคนที่ร้อง ทำให้เกิดอาการเขม่นจากแขกคนอื่น กลายเป็นโศกนาฏกรรมขึ้นมา จนถึงกับโดนแบนกลายเป็นเพลงต้องห้าม ที่ถูกถอดออกจากรายการ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องน่าเศร้าซ้ำขึ้นมาอีก





ในขณะที่ My Way เป็นเพลงโปรดของแฟนเพลง แต่พวกเขาหารู้ไม่ว่า มันเป็นเพลงเกลียดของสินาตรา ศิลปินผู้ทำให้เพลงนี้ดัง ต้องจำใจร้องเอาใจแฟนเพลงมาตลอดในช่วงบั้นปลาย ที่เพลงนี้ช่วยให้เขากลับมาดังอีกครั้งหนึ่ง ยิ่งรับงานมาก ก็ต้องร้องเพลงบังคับที่ตีแผ่ความเป็นแฟรงก์ สินาตรานี้ทุกครั้ง จนกลายเป็นภาระที่สร้างความเอือมระอามากขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างแสดงคอนเสิร์ตที่อัลเบิร์ตฮอล เมื่อปี 1984 ช่วงที่คนดูปรบมืออย่างกึกก้องหลังเพลงจบ สินาตราถึงกับบ่นพึมพำ เสียงหลุดลอดออกลำโพงให้ได้ยินว่า

“กูละเบื่อเพลงนี้โคตรๆ”

แผ่นหินที่หลุมศพของแฟรงก์ สินาตรา ซึ่งเสียชีวิตในปี 1998 ไม่ได้สลักคำว่า My Way เหมือนกับแผ่นหินของแฟนเพลงนับล้านคนที่ปลื้มกับเพลงนี้ แต่กลับเป็นเพลงฮิตรุ่นเก่าของเขา

The Best Is Yet To Come





(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Phuket Bulletin ฉบับที่ 104 มกราคม 2011)




Sunday, August 5, 2012

What A Wonderful World

.

เสียงประทัด เสียงพลุก็หยุดไปนานแล้ว ตั้งแต่หมดเทศกาลกินผัก แต่เสียงรถหวอก็ยังไม่เคยขาด ยังดังให้ได้ยินทุกวันเป็นแรมปีแล้ว บางวันก็ได้ยินหลายครั้ง เจ้าเสียงพิษที่เป็นเสียงหวอรัวถี่แผดลั่น หรือไม่ก็เกิดจากการผสมของสองเสียงที่ไม่สมพงษ์กัน บันดาลให้เกิดเป็นคู่เสียงกระด้างในทางดนตรี ในระดับความถี่ที่เข้าไปกวนประสาท ฟังแล้วระคายหู แม้แต่หมายังทนไม่ได้ ทำให้มันต้องหอน ร้องขานรับทุกครั้งที่ได้ยิน และในทุกครั้งที่ได้ยินเสียงหวอ ผมจะต้องจินตนาการถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชีวิต ซึ่งน่าจะป้องกันได้ แต่......จะต้องมีอีกกี่ชีวิตที่ต้องสังเวยกับความงี่เง่าของคนที่มีหน้าที่จัดระเบียบสังคม ที่พวกเขาจะตื่นขึ้นมาจัดการให้ภูเก็ตเป็นเมืองน่าอยู่ เหมือนกับที่พวกเขากำลังขายฝันอยู่ และในระหว่างที่พวกเรารอกัน ก็คงต้องทนฟังเสียงหวอไปพลางๆก่อน แต่ว่าอย่าทนรอให้เครียดกันอยู่เลยครับ ไปหาเพลงเพราะๆ มีทัศนะคติที่เป็นบวกฟังกันดีกว่า

What A Wonderful World เพลงที่ใครๆก็รู้จักกันดี เพลงที่ทำให้ผู้คนรุ่นใหม่มากมายได้รู้จักกับหลุยส์ อาร์มสตรอง เพลงที่ใครๆฟังแล้วสบายใจ เพลงที่ผมอยากจะแบ่งปันข้อมูลที่ไปเจาะลึกมา เผื่อว่าจะได้ฟังเพลงนี้ให้ลึกซึ้งกว่าเก่า

ย้อนกลับไปดูปูมหลังของเพลง What A Wonderful World ซึ่งกว่าจะมาเป็นเพลงดังให้คนชื่นชมกันทั้งโลก ต้องเจออุปสรรคอยู่ไม่น้อย ไม่ได้มาแบบราบรื่น สดใส วันเดอร์ฟูลเหมือนชื่อเพลงเลย

เพลงนี้เป็นผลงานร่วมของบ็อบ ไธล์ (Bob Thiele) โปรดิวเซอร์ชื่อดังของแจ๊ส ซึ่งจะเอาชื่อของลุง 4 คน มาผสมกันเป็นนามแฝง สำหรับผลงานแต่งเพลงของเขา เครดิตเพลงนี้เขาใช้ชื่อ จอร์จ ดักลาส (George Douglas) แต่งร่วมกับจอร์จ เดวิด ไวส์ (George David Weiss) นักแต่งเพลงมืออาชีพ ผู้มีผลงานมากมาย ทั้งคู่ตั้งโจทย์ของเพลงใหม่นี้ ให้เป็นการมองโลกในแง่บวก ด้วยความมุ่งหวังสู่อนาคตที่ดีกว่า ในช่วงที่สังคมอเมริกาวุ่นวายด้วยปัญหาต่างๆมากมาย เดิมทีพวกเขาตั้งใจจะแต่งให้โทนี เบ็นเน็ต (Tony Bennett) นักร้องแจ๊สชื่อดัง เป็นผู้ร้อง แต่พอเอาผลงานไปเสนอ กลับกลายเป็นว่า โดนศิลปินใหญ่ปฏิเสธ ไม่ได้ให้ความสนใจกับเพลงที่เรียบง่ายนี้ เลยหน้าแตกกลับไป ต้องเปลี่ยนแผน เอามาให้หลุยส์ อาร์มสตรองร้องบันทึกเสียง ออกวางจำหน่ายเป็นแผ่นซิงเกิ้ล แต่ก็ทำยอดได้ต่ำมาก ขายได้ไม่ถึงพันแผ่น สาเหตุใหญ่มาจากที่เจ้านายใหญ่ของค่ายแผ่นเสียง ABC ดันไม่ชอบเพลงนี้ เลยพาลไม่อนุมัติงบโปรโมต เมื่อเพลงไม่ได้เข้าถึงหูคนฟัง ก็ไม่มีใครรู้จัก ไม่ได้แจ้งเกิดในบ้านตัวเอง แต่ของดีแท้ ย่อมต้องมีคนเห็นคุณค่าจนได้ What A Wonderful World ข้ามฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ไปฮิตติดชาร์ตขึ้นถึงอันดับหนึ่งที่อังกฤษ ทำให้หลุยส์ต้องถูกบันทึกสถิติให้เป็นศิลปินชายที่อายุมากที่สุด ในวัยหกสิบหกกับอีกสิบเดือน และยังเบิ้ลสองเด้งเป็นแชมป์แผ่นเสียงซิงเกิ้ลขายดีที่สุดของปี 1968 อีกด้วย








What A Wonderful World กลับมาดังอีกครั้งหนึ่งในปี 1988 เมื่อถูกนำมาใช้เป็นเพลงประกอบหนัง Good Morning, Vietnam ที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย ซึ่งมีดาราสาวไทย จินตหรา สุขพัฒน์ เข้าร่วมแสดงด้วย รับบทดารานำฝ่ายหญิงประกบพระเอกอารมณ์ดี โรบิน วิลเลียม และถ้าใครตาแหลมสังเกตในชั้นเรียนภาษาอังกฤษเดียวกับคุณแหม่ม จินตหรา ดูดีๆ จะเห็นเจ้าพ่อเพลงรัก บอย โกสิยพงษ์ ในช่วงวัยหนุ่มละอ่อนมานั่งร่วมแจมเป็นนักเรียนด้วย และเท่าที่ผมได้เคยรับทราบมา เกี่ยวกับในส่วนของเพลง What A Wonderful World ของหนังเรื่องนี้ว่า ทีมงานทำหนังมาปิ๊งกับเพลงนี้ที่กรุงเทพฯนี้เอง จนถึงกับเอาไปใส่เป็นเพลงประกอบหนัง และเกร็ดที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ เหตุการณ์ในหนังนั้น จำลองเรื่องที่เกิดขึ้นในปี 1965 แต่เพลงนั้นออกวางขายครั้งแรกในวันปีใหม่ของปี 1968



หลุยส์ อาร์มสตรอง เป็นเสาหลักเสาแรกของดนตรีแจ๊ส เขาเป็นนักด้นต้นแบบ ผู้วางรากฐานให้คนอื่นเดินตามตั้งแต่ทศวรรษที่ยี่สิบ อาร์มสตรองเป็นซูเปอร์สตาร์คนแรกของแจ๊ส เขาเป็นผู้นำแห่งศิลปแขนงใหม่ ที่คนทั้งโลกชื่นชม แม้ในช่วงที่ผ่านยุครุ่งเรืองไปแล้ว เขาได้พลิกผันชีวิตจากนักดนตรีสุดยอดแห่งแจ๊สมาเป็นศิลปินนักรัอง จากเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ใครได้ฟังแล้วมีความสุข แล้วยังเป็นความสามารถเฉพาะตัวที่ช่วยสร้างอาชีพ ให้คนเอาไปลอกเลียนแบบเสียงแหบ และลีลาท่าทางของหลุยส์ ทำมาหากินต่อได้อีกนับจำนวนไม่ถ้วน ด้วยบารมีแห่งดนตรีที่มากล้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะในดนตรีแจ๊สที่เขาถูกตีตราไว้ อิทธิพลของหลุยส์แผ่กว้างครอบคลุมไปทั่วในจักรวาลแห่งดนตรี ถึงกับได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในศิลปินยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ยี่สิบ





แล้วตามผมไปฟังเวอร์ชันอื่นของ What A Wonderful World บ้างครับ

ศิลปินชายจากเกาะฮาวาย Israel Kamakawiwo'ole หรือ Iz นักร้องหุ่นซูโม่ น้ำหนักตัวกว่า 300 กิโลกรัม แต่กลับเล่นยูคูลีลีตัวจิ๋ว เครื่องดนตรีสามัญประจำบ้านของคนฮาวาย ที่รูปร่างเหมือนกีตาร์ แต่ตัวเล็กกว่ามาก และมีแค่ 4 สาย อัลบั้ม Facing Future ในปี 1993 ของอิซ ทำให้คนนอกเกาะได้ลิ้มรสของดีจากฮาวาย เพลงเด็ดที่เขาเริ่มต้นอย่างเรียบง่าย ด้วยการตีคอร์ดยูคูลีลีในลีลาเร็กเกนำร่องมาก่อน ตามด้วยเสียงฮัมทุ้ม นุ่มลึก ก่อนไหลเข้าเพลง Over the Rainbow แล้วเชื่อมเข้า What a Wonderful World อย่างต่อเนื่อง แนบเนียนไร้รอยต่อ นำพาคนฟังให้เข้าสู่ภวังค์แห่งความสดใส สลัดทุกข์ใดๆที่มีอยู่ในขณะนั้นออกไปจากใจ จนไร้กังวล นี่เป็นอีกเวอร์ชันหนึ่งที่ดีและดัง









เค็นนี จี นักเป่าแซ็กโซโฟนเสียงอ้อนสาว อาศัยเทคโนโลยีของการบันทึกเสียงสมัยใหม่พาตัวเขาย้อนเวลาหาอดีต เข้าไปร่วมเล่น What A Wonderful World กับหลุยส์ อาร์มสตรอง ในอัลบั้ม Classics in the Key of G (1999) ซึ่งทำให้แพ็ท เมธีนี นักกีตาร์แจ๊สระดับแนวหน้า รับไม่ได้กับการกระทำเยี่ยงนี้ของเค็นนี จี ซึ่งเขาถือว่าเป็นการลบหลู่ ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง เป็นการบังอาจไปทาบรัศมีกับเสาหลักแห่งแจ๊ส เขาถึงกับออกแถลงการณ์เป็นลายลักษณ์อักษร ประณามเค็นนี จี อย่างสาดเสียเทเสียด้วยความเกรี้ยวกราด ผิดวิสัยที่ปกติเป็นคนสุภาพเรียบร้อย จนบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่ในชุมชนแจ๊ส มีการตั้งกระทู้แสดงความเห็นกันมากมาย ซึ่งคอแจ๊สส่วนใหญ่จะช่วยกันรุมขย้ำนักเป่าแซ็กผมหยิกหยอยอย่างไม่ปราณีปราศรัย ในขณะที่แฟนเพลงของเค็นนี จี เพลิดเพลินกับเสียงร้อง ที่ศิลปินโปรดของเขานำมาประดับในอัลบั้ม ทำให้ได้รู้จักกับหลุยส์ อาร์มสตรอง










ในส่วนของโทนี เบ็นเน็ต ผู้ปล่อยให้โอกาสหลุดลอยไปอย่างน่าเสียดายในครั้งแรก ต้องกลายเป็นผู้เกาะกระแส อัดเสียงเวอร์ชันแรกของเขาในปี 1970 ชุด Tony Bennett's Something และได้ทิ้งช่วงยาวกว่า 30 ปี จนปี 2002 จึงมาร้องใหม่อีกครั้งร่วมกับนักร้องสาว เคดี แลงก์ ในอัลบั้ม A Wonderful World ก็น่าฟังดีครับ แม้จะไม่ใช่เวอร์ชันเด็ด เช่นเดียวกับของร็อด สจ๊วต เจ้าของฉายาเสียงร้องแหบเสน่ห์แห่งร็อก ผู้เอนเอียงมาเน้นนำเสนอในเส้นทางแจ๊สสแตนดาร์ดอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะหลังนี้ ตั้งแต่ปี 2002 ด้วยเพลงชุด The Great American Songbook ซึ่งทยอยออกมาแล้ว 5 ชุด เขาร้อง What A Wonderful World ในอัลบั้มลำดับสาม ชุด Stardust ได้เชิญสตีวี วันเดอร์มาเป็นตัวช่วย เป่าฮาร์โมนิกาเสริมสีสันด้วย













อีวา แคสสิดี (Eva Cassidy) นักร้องสาวผู้อาภัพจากวอชิงดัน ดีซี นครหลวงของอเมริกา ซึ่งดังหลังตาย เธอร้องเพลง What A Wonderful World จากอัลบั้มล่าสุด Live at Blues Alley ที่เพิ่งเปิดตัวไม่นาน ปิดท้ายการแสดงครั้งสุดท้ายของตัวเองในปี 1996 ต่อหน้าผู้คนที่ใกล้ชิด ก่อนที่จะร้องเพลงไม่ได้อีกแล้ว และลาจากโลกไปในอีกไม่นานหลังจากนั้น ด้วยวัยแค่ 33 ปี แคสสิดีได้สร้างความประทับใจไว้มากกับเด็กสาวคนหนึ่ง ที่อพยพมาอยู่อังกฤษ จากจอร์เจีย ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ซึ่งแม้เมื่อในภายหลังต่อมา ตัวเธอได้กลายเป็นนักร้องชื่อดังของอังกฤษ ก็ยังไม่ลืมที่จะนำมาเทิดทูนบูชาครู ในรูปแบบของการนำเสนอร่วมกัน นั่นคือ เวอร์ชันปี 2007 ของเคที มาลัว (Katie Melua) ที่มาร้อง What A Wonderful World ร่วมกับอีวา แคสสิดี เพื่อหาทุนสมทบกาชาด ซึ่งแฟนเพลงชาวอังกฤษก็ได้ช่วยกันบริจาค ร่วมทำบุญซื้อซีดีเพลงนี้ จนพุ่งขึ้นติดอันดับหนึ่งของยูเคชาร์ต ในเดือนธันวาคม ปี 2007 เวอร์ชันนี้หวานมาก ที่เมื่อได้ฟังแล้ว ยากที่จะไม่หลงรักอีวา แคสสิดี












ยามใดที่รู้สึกเลวร้ายกับสิ่งรอบๆตัวคุณ ฟัง หรือร้อง หรือคิดถึงเพลง What A Wonderful World คิดถึงคำพูดของ หลุยส์ อาร์มสตรองที่บอกไว้ ตอนขึ้นต้นเพลงนี้ เวอร์ชันที่เขาบันทึกเสียงเป็นครั้งสุดท้าย เขาว่าตัวโลกนั้นไม่ได้เป็นปัญหา มีแต่คนที่สร้างปัญหาให้กับโลก เคล็ดลับในการแก้ปัญหาที่วุ่นวายอยู่นี้ คือ ความรัก ความรัก และความรัก เทความรักให้กันมากๆ แล้วโลกจะดีเอง จะเป็นวันเดอร์ฟูลเวิร์ลด์สำหรับทุกคน





เพลงนี้เนื้อร้องความหมายดีมาก เลยเอามาปิดท้ายให้อ่านกัน เวลาเปิดเพลงฟังก็จะได้ร้องตามได้เลยครับ

What A Wonderful World

I see trees of green, red roses too
I see them bloom for me and you
And I think to myself, what a wonderful world

I see skies of blue and clouds of white
The bright blessed day, the dark sacred night
And I think to myself, what a wonderful world

The colors of the rainbow, so pretty in the sky
Are also on the faces of people going by
I see friends shakin' hands, sayin' "How do you do?"
They're really saying "I love you"

I hear babies cry, I watch them grow
They'll learn much more than I'll ever know
And I think to myself, what a wonderful world
Yes, I think to myself, what a wonderful world

Oh yeah!



(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Phuket Bulletin ฉบับที่ 103 ธันวาคม 2010)


Saturday, April 21, 2012

Music Of Hawaii

บทความนี้ ผมขอเอามะพร้าวห้าวจากชาวเกาะภูเก็ตมาขายสวนให้กับชาวเกาะฮาวาย ฝากความคิดถึงอย่างแรง ให้กับเพื่อนรักที่ไม่ได้เจอกันกว่า 30 ปี

มีเหตุการณ์หลายอย่างมาเป็นส่วนประกอบให้หน้าโลว์ของการท่องเที่ยวภูเก็ต ลดระดับลงไปถึงขนาดซูเปอร์โลว์ มันเงียบถึงขนาดที่พรรคพวกซึ่งเปิดร้านขายของอยู่แถวกะตะเปรียบเปรยให้ฟังว่า ถ้าเอากระป๋องมาเตะกลางถนน เสียงสะท้อนจะก้องได้ยินไปไกลทั้งตลาดเลย แต่ในความหงอยเหงาของเหล่าผู้ประกอบการทั้งหลาย กลับเป็นการคืนความสงบเล็กๆให้กับชาวบ้านที่ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งพวกเขาต้องทนกับความเปลี่ยนแปลงอย่างไร้รูปแบบที่กระหน่ำโหมมายิ่งกว่าสึนามิจนตั้งตัวไม่ทัน เช่นเดียวกับชาวเกาะฮาวายที่ไม่ชอบคนต่างถิ่น ที่เข้าทำลายทุกสิ่ง จนเหลือสิ่งที่เป็นฮาวายเพียงอย่างเดียวสำหรับพวกเขา คือ ดนตรี

ผมจะขอแนะนำให้ได้รู้จักกับตำนานที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของดนตรีฮาวาย แก๊บบี้ พาฮินิวอี (Gabby Pahinui) สุดยอดแห่งนักเล่นกีตาร์ฮาวาย ทั้งในแบบสตีลกีตาร์(Steel Guitar) และสแล็กคีย์กีตาร์ (Slack-Key Guitar)

แก๊บบี้ ชื่อจริง Charles Philip Pahinui (ชาตะ 22 เมษายน 1921 - มรณะ 13 ตุลาคม 1980) เขาเกิดมาจนและโตในย่านชุมชนแออัดของเมืองคาคาอะโค หลายชีวิตของครอบครัวอาศัยอยู่ในบ้าน ที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม เขาเล่าว่า หลังคาสังกะสีที่คุ้มหัว ดูง่อนแง่นพร้อมที่จะหล่นลงมาตลอดเวลา พอโตขึ้นมาหน่อยเด็กชายแก๊บบี้ต้องทำงานหารายได้เสริมให้ครอบครัว ด้วยการเป็นเด็กขัดรองเท้าและขายหนังสือพิมพ์ ความแร้นแค้นขัดสนในชีวิตทำให้เขาต้องจบการศึกษาในโรงเรียนเพียงแค่เกรด 5 เทียบบ้านเราก็ ประถมห้า

แก๊บบี้เริ่มเล่นดนตรีราวอายุ 13 ปี ได้รับการยอมรับในฝีมือภายในช่วงเวลาไม่นาน เขาเริ่มเล่นกับชาร์ลี ไทนี่ บราวน์ และต่อมาได้สั่งสมประสบการณ์ร่วมเล่นกับนักดนตรีแนวหน้าของเกาะ พัฒนาฝีมือการเล่นสตีลกีตาร์จนเก่งกว่าใครอื่นทั้งหมด ในขณะเดียวกันก็ริหัดดื่มเหล้าไปด้วย จนปีศาจสุราได้เข้าสิงในตัวอย่างถาวร คอยติดตามทำลายล้างผลาญแก๊บบี้ไปตลอดชีวิต

ครั้งที่แล้วผมแนะนำให้รู้จักสตีลกีตาร์ หรือที่เรารู้จักกันทั่วไปว่า กีตาร์ฮาวาย ได้เขียนถึงวิธีการเล่นของมือ(ขวา)ที่ใช้ดีดสาย ซึ่งใช้ปิ้กเหล็กสวมนิ้ว แต่สำหรับแก๊บบี้ เขาจะใช้นิ้วดีดตรงๆไม่สวมปิ้กเหมือนคนอื่น ซึ่งเสียงที่ออกมาจะกลมกล่อมทุ้มน่าฟัง เขาให้เหตุผลของการใช้นิ้วสัมผัสสายโดยตรงว่า เป็นการถ่ายทอดจิตวิญญาณจากคนเล่นไปสู่เครื่องดนตรีได้ดีกว่า เหมือนหล่อหลอมให้คนกับกีตาร์เป็นหนึ่งเดียวกัน

เจมส์ บลา พาฮินิวอี ลูกชายคนหนึ่งของแก๊บบี้ ซึ่งเป็นนักสแล็กคีย์กีตาร์ฝีมือเยี่ยมคนหนึ่ง พูดถึงพ่อว่า

ผู้คนมากมายซาบซึ้งโดนใจกับพ่อ เพราะว่า เขาถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในใจออกมาแบ่งปัน ในรูปแบบที่ตรงและจริงใจ

ครับ, เสียงกีตาร์ของแก๊บบี้เป็นตัวสื่อจากใจคนเล่นไปยังใจคนฟัง ใครที่ได้ฟังแล้ว ยากที่จะไม่หลงใหล อยากฟังซ้ำแล้ว ซ้ำอีก อย่างไม่รู้เบื่อ

แม้ฝีมือการเล่นสตีลกีตาร์จะบรรลุในระดับชั้นเทพ แต่แก๊บบี้กลับเป็นที่รู้จักในเชิงสแล็กคีย์กีตาร์มากกว่า สำหรับผู้ที่ไม่ได้ติดตามฉบับที่แล้ว สแล็กคีย์กีตาร์ (Slack-Key Guitar) คือกีตาร์โปร่งธรรมดาทั่วไป ที่นำมาปรับตั้งสายใหม่ให้เป็นเสียงคอร์ด ซึ่งมีวิธีตั้งเสียงกันหลากหลายไม่ต่ำกว่า 30 แบบ การเล่นคล้ายกับแนวเกากีตาร์แบบปิ้กกิ้ง เป็นสไตล์ดนตรีที่ฟังสบายๆ ให้บรรยากาศแห่งความรื่นรมย์เช่นเดียวกับลีลาของกีตาร์ฮาวาย

แก๊บบี้เริ่มบันทึกเสียงการเล่นสแล็กคีย์กีตาร์ครั้งแรกในปี 1946 ตั้งแต่สมัยที่แผ่นเสียงยังทำด้วยครั่ง ใช้เครื่องเล่นไขลานแบบโบราณ ตัวบ่งบอกถึงความสำเร็จของดนตรีชาวเกาะฮาวายในยุคนั้น คือการได้ออกลุยเล่นไปทั่ว ตามบาร์ สถานบันเทิงต่างๆร่วมกับนักดนตรีเก่งๆ ผลงานเด่นที่นำมาอวดอ้างได้ในช่วงต่อมา คือ การได้เล่นถ่ายทอดออกอากาศทางวิทยุเป็นประจำ และเป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งของวง The Sons of Hawaii ร่วมกับ Eddie Kamae ในช่วงทศวรรษหกสิบ ซึ่งเป็นตัวจุดประกายก่อให้เกิดกระแสอนุรักษ์ดนตรีท้องถิ่นของฮาวาย ที่กำลังเลือนหายไป ให้กลับมามีคุณค่าคงอยู่ตลอดไป






ความสำเร็จในการทำงานที่ผลตอบแทนต่ำ ไม่เพียงพอที่จะจ่ายค่าเช่าบ้าน และเจียดเป็นค่าอาหารสำหรับเลี้ยงดูลูก 13 คนของแก๊บบี้ได้ เขาและเอมีลีคู่ชีวิตที่ร่วมหัวจมท้ายกันมาตั้งแต่ตอนอายุ 17 จึงต้องหอบหิ้วกระเตงครอบครัวใหญ่ย้ายถิ่นฐาน ไปปักหลักสร้างบ้านใหม่ที่ไวมานาโลในช่วงทศวรรษห้าสิบ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นแหล่งนัดพบของเหล่านักดนตรีในช่วงวันหยุด ที่แวะเวียนมาคารวะ และผลัดคิวเล่นดนตรีกันอย่างต่อเนื่องยาวนาน จากสว่างจนมืด มืดจนสว่างอีกครั้ง ใครหิวก็แวะเข้าครัว ตักกินเนื้อสตูว์ในหม้อที่อุ่นอยู่บนเตา ที่เตรียมรับแขกอยู่ตลอดเวลา มองออกไปข้างหลังบ้านจะเห็นกระป๋องและขวดเปล่าของเบียร์กองสุมเป็นภูเขาอยู่

แก๊บบี้ถอดใจกับอาชีพการเล่นดนตรี รับจ๊อบเป็นครั้งคราวเมื่อมีคนจ้างไปเล่นตามงานปาร์ตี้ เขาเปลี่ยนอาชีพไปทำงานโยธา แผนกซ่อมบำรุงถนน ทำอยู่ถึง 14 ปี จนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุ ต้องลาออกเพราะร่างกายหมดสภาพที่จะทำงานต่อไป กระทั่งในปี 1971 ที่เลิกเล่นไปแล้ว มีเด็กหนุ่มสามคนมาติดต่อให้เขาบันทึกเสียงผลงานดนตรีที่เป็นฮาวายของแท้ สำหรับค่ายเพลงใหม่ Panini Productions ทำให้แก๊บบี้ต้องฟอร์มทีม ชวนคู่หูเก่าแก่ทางดนตรีมือเบส Manuel "Joe Gang" Kupahu และนักกีตาร์ Leland "Atta" Issacs ร่วมสมทบกับ Bla Pahinui, Cyril Pahinui, Philip Pahinui และ Martin Pahinui ลูกๆ 4 นาย ที่หล่นไม่ไกลต้น มาเป็นตัวประกอบ ผลที่ได้เป็นอัลบั้ม “Gabby” ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันว่า “Brown Album” โดยเรียกจากเฉดสีซีเปียออกน้ำตาลของหน้าปกแผ่นเสียง นับเป็นผลงานระดับอนุสาวรีย์ของแก๊บบี้ จารึกความครบเครื่องในเชิงกีตาร์ฮาวายที่ไร้เทียมทาน รวมทั้งนำเอาเพลงลายเซ็นประจำตัว "Hililawe" ซึ่งเป็นเพลงแรกของแนวสแล็กคีย์กีตาร์ ที่ได้รับการบันทึกเสียงไว้ ตั้งแต่ตอนหนุ่ม ปี 1947 มาเบิกโรง และปิดท้ายด้วยเวอร์ชันอัดเสียงใหม่ เพลงเด่นอื่นๆ ก็มี "Ka Makani Ka'ili Aloha," "Royal Hawaiian Hotel," "Hula 0 Makee," และ "Aloha O'e"









The Gabby Pahinui Hawaiian Band, Volume One (1975) เป็นผลงานที่ได้ค่ายใหญ่อย่างวอร์เนอร์จัดจำหน่ายกระจายในวงกว้างไปทั่วโลก อีกทั้งยังได้ราย คูเดอร์ (Ry Cooder) ศิลปินระดับนักดนตรีของนักดนตรี ผู้ชื่นชมในตัวของแก๊บบี้ ขอแจมมีส่วนร่วมอย่างถ่อมตัว เก็บกีตาร์สงบนิ่งอยู่ในกล่อง เล่นแค่แมนโดลินและยูคูลีลี มาช่วยรับประกันคุณภาพ และหลังจากนั้นอีกไม่กี่เดือนต่อมา เสียงกีตาร์ฮาวายของแก๊บบี้มาแทนคำขอบคุณ เป็นตัวสีสันให้กับอัลบั้ม “Chicken Skin Music” ของราย คูเดอร์ ซึ่งเมื่อได้ฟังแล้วจะออกอาการขนลุกซู่เหมือนชื่ออัลบั้ม ที่ฝรั่งเปรียบเปรยเป็นเหมือนหนังไก่ สำหรับบ้านเราจะเป็นอาการขึ้นกรูด คือ ผิวจะเป็นตะปุ่มตะป่ำเหมือนผิวลูกมะกรูด ผมยังขึ้นกรูดทุกครั้งที่ฟังเพลงชุดนี้ ผมคิดว่าใครที่อยากจะฟังเสียงกีตาร์ฮาวายของแก๊บบี้ น่าจะควานหาซีดีชุดนี้ได้ง่ายกว่าชุดอื่น แต่สำหรับนักช็อปทางเน็ตคงหาฟังในฟอร์แมตต่างๆได้มากกว่าแน่นอน หาฟังไว้นะครับ ฟังแค่ตัวอย่างฟรี 30 วิ ก็ยังดี จะเป็นบุญหูอย่างมาก




ในจังหวะที่จะได้แจ้งเกิดใหม่ฟอร์มใหญ่ กลับกลายเป็นว่า ร่างกายหมดสภาพโดยสิ้นเชิง จากผลของการก๊งหนักอย่างไม่บันยะบันยังมานานปี บวกกับอาการบาดเจ็บเรื้อรังจากอุบัติเหตุงานโยธา วันสุดท้ายของแก๊บบี้ เขากลับถึงบ้านในตอนเช้า หลังจากกินเหล้า เล่นดนตรีทั้งคืน แล้วยังไปออกรอบตีกอล์ฟอีก จนเป็นลม ล้มหมดสติ ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี .......ที่หลุม 11 ทำให้ตำนานแห่งฮาวายบทนี้ ต้องปิดฉากลงด้วยวัยแค่ 59 ปี

แก๊บบี้ฝากผลงานทรงคุณค่า 4 ชุดไว้กับคนหนุ่มฮาวายรุ่นหลัง ที่เห็นคุณค่าของดนตรีพื้นเมือง ได้อนุรักษ์และฟื้นฟูต่อไป


(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Phuket Bulletin ฉบับที่ 98 กรกฎาคม 2010)