Tuesday, February 26, 2013

Sassy



ตั้งแต่ต่อนี้ไป เราก็ไม่มีใครอีกแล้ว ที่จะเป็นตัววัดให้กับนักร้อง

เป็นคำกล่าวไว้อาลัยของบิล คอสบี (Bill Cosby) ดาวตลกรุ่นใหญ่ผู้หลงใหลในสำเนียงแจ๊ส ต่อการจากไปของ Sarah Vaughan สุดยอดนักร้องแจ๊ส ด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ 3 เมษายน 1990 ที่ลอส เอนเจลิส   คำกล่าวนี้คงจะเป็นจริงไปอีกนานแสนนาน ณ วันนี้ เกือบ 16 ปีผ่านไป เรายังมองไม่เห็นเลยว่าใครจะมาแทนเธอได้


Sarah Vaughan ได้รับการยกย่องว่า เป็นนักร้องมหัศจรรย์  เธอมีมิติแห่งเสียงของนักร้องโอเปร่า ด้วยช่วงกว้างมากล้นในแต่ละระดับเสียง ซึ่งมีเอกลักษณ์แตกต่างกัน  เสียงช่วงกลางมีความเต็มอิ่มเอิบ และสดใสเหมือนเสียงเด็กผู้หญิงยามที่พลิ้วขึ้นสูง   แต่เวลาที่ไล่ลงต่ำ กลับใหญ่ทุ้มลึกหนักแน่น   เธอใช้เสียงดั่งเครื่องเป่า มีเชิงด้นเยี่ยมยอด ด้วยเทคนิคอันน่าตะลึง ดุจเดียวกับที่อาร์ต เททัม (Art Tatum) เชี่ยวในเชิงเปียโนระดับเทพ   ทั้งสองมีหลายอย่างคล้ายคลึงกัน มีความเก่งรอบตัวเหมือนกันทั้งคู่ จนยากที่จะแยกแยะว่า ควรจัดให้เข้าอยู่ในหมวดดนตรีสายใด  ถ้าซาราห์ไปเอาดีทางแนวคลาสสิก เธอก็ไม่พ้นที่จะเป็นดิวา (Diva)พระแม่เจ้าแห่งโอเปร่า ฉายา ดิไวน์ วัน (Divine One) ที่เปรียบเธอดุจดังเทพี ไม่ใช่คำสรรเสริญที่เกินความจริงเลย  แต่สำหรับแฟนเพลง “Sassy” เป็นชื่อเล่นที่เรียกขานแล้วให้ความเป็นกันเองยิ่งกว่าชื่อใด




ชีวิตของซาราห์ วอห์น เริ่มต้นที่เมือง Newark (อ่านว่า หนวค) รัฐนิวเจอร์ซี เมื่อ 27 มีนาคม 1924    ดูเหมือนกับว่า เธอเลือกเกิดเองได้ ที่มีแม่เป็นนักร้องประจำโบสถ์ พ่อมีอาชีพเป็นช่างไม้ แต่ชอบดีดกีตาร์ร้องเพลง   ซาราห์ตามแม่ไปร้องเพลงที่โบสถ์ตั้งแต่เล็ก เธอเป็นความหวังของแม่ ที่ใฝ่ฝันว่า สักวันหนึ่งลูกสาวคนนี้ที่ตั้งใจเรียนเปียโนมาเกือบ 10 ปีแล้ว จะมีอนาคตเป็นนักเปียโนคอนเสิร์ต ไม่เคยคิดเลยว่า กลับเป็นเสียงร้องของเธอที่นำเธอก้าวขึ้นสู่เวทีของคาร์เนกี ฮอลอันศักดิ์สิทธิ์




ครั้นเป็นสาว 18 วอห์นก็เข้าร่วมประกวดนักร้องสมัครเล่น ชิงเงินรางวัล 10 เหรียญและสัญญาร้องเพลงเป็นเวลา 1 อาทิตย์ที่อพอลโล เธียเตอร์(Apollo Theatre) อันโด่งดังในฮาร์เล็ม   วอห์นชนะใจกรรมการผู้ตัดสินด้วยเพลง Body and Soul ที่เธอทุ่มเทใจร้อง แววของเธอแตะเข้าตา บิลลี่ เอคสไตน์ (Billy Eckstine) นักร้องวงเอิร์ล ไฮน์ (Earl Hines)  เขารีบเสนอเจ้านายให้จ้างเธอเป็นนักร้องและนักเปียโนตัวสำรองประจำวงทันที   วอห์นจดจำสำนึกบุญคุณครั้งนั้นของเอคสไตน์อย่างไม่เคยลืมเลือน


เอลลา ฟิทซ์เจอรัลด์ (Ella Fitzgerald) ดาวนักร้องประจำของอพอลโล เธียเตอร์ อาทิตย์ที่ซาราห์เข้าไปฝึกงาน รู้สึกต้องชะตากับนักร้องสาวรุ่นน้องคนนี้มาก ถึงกับปวารณาตนเป็นพี่เลี้ยง ช่วยปกป้องดูแล และแนะสอนให้วอห์นได้รู้เท่าทัน ถึงเล่ห์เหลี่ยมกลโกงสารพัดของพวกเหลือบในวงการบันเทิง ช่วยให้เธอหลบหลีกเอาตัวรอดไปได้ ในช่วงที่ยังไม่ดัง ซึ่งต้องดิ้นรนตะลอนร้องไปทั่ว 


ปี 1944 วอห์นตบเท้าตามดิซซี่ กิเลสปี(Dizzy Gillespie) และชาร์ลี พาร์เกอร์ (Charlie Parker) สองนักดนตรีที่กำลังจะใหญ่มาก   ออกไปอยู่กับวงใหม่ของเอคสไตน์ ที่เปิดประตูรับบีบ็อป ดนตรีต้องห้ามของยุคนั้น   เธอเกาะกลุ่มอยู่กับพวกหัวใหม่ แทบจะเป็นนักร้องคนเดียวของสมัยนั้นที่เข้าถึงบีบ็อป  คนในวงการเริ่มซุบซิบกันถึงเด็กสาวเสียงดีคนนี้หนาหูขึ้นทุกวัน  เลเนิร์ด เฟเธอร์ (Leonard Feather) นักวิจารณ์แจ๊สชื่อดังพาเธอเข้าห้องอัดเสียงเป็นครั้งแรกในปีนี้เอง   เขาเปรียบเปรยเธอว่า


เป็นนักร้องที่มีความสดของเอลลา ใจของอเรธ่า (แฟรงคลิน) มีความอบอุ่นแบบเพ็กกี้ (ลี) และลีลาเอื้อนเสียงที่แน่นอนของคาร์เมน (เม็คเร)”


หลังจากที่บิลลี่ เอคสไตน์ล้มวงในปี 1945  วอห์นก็ออกฉายเดี่ยวตั้งแต่นั้นมา  เธอแต่งงานกับนักทรัมเป็ตจอร์จ เทรดเวล (George Treadwell) สามีคนแรก ในปี 1947 และเขาทำหน้าที่เป็นผู้จัดการไปในตัว   ซาราห์สั่งสมชื่อเสียงบารมีที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย  เธอพัฒนาและขัดเกลาเสียงร้องธรรมชาติที่พระเจ้าประทานมาให้มากล้นกว่าใครอยู่แล้ว ให้สมบูรณ์เพียบพร้อมไร้จุดอ่อนยิ่งขึ้น  จนถึงขั้นที่สามารถสั่งบังคับได้ดังใจนึก   ด้วยหูและประสาทการรับฟังที่ไม่ผิดเพี้ยน ทำให้เธอไม่มีปัญหาเรื่องคู่เสียงยาก อันเป็นความหนักใจของนักร้องคนอื่นเลย  ทุกอย่างที่เธอทำนั้นดูง่ายไปหมด  วอห์นชอบสร้างความประหลาดใจให้คนฟัง ด้วยการพลิ้วทะลวงผ่านคู่เสียงล่อแหลม ก่อนที่จะร่อนลงสู่โน้ตเป้าหมายได้อย่างนิ่มนวลสวยงาม  หลอดเสียงของเธอ คือ อุปกรณ์เฉกเช่นเครื่องดนตรีของยอดศิลปินที่ใช้บรรเลง  วอห์นเป็นเป็นศิลปินผู้รู้ถ่องแท้ถึงโครงสร้างและกระแสไหลแห่งดนตรี   เธอไม่ปล่อยไม้เด็ดออกมาอย่างพร่ำเพรื่อ เพื่อโอ้อวดลูกเล่นอย่างไร้จุดหมาย  ความเป็นดนตรี คือ สิ่งสำคัญที่สุด ที่เธอต้องการถ่ายทอดออกมาสื่อกับผู้ฟัง


ในปี 1950 ในช่วงวัยสาวเต็มตัว ศักยภาพในตัวเต็มเปี่ยม เธอบันทึกเสียงให้โคลัมเบีย โดยมีไมล์ เดวิสมาร่วมช่วยงานด้วย   ซาราห์ วอห์น แสดงให้เห็นถึงจินตนาการอันบรรเจิดของเธอ ที่ก้าวขึ้นเทียบได้กับนักดนตรีแจ๊สระดับแนวหน้า ด้วยการรังสรรค์ทำนองขึ้นมาใหม่อย่างที่พวกยอดนักดนตรีปฏิบัติกัน  ในเพลง “Mean To Me” เธอได้บรรลุถึงจุดที่ดูเหมือนว่ายังไม่มีนักร้องแจ๊สคนไหนก้าวไปถึงมาก่อน และยิ่งค้นพบศักยภาพแห่งธรรมชาติเสียงร้องอันไร้ขีดจำกัดของตัวเอง เมื่อเธอยิ่งเจาะลึกเข้าไป จนดูราวกับว่า ไม่มีบทขับร้องใดที่จะเกินกำลังความสามารถของวอห์นไปได้เลย มาสเตอร์พีซ เพลงนี้บรรจุรวมอยู่ในชุด “Sarah Vaughan in Hi-Fi” (1997- Columbia65117) ร่วมกับผลงานคลาสสิกอย่าง "Ain't Misbehavin'", "Nice Work If You Can Get It", "The Nearness of You"  และ “Pinky” บทเพลงไร้เนื้อร้อง ที่เธอครวญออกมาอย่างน่ามหัศจรรย์ในความลื่นไหลของน้ำเสียง   Sarah Vaughan with Clifford Brown (Verve) ในปี 1954 เป็นอัลบั้มที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นการร่วมงานของนักดนตรีแจ๊สและนักร้องที่ลงตัวสวยงามที่สุดชุดหนึ่ง โดดเด่นด้วยเพลง Lullaby of Birdland, April in Paris และ Embraceable You














นอกจากสองชุดนี้ วอห์นยังสร้างผลงานล้ำค่าออกมาประดับโลกดนตรีอีกหลายชุดด้วยกันในช่วงทศวรรษ 50  ก่อนที่ชีวิตจะหักเหเปลี่ยนเส้นทางเดินไประยะหนึ่ง ด้วยหลังจากที่ใครๆพากันติดใจ เพลง “Broken Hearted Melody” ที่เธอขับร้องในปี 1959   ทำให้ซาราห์ วอห์นไม่ใช่สมบัติเฉพาะของชนกลุ่มน้อยอย่างแจ๊สอีกต่อไปแล้ว มีผู้คนรู้จักเธอไปทั่วทุกแห่ง เงื่อนไขการนำเสนอผลงานของเธอก็ต้องเปลี่ยนไป เมื่อนายทุนยื่นมือเข้ามาควบคุมการผลิต ด้วยจุดประสงค์ที่จะสนองคนกลุ่มใหญ่เพื่อผลประโยชน์ทางการค้า ซึ่งในส่วนแบ่งที่เธอได้รับก็เป็นบำเหน็จก้อนโต เกินกว่าที่จะปฏิเสธบอกปัดไปได้   แม้ว่าเธอจะแบ่งใจไว้ครึ่งหนึ่งสำหรับแจ๊สเพื่อความสะใจของตัวเอง ชีวิตก็ยังไม่สมดุลลงตัว   ในที่สุด ต้องหาทางออกด้วยการปลีกตัวหายไปจากวงการบันเทิง ตอนปลายทศวรรษ 60 นานถึง 5 ปี  วอห์นหวนกลับมาจับไมค์ให้ไฟส่องหน้าอีก ในปี 1971  ด้วยใจที่หนักแน่นมั่นคงในจุดยืนของตัวเอง และน้ำเสียงที่ยังสะกดคนฟังให้อยู่ภายใต้มนต์เพลงของเธอ   คาร์เนกี ฮอลไม่เคยมีที่ว่าง ไม่ว่าครั้งไหนที่ซาราห์ วอห์นปรากฏตัวบนเวที  คนดูคือน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตของเธอที่มีความหมายมากยิ่ง  

สำหรับดิฉันแล้ว คนดูผู้ชื่นชมเป็นเกียรติอันสูงสุดที่ได้รับ   ความใส่ใจของคนดูที่มีต่อดิฉัน เป็นความซึ้งใจที่ไม่มีอะไรเปรียบได้   ที่ดิฉันมีวันนี้ และยังจะไปต่อไป ก็เพราะแรงสนองตอบจากพวกเขา


และคำยกย่องสดุดีจากเพื่อนร่วมอาชีพเดียวกัน ก็เป็นสิ่งที่ศิลปินทุกคนปราถนาจะได้รับเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะจากปากของระดับบิ๊กอย่าง แฟรงค์ สิเนตรา (Frank Sinatra)


แซสซี่ร้องดีเหลือเกิน   ผมอยากเชือดนิ่มๆ ตรงข้อมือ ด้วยมีดทื่อ   ให้เธอร้องเพลงให้ฟังจนตาย


มิเชลล์ เลอกรองด์ (Michel Legrand) ยอดนักแต่งเพลงหวานชาวฝรั่งเศส ผู้คลั่งไคล้แจ๊ส เป็นปลื้มที่เธอร้องเพลงที่เขาแต่ง


ที่สุดของคนแจ๊สที่ผมเคยเจอ ผมส่งเพลงให้เธอเพลงเดียว แม่คุณเนรมิตออกมาให้ฟังกันเป็นสิบ


ครับ! วอห์นมีความสามารถพิเศษเฉพาะตัวที่หาได้ยากในหมู่นักร้องด้วยกัน   เธอจะเจาะลึกเข้าไปถึงแก่นเพลง ดึงจุดเด่นในเพลงออกมานำเสนอได้มากมายเกินกว่าที่คนแต่งจะคิดฝัน  






วันที่ 24 กันยายน 1973 ซาราห์ วอห์น บินไปเปิดแสดงคอนเสิร์ตที่กรุงโตเกียว ร่วมกับวงทริโอของเธอ  Carl Schroeder (เปียโน), John Gianelli (เบส) และ Jimmy Cobb(กลอง)   นับเป็นความโชคดีอย่างยิ่งของคนญี่ปุ่นที่ได้ดูการแสดงสดในคืนนั้น และแฟนแจ๊สทั้งโลกก็พลอยได้อานิสงส์จากการบันทึกเทปของอัลบั้ม Complete: Live in Japan (Mobile Fidelity)  วอห์นทุ่มเทเต็มที่กับการร้องครั้งนั้น เป็นผลงานสุดยอดชิ้นหนึ่งของเธอ ฟังครั้งไหนก็รู้สึกได้ถึงบรรยากาศความเป็นกันเอง และมีอารมณ์คล้อยตามไปด้วย   ภายหลังจากที่ผมได้ดูเธอที่นิวพอร์ต ปี 1982 ก็ยิ่งชื่นชมในความเชี่ยวชาญการใช้อุปกรณ์เสริม คือ ไมโครโฟน ของวอห์น   เวลาที่มาฟัง My Funny Valentine ซึ่งถ่ายทอดอารมณ์เพลงออกมาหลายระดับความดัง ทำให้จินตนาการถึงการขยับเคลื่อนไหวไมค์ ให้รับเสียงออกมาสมดุลสม่ำเสมอโดยตลอด เป็นความสามารถเฉพาะตัวที่หาตัวจับยาก และยิ่งยากไปกว่านั้น คือ เนื้อร้องแต่ละคำของเธอ สื่อความหมายออกมาจนเห็นภาพ โดยไม่ต้องพึ่งพามิวสิกวิดีโอ แต่กลับให้จินตภาพลึกล้ำกว่า   เสียงทิพย์ของเธอแผ่ซ่านไปทั่วทุกอณูในบริเวณป้อมปราการฟอร์ต อดัม กลมกลืนไปกับสายลมทะเลผ่านแผงกำแพงลำโพง เข้ามากระทบต่อมรับรู้เสียง กระตุ้นให้ขนลุกซู่ จนผิวหนังขึ้นตุ่มเหมือนผิวลูกมะกรูด เป็นระยะๆอย่างต่อเนื่อง เธอนำพาคนฟังไปสู่อีกมิติหนึ่งแห่งความรื่นรมย์หรรษาเหนือคำบรรยาย  ไม่เคยนึกว่า Misty และ Send In The Clowns เพลงเก่งประจำตัวของเธอ จะร้องได้ไพเราะกว่าที่เคยได้ฟังจากแผ่นเสียงอย่างเทียบไม่ได้เลย   ผมรู้สึกขอบคุณในความโชคดีของตัวเอง ที่ได้สัมผัสตัวจริงเสียงจริงของนักร้องแห่งศตวรรษ ที่นักเขียนแจ๊สชื่อดัง Gary Giddins เขียนสรรเสริญไว้ว่า เป็นเสียงร้องที่มีมาเพียงแค่ครั้งเดียวในชั่วชีวิต หรืออาจจะครั้งเดียวในหลายชั่วอายุคนก็เป็นได้
















ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 70  วอห์นมีสัญญาอยู่กับบริษัท Pablo ที่ไม่เข้ามาก้าวก่ายกับการทำงานของศิลปินในสังกัด ทำให้เราได้ฟังสิ่งที่เธอต้องการทำ ไม่ต้องจำใจร้องเหมือนสมัยที่โดนนายทุนบัญชาการ  อัลบั้มคุณภาพหลายชุดทยอยกันออกมาในช่วงนี้   “How Long Has This Been Going On?” (1978 – Pablo)นับเป็นเพชรน้ำเอกที่เจิดจ้าจรัสแสงที่สุด  ซาราห์ใช้เวลาทำงานอยู่ในห้องอัดเสียงเพียงวันเดียว  เธอได้มือดีที่รู้ทางกันอย่าง Oscar Peterson (เปียโน), Joe Pass (กีตาร์), Ray Brown (เบส) และLouie Bellson (กลอง) มาช่วยสนับสนุนเสียงร้อง   นอกเหนือจากการเล่นกันในแบบวงแล้ว วอห์นยังทำเก๋ด้วยการร้องแบบตัวต่อตัวกับสมาชิกในวง คนละเพลงอีกด้วย   เธอเป็นโปรดิวเซอร์ดูแลการผลิตครั้งแรกและครั้งเดียวในอัลบั้ม Crazy and Mixed Up (1982 – Pablo)  วอห์นใช้เสียงร้องแทนเครื่องดนตรีด้นไปตลอดเพลงโดยไม่อิงถึงทำนองหลักเลยใน Autumn Leaves  และเลือกเอาเพลงหวานจากบราซิล Love Dance กับ The Island ผลงานของ Ivan Lins มาเป็นเครื่องเคียงให้กับเพลงสแตนดาร์ด 














วอห์นได้รับรางวัลแกรมมี่จากอัลบั้ม  "Gershwin Live"! ในปี 1982  เธอยังคงร้องเพลงอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีปัญหาในเรื่องสุขภาพมารบกวน แต่คุณภาพเสียงยังคงที่ ไม่มีตก   “Brazilian Romance” (1987 - CBS) เป็นงานยุคปลายของวอห์น   ชุดนี้แนวดนตรีค่อนข้างร่วมสมัย ฟังสบายๆ เหมาะสำหรับเป็นอัลบั้มแนะนำตัว ให้คนหนุ่มสาวยุคใหม่ได้สัมผัสกับซาราห์ วอห์นเป็นครั้งแรก และหลังจากที่ได้ฟังเธอแล้ว


นักร้องคนอื่นจะดูเหมือนเป็นพวกสมัครเล่นไปหมด!


















(ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร JazzSeen Vol. 2 issue 7 February 2006)



Saturday, February 2, 2013

Blues (7) _Bluesette


ในช่วงที่กำลังเขียนเกี่ยวกับบลูส์ วันก่อนอาจารย์ประสิทธิ์ พะยอมยงค์จากไป มาคราวนี้ก็ได้ข่าวบลูส์อีกแล้วจากทางโอเวอร์ไดร์ฟแจ้งว่า อาจารย์วิชัย โพธิ์ทองคำ หรืออาจารย์ปู่ ได้เสียชีวิตแล้ว รู้สึกสูญญากาศมาก ช็อกกับการจากไปแบบไม่มีเค้าลางบอกเตือนล่วงหน้าเลย หลังจากทำใจ คืนสู่สติแล้ว ก็ต้องยอมรับสภาพความจริงว่า ไม่มีโอกาสได้เจอกันแบบตัวเป็นๆอีกต่อไปแล้ว

ผมโชคดีที่ได้รู้จักกับอาจารย์ปู่มานานร่วม 30 ปี ตั้งแต่ช่วงที่ผมไปเป็นครูกีตาร์ที่สยามกลการ ได้เรียนรู้ในด้านดนตรี ชีวิต และข้อคิดต่างๆมากมาย ท่านเป็นคนที่รักษาอุดมการณ์ทางดนตรีอย่างมั่นคง เหนียวแน่น ไม่วอกแวก เบี่ยงเบนไปตามเทรนด์ แต่ก็ไม่ปิดตัว ชอบศึกษาเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ท่านเป็นคนรู้ลึก รู้ซึ้ง รู้จริง รู้โคตร สมเป็นกูรูตัวจริง และไม่หวงวิชา ซึ่งหายากมาก ท่านเป็นคนไม่มีมาด คุยสนุกกับคนแนวเดียวกัน รอยยิ้มร่าเริง เสียงพูดของท่าน ผุดขึ้นมาชัดเจนมากในตอนนี้ ที่ผมกำลังรำลึกถึงอยู่ อาจารย์วิชัย โพธิ์ทองคำ หรืออาจารย์อณิศร โพธิทองคำ หรืออาจารย์ปู่ ไม่เคยตายไปจากใจผม เช่นเดียวกับวิชัย เที่ยงสุรินทร์, สมเจตน์ จุลณะโกเศศ, ราเชล สิกขาลา, สุรชาติ “หงี” กิตติธนา, นิมิต โภคาผล, เฉลิมเกียรติ “กอ” อมรสิงห์, นพรัตน์ “อ้วน” เดวี่ และอีกมากมาย ความทรงจำดีๆกับมิตรภาพงดงามที่มีต่อกัน จะยังคงอยู่ติดตัวผมไปกว่าวิญญาณจะทิ้งร่างกาย เปลี่ยนภพไปเจอกันใหม่อีกครั้ง

ผมเคยพูดถึงเพลง "Bluesette" มาบ้างแล้ว ครั้งนี้จะว่ากันอย่างละเอียด ให้รู้จักกันอย่างดีเลย

คนแต่งเพลง 

Jean-Baptiste "Toots" Thielemans หรือที่รู้จักกันสั้นๆว่า “ทู้ท” เป็นนักเป่าฮาร์โมนิกาหรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าหีบเพลงปาก ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เขาเป็นคนยกระดับให้เครื่องดนตรีเด็กเล่นนี้ ให้โลกได้รับรู้ถึงศักยภาพไม่รู้จบของมัน ซึ่งรังสรรค์เสียงเพลงออกมาได้ไม่ด้อยกว่าเครื่องดนตรีชนิดใดเลย นอกจากนี้ทู้ทยังเป็นเลิศในเรื่องผิวปาก และยังเป็นนักกีตาร์แจ๊สฝีมือดีด้วย


ในวันนี้ของปู่ทู้ท ธีลแมน ยังแข็งแรง ออกแสดงคอนเสิร์ตเป็นประจำ ด้วยวัย 88 ปี เกิดเมื่อ 29 เมษายน 1922 ที่กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยียม   เริ่มส่อแววทางดนตรีให้เห็นตั้งแต่ตอนเขาอายุ 3 ขวบ ด้วยการเล่นแอคคอร์เดียน  ซื้อฮาร์โมนิกามาเป่าเล่น เป็นงานอดิเรก ตอนอายุ 17 ต่อมาเพื่อนได้แนะนำให้รู้จักกับดนตรีแจ๊ส ในช่วงปี 1940 หลังจากได้ฟังเสียงทรัมเป็ตของหลุยส์ อาร์มสตรอง ถึงกับเบนเข็มทิศทางชีวิต ที่มุ่งไปสู่ความเป็นวิศวกร หรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัย เอนเอียงไปทางดนตรีจนกู่ไม่กลับ เส้นทางดนตรีเริ่มจากการเข้าร่วมเล่นอยู่ในวงกับเพื่อนๆ เป่าหีบเพลงปาก ฝีมือดีวันดีคืน จนช่ำชองในเครื่องดนตรีที่เหมือนของเด็กเล่นนี้ และต่อมาก็เล่นกีตาร์ด้วย เขาได้แผ่นเสียงของจังโก้ ไรน์ฮาร์ดเป็นครู และความรู้ทางดนตรีส่วนใหญ่ของทู้ท มาจากการออกภาคสนามลุยเล่นกับนักดนตรีต่างๆ เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงในระหว่างทำงานบนเวที จนฝีมือขึ้นไปอยู่ในระดับแนวหน้า

ทู้ทผงาดขึ้นไปสู่ระดับอินเตอร์ในปี 1950 เมื่อเขาออกทัวร์ยุโรปร่วมกับเบ็นนี กู้ดแมน ราชาแห่งสวิง แล้วรุกคืบไปถึงอเมริกา ในอีก 2 ปีต่อมา งานแรกในนครนิวยอร์ก ก็ได้เล่นกับชาร์ลี พาร์เกอร์ ผู้ที่เขาชื่นชมบูชาดั่งเทพเจ้า ทู้ทพิสูจน์ตัวเองจนได้รับการยอมรับจากชุมชนแจ๊ส จนถึงกับกลายพันธุ์แปลงสัญชาติเป็นอเมริกันในเวลาต่อมา  ทศวรรษห้าสิบผ่านไปอย่างราบรื่น ด้วยงานประจำกับจอร์จ เชียริง (George Shearing) นักเปียโนอังกฤษ นานถึง 6 ปี จนกระทั่งปี 1959  ทู้ทย้ายกลับไปตั้งหลักที่สวีเดน ฐานเก่าที่เขายังมีแฟนเพลงหนาแน่นอยู่ ตั้งแต่ช่วงก่อนไปอเมริกา แล้วเขาก็เจอส้มหล่นกับเพลง Bluesette ในปี 1962 แล้วในช่วง 4 – 5 ปีต่อมา เขาผันตัวเป็นมือปืนรับจ้างเต็มตัว รับงานอัดเสียงในสตูดิโออยู่ที่นิวยอร์กเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นงานเพลงโฆษณา, งานเพลงประกอบหนัง รวมไปถึงงานเพลงทั่วไป

ช่วงต้นทศวรรษแปดสิบ ทู้ทได้มาร่วมงานกับจาโค เพสตอเรียส ผู้ปฏิวัติการเล่นแจ๊สเบสสมัยใหม่ที่ทรงอิทธิพลที่สุด เขาฝากเสียงหีบเพลงปากในอัลบั้มวง Word of Mouth (1981) และยังได้ร่วมออกคอนเสิร์ตกับวงนี้ด้วย ผลงานภายใต้ชื่อตัวเอง เริ่มทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง หลังเลยผ่านวัยที่คนทั่วไปเกษียณแล้ว อัลบั้ม The Brasil Project (1992 – 1993) ที่เขาไปร่วมเล่นกับนักดนตรีบราซิล 2 ชุด ทำได้น่าฟังมาก ยังมีชุด Chez Toots (1998) เป็นเพลงฝรั่งเศสล้วนๆ ฟังแล้วผ่อนคลายดี และ Toots Thielemans & Kenny Werner (2001) ผลงานแสดงสดร่วมกับนักเปียโนคู่ใจ ซึ่งร่วมงานกันมากว่า 10 ปีแล้ว เป็นตัวตนที่แท้จริง ทำในสิ่งที่อยากจะทำของทู้ท

เครื่องดนตรี 


อาวุธประจำกายของปู่ทู้ท เป็น Chromatic Harmonica ยี่ห้อ Hohner ที่ทำตามสเป็กที่ท่านต้องการ มีความกว้างของเสียง 3 อ็อกเทฟ เท่ากับฟลู้ต สามารถปรับตั้งเสียงได้ ฮอห์เนอร์ทำรุ่นลายเซ็นของทู้ทออกมา 2 รุ่น Mellow Tone สำหรับแนวหวาน และ Hard Bopper สำหรับแนวร่วมสมัย กีตาร์คู่ใจจะเป็นกิ๊บสัน ES - 175 รุ่นยอดนิยม ที่นักกีตาร์แจ๊สรุ่นใหญ่ใช้กันมาก ส่วนเสียงผิวปาก เป็นปาก รุ่นปี 1922 ผลิตจากเบลเยียม

ความเป็นมาของเพลง


ไอเดียบรรเจิดของ "Bluesette" เกิดขึ้นระหว่างที่แชร์ห้องแต่งตัวร่วมกับสเตฟาน เกรพเพลลี (Stephane Grappelli) นักไวโอลินผู้ร่วมสร้างตำนานกับจังโก้ ไรน์ฮาร์ด นักกีตาร์ในดวงใจของทู้ท ขณะเตรียมตัวแสดงคอนเสิร์ตร่วมกัน ที่มหาวิทยาลัยบรัสเซล สถาบันเก่าที่เขาเคยศึกษาเมื่อกว่า 20 ปีก่อนหน้านั้น ทู้ทเล่าว่า

“ทำนองเพลงลอยพุ่งเข้ามาหาเอง ในระหว่างที่ผมกำลังตั้งสายกีตาร์ ขยับทางคอร์ดบลูส์ แล้วฮัมทำนองออกมา สเตฟานถึงกับเอ่ยปากชม ถามว่า เพลงอะไร?  ผมตอบไปว่า ท่านเป็นแรงบันดาลใจ ท่านเลยบอกให้รีบจดบันทึกไว้ทันทีเลย ผมตั้งชื่อเพลงว่า "Blue-ette” หมายถึง ดอกไม้สีน้ำเงิน ในเบลเยียม”

พอไปทำการแสดงที่สวีเดน ซึ่งทู้ทไปสร้างชื่อไว้จนโด่งดัง เป็นที่รู้จักกันดี เขาต้องมีเพลงโชว์สำหรับรายการ ซึ่งได้บอกไปว่ามีอยู่ แล้วรีบเขียนทางคอร์ดให้คนเล่นเปียโน พอบอกชื่อเพลงไป ก็โดนแย้งกลับมาว่า เอ๊ะ! นี่มันบลูส์ ไม่ใช่เหรอ? ทำไมไม่เติม s เข้าไปด้วย?  ก็เลยได้ชื่อ "Bluesette" ตั้งแต่นั้นมา

Music Analysis  

“Bluesette” เป็นแจ๊สสแตนดาร์ดในลีลาแจ๊สวอลท์ ทำนองสวย พลิ้วหวาน โน้มนำให้คล้อยตาม ติดตามฟังไปจนจบ ในส่วนของทางคอร์ด ตอนที่วิเคราะห์เพลง “Blues For Alice” ผมเคยบอกไว้ว่า ถ้าวิเคราะห์ทางคอร์ดดู จะเห็นว่าในช่วงครึ่งแรกของเพลง “Bluesette” นั้น โครงสร้างถอดแบบไปจาก “Blues For Alice” เลย แต่ “Bluesette” จะเล่นทุกคอร์ดซ้ำ ขยายฟอร์มบลูส์ 12 ห้อง ให้กลายเป็นบลูส์ 24 ห้อง ดังนั้น 12 ห้องแรกของ “Bluesette” จะมีโครงสร้างแบบเดียวกันกับ 6 ห้องแรกของ “Blues For Alice”  ดูจากการจับคู่ โยงลูกศร เชื่อมความสัมพันธ์ บวกกับอักษรโรมัน ที่บ่งบอกถึงคอร์ดในคีย์ ก็น่าจะมองเห็นทะลุปรุโปร่งกันแล้วนะครับ ในช่วงครึ่งหลังของ “Bluesette” จะเป็นทางคอร์ดที่เปลี่ยนคีย์ ถอยลงเป็นหนึ่งเสียงเต็ม (Whole Step) ในลักษณะเดียวกับเพลง Tune Up ของ Miles Davis ซึ่งเริ่มต้นมาแล้วตั้งแต่ Eb ลงมาหา Db แล้วลงมาที่ Cb ก่อนที่จะย้อนกลับบ้านคีย์ Bb ด้วยคอร์ดทูไฟฟ์ Cm7 – F7 เกลาหลอกไปหาคอร์ดแทนของหนึ่ง (I) คือคอร์ดสามไมเนอร์ (Dm7) ซึ่งเคลื่อนลงไปหาคอร์ดสองไมเนอร์ (Cm7)ในแบบโครแมติกทูไฟฟ์วัน แล้วตามด้วยคอร์ดห้า (F7) ส่งกลับไปหัวเพลง



เวอร์ชันเด็ดของ  "Bluesette"


“Bluesette” ดังมาก จนกลายเป็นแจ๊สสแตนดาร์ด มีศิลปินนับร้อยที่นำเพลงนี้ไปบันทึกเสียง พูดได้เต็มปากว่า ทู้ทสามารถดำรงชีพอย่างสบายจากค่าลิขสิทธิ์ของเพลงนี้เพลงเดียว และเพลงนี้ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวทู้ท ซึ่งได้เปิดตัวโชว์เสียงผิวปาก ให้เป็นสีสันดนตรีใหม่ขึ้นมาด้วย จากโดยธรรมชาติที่เป็นคนอารมณ์ดี ชอบผิวปากเล่นอยู่เป็นนิจ ต้นตอของไอเดียบรรเจิดนี้ มาจากความประทับใจกับวิธีการนำเสนอตัวเองของนักเบสใหญ่ สแลม สจ๊วต ซึ่งจะร้องฮัมทำนองคู่ไปกับเสียงเบสที่เขาสี จนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นของสแลม จุดประกายให้ทู้ทอยากจะทำอะไรในลักษณะนี้บ้าง เขาจึงลองเล่นกีตาร์ประกบไปกับเสียงผิวปาก ซึ่งได้ความลงตัวดีมาก จนนับได้ว่าเป็นนวัตรกรรมใหม่ชิ้นหนึ่งของดนตรีแจ๊ส ต่อมานักร้องทั้งหลายได้เฮ เมื่อนักแต่งเนื้อร้องชื่อดัง นอร์แมน กิมเบิล แต่งคำร้องให้กับบลูเส็ตต์ ทำให้เกิดเพลงฮิตอีกหลายเวอร์ชันจากนักร้องหลายคน

ทู้ทอัดเสียง “Bluesette” ครั้งแรก ให้กับค่ายแผ่นเสียง Metronome ของสวีเดน ในปี 1962 แบ็กอัพโดย 2 ยอดนักดนตรีอเมริกัน Dick Hyman (ออร์แกน) และ Don Lamond (กลอง) เวอร์ชันแรกต้นแบบของเพลงนี้ อยู่ในอัลบั้ม The Whistler and His Guitar (ABC Music 482) ของทู้ท ซึ่งเขาได้วางรูปแบบ เนื้อหาสาระหลักๆในการนำเสนอตรงนี้ไว้ ให้เป็นพิมพ์เขียวสำหรับการเล่นครั้งต่อๆไป ทู้ทโชว์เสียงผิวปากโดยมีเสียงกีตาร์ประกบคู่แปดไปตลอด ตั้งแต่เริ่มทำนองเพลง โซโล แล้วกลับไปทำนองเพลง ส่งท้ายจนจบ อัลบั้มนี้คงไม่มีวางขายทั่วไป ใครที่อยากฟัง ก็ต้องออกแรงหาหน่อย





ทู้ทเอาเพลงเก่ง “Bluesette” ไปใช้ประโยชน์สูงสุด คุ้มค่ามาก เฉพาะอัลบั้มของเองก็มีอยู่หลายเวอร์ชัน แต่เวอร์ชันที่อ้างอิงกัน น่าจะเป็นอันที่มาจากการแสดงสด ซึ่งทู้ทขึ้นต้นด้วยมาเดี่ยวด้วยกีตาร์สำเนียงบลูส์ เน้นตามด้วยคอร์ดที่ปูทางให้ทำนองหลักตามมา มีออร์แกนและกลองแบ็กอัพ แต่เล่นกันอย่างมีชีวิตชีวากว่าเวอร์ชันแรกมาก ผมมีเพลงนี้ ในแผ่นเสียงชุด “Bluesette” ของโพลีดอร์ เยอรมัน ซึ่งโดนปลวกกินไปแล้ว ถ้าเป็นซีดีรุ่นใหม่ ก็จะอยู่ในชุดรวมเพลง Toots Thielemans 1955-1978 (Columbia) หรือ The Silver Collection (Verve) 

นอกจากจะได้ค่าลิขสิทธิ์แต่งเพลงแล้ว ทู้ทยังรับสองเด้งจากค่าเล่นอัดเสียงด้วย เมื่อเบ็นนี กู้ดแมน ผู้เปิดทางให้เขา เล่นเพลงนี้ใน Blues in the Night [Reader's Digest] หรือควินซี โจนส์ ใน Mellow Madness (A&M) 





เวอร์ชันสำหรับนักกีตาร์หลายคนที่นำ “Bluesette” ไปตีความใหม่ ในอัลบั้ม Guitar/Guitar (1963) โดย Herb Ellis นักกีตาร์แจ๊สรุ่นใหญ่ จับคู่กับ Charlie Byrd นักกีตาร์แจ๊สเหมือนกัน แต่ใช้กีตาร์คลาสสิกสายไนลอนเล่น สองคนนี้เขารู้ทางกัน เล่นด้วยกันมานาน ไหลกันลื่น ฟังเพลินดีครับ คนที่อยู่ก๊วนเดียวกันอย่าง Joe Pass เล่น “Bluesette” กับเจ้านายเก่าของทู้ท George Shearing ชุด Here & Now ตั้งแต่ปี 1966 ที่เขาเป็นลูกวงช่วงนั้น และอีกเกือบสิบปีต่อมาเขาเล่นคู่กับนักร้อง Ella Fitzgerald โจเล่นประกอบและโซโลได้เยี่ยม และเขายังเล่นเดี่ยวใน Blues Dues (Live At Long Beach City College) (1998)  เทพกีตาร์แจ๊สจากแคนาดา Ed Bickert ผู้มีเอกลักษณ์ด้วยเสียงเทเลแคสเตอร์ เล่น “Bluesette” ในบรรยากาศสบายๆกับ Don Thompson ซึ่งปกติเล่นเบส แต่เป็นคนเปียโนใน Dance to the Lady (Sackville) 

















“Bluesette” มีอีกมากมายหลายเวอร์ชันครับ แต่ฟังไป ฟังมาแล้ว ถ้าไม่ได้ยินเสียงผิวปาก หรือหีบเพลงปากของทู้ทอยู่ด้วย มันจะรู้สึกมีบางสิ่งบางอย่างขาดหายไป เหมือนกับว่าเป็น “Bluesette” ที่ไม่สมบูรณ์ ผมคิดว่าเสน่ห์ของปู่ทู้ทแรงขนาดนั้นครับ



(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 144 กันยายน 2010)