Saturday, January 23, 2010

Jazz Cool Band

.



ส่งข่าวถึงคอแจ๊สที่อยู่แถวภูเก็ต วันวาเลนไทน์ปีนี้ถ้ายังไม่มีโปรแกรมไปฉลองที่ไหน อันนี้น่าสนใจครับ
(คลิ๊กที่รูป เพื่อดูขยายใหญ่)







แวะเข้าไปชมและฟังการแสดงของวง Jazz Cool Band (JCB) เรียกน้ำย่อยได้ก่อน ที่ http://www.myspace.com/jazzcoolband




เกี่ยวกับวงดนตรี Jazz Cool Band (JCB)


วงดนตรี Jazz Cool Band ประกอบด้วยสมาชิกวง จำนวน 9 คน ซึ่งร่วมงานกันมามากกว่า 10 ปีโดยทั้งหมดอาศัยอยู่ในเมืองมาแซล ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส

นอกเหนือจากการแสดงคอนเสริท์เป็นประจำทุกสัปดาห์ ในเมืองมาแซล, ลียง และปารีส แล้ว JCB Jazz Cool Band ยังให้ความสำคัญในกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมและชุมชนด้วยการแสดงคอนเสริท์การกุศล ซึ่งได้จัดการแสดงในสถานที่ต่างๆทั่วโลก สำหรับประเทศไทย JCB Jazz Cool Band ได้เดินทางมาเปิดการแสดงคอนเสริท์การกุศล 4 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2546, 2548, 2549 และในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 เพื่อหาทุนสนับสนุนกิจกรรมของสภากาชาดไทย (Thai Red cross), สโมสรโรตารีปทุมวัน, องค์กรยูนิเซฟ (UNICEF), มูลนิธิเพื่อสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก (Children Cardiac Surgery Foundation), กองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wild Fund Association), และสมาคมฝรั่งเศสในประเทศไทย (Association Francaise de Bangkok)

รายชื่อสมาชิกวง JCB Jazz Cool band

1. Jean Louis Nguyen Qui Voice & Alto Sax
2. Renee Pellegrin Piano
3. Franck Blanchard Bass
4. Jean Michel Gladieuz Drums
5. Igor Nassonov Trombone
6. Andre Liardet Tenor Sax and Clarinet
7. Jean Claude Haro Trumpet and Buggle
8. Rene Fortune Alto Sax
9. Olivier Labrot Trumpet



.

Friday, January 8, 2010

Intervals (4)



การพลิกกลับของอินเตอร์วัล

(Inversion of Intervals)

ในอีกมุมมองหนึ่งของอินเตอร์วัล คือ ถ้าโน้ตตัวล่างของอินเตอร์วัลย้ายขึ้นไปอยู่อีกหนึ่งอ็อคเท็ฟที่สูงกว่า หรือโน้ตตัวบนของอินเตอร์วัลย้ายลงไปอยู่อีกหนึ่งอ็อคเท็ฟที่ต่ำกว่า นั่นเป็นอินเวอร์ชันของอินเตอร์วัล (Inversion of Intervals) คือ การพลิกกลับของอินเตอร์วัล หรือการกลับหัวเป็นหาง กลับหางเป็นหัว เป็น การสลับตำแหน่งกันนั่นเอง โดยโน้ตล่างขยับขึ้นไปอยู่บน โน้ตบนขยับลงมาอยู่ล่าง

ถ้าเราแม่นยำในการบ่งชี้อินเตอร์วัล จากที่ได้เรียนรู้และฝึกฝนมาแล้ว พอมาถึงเรื่องการพลิกกลับของคู่เสียงนั้น ก็จะเป็นสิ่งที่ง่ายมากๆ เพียงแค่จำกฎ 4 ข้อ ต่อไปนี้

1) ขนาดของอินเตอร์วัลและอินเวอร์ชันจะรวมกันได้เป็น 9 เสมอ คือ อินเตอร์วัลคู่ 3 เวลาพลิกกลับก็จะกลายเป็นอินเวอร์ชันคู่ 6, คู่ 2 พลิกกลับเป็นคู่ 7, คู่ 1 พลิกกลับเป็นคู่ 8 และคู่ 4 พลิกกลับเป็นคู่ 5 เป็นต้น วิชาเลขระดับอนุบาลเลยนะครับ

2) เมเจอร์จะกลับเป็นไมเนอร์ และในทางกลับกัน คือ คู่ไมเนอร์เวลาพลิกกลับก็จะกลายเป็นคู่เมเจอร์ นำกฎข้อที่ 1 มาใช้ร่วมกันก็จะได้ผลทันใจเลย เช่น คู่ 2 ไมเนอร์เวลาพลิกกลับก็จะกลายเป็นคู่ 7 เมเจอร์, คู่ 6 เมเจอร์พลิกกลับก็จะกลายเป็นคู่ 3 ไมเนอร์

3) ออกเม็นเท็ดจะกลับเป็นดิมินิช และในทางกลับกัน กฎข้อนี้เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับกฎข้อที่สอง

4) เปอร์เพ็คก็จะยังคงเป็นเปอร์เพ็คเหมือนเดิม สถานภาพไม่เปลี่ยนแปลง แมัจะถูกพลิกกลับ เช่น คู่ 5 เปอร์เพ็คเวลาพลิกกลับจะกลายเป็นคู่ 4 เปอร์เพ็ค หรือคู่ 1 เปอร์เพ็คเวลาพลิกกลับจะกลายเป็นคู่ 8 เปอร์เพ็ค ซึ่งยังคงสถานภาพเป็นเปอร์เพ็คอินเตอร์วัลอยู่เหมือนเดิม

เรื่องของอินเตอร์วัลและอินเวอร์ชันของมัน ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอีกต่อไป หลังจากได้เรียนรู้ถึงกฎการพลิกกลับของอินเตอร์วัลนี้แล้ว แต่ก็ไม่ควรปักใจเชื่อไปเลยโดยไม่มีการพิสูจน์ ควรเอามาวิเคราะห์ให้เห็นจริงชัดแจ้งด้วยตัวเองอีกครั้งนะครับ จะได้ไร้กังขาไม่มีความแคลงใจอีกต่อไป

แผนผังต่อไปนี้ แสดงถึงอินเตอร์วัล และอินเวอร์ชันของมัน โดยใช้ตัวโน้ต C เป็นโน้ตฐาน



คู่เสียงที่กว้างกว่าอ็อคเท็ฟ
(Compound Intervals)

อินเตอร์วัลที่เราได้ศึกษาผ่านมาแล้ว เป็นซิมเปิ้ลอินเตอร์วัล (Simple Intervals) ทั้งสิ้น นั่นคือ อินเตอร์วัลที่มีขนาดเล็กกว่าอ็อคเท็ฟ ส่วนอินเตอร์วัลที่มีขนาดกว้างกว่าอ็อคเท็ฟ เรียกว่า คอมเปาด์อินเตอร์วัล (Compound Intervals) คือ การรวมตัวของอ็อคเท็ฟและอินเตอร์วัลบางคู่ที่เล็กกว่า สูตรวิธีคิดง่ายๆ คือ บวกเจ็ดรวมเข้าไปกับอินเตอร์วัลคู่เล็ก เช่น คู่ 2 ก็จะขยายเป็นคู่ 9, คู่ 3 ขยายเป็นคู่ 10 และ คู่ 4 ขยายเป็นคู่ 11 เป็นต้น

ตามปกติแล้ว คุณลักษณะของอินเตอร์วัลจะยังคงที่เหมือนกับคู่ขนาดเล็กของมัน เมเจอร์อินเตอร์วัลก็จะยังเป็นเมเจอร์อินเตอร์วัล หรือไมเนอร์อินเตอร์วัลก็ยังเป็นไมเนอร์อินเตอร์วัลเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

มาถึงจุดของการเรียนรู้ตรงนี้ เราได้รับรู้ถึงการเรียกชื่อคอมเปาด์อินเตอร์วัลอย่างเป็นทางการแบบนี้ แต่สำหรับต่อไปข้างหน้าของการวิเคราะห์ศึกษา ที่เกี่ยวพันกับอินเตอร์วัลคู่กว้างเหล่านี้ เขามักจะนิยมใช้เรียกกันเป็นภาษาดนตรีในอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมีความสะดวกและคล่องตัวกว่า คือ เขาจะมองไปในรูปแบบของความสัมพันธ์กับสเกล โดยจะยึดจากลำดับขั้นของเมเจอร์สเกลเป็นหลักในการพิจารณา สำหรับสเกลหรือโหมดอื่นๆ ซึ่งอาจจะติด b หรือ # อยู่ในบางลำดับขั้น ก็จะปรากฎอยู่ในคอมเปาด์อินเตอร์วัลของมันด้วย ลำดับขั้นของสเกลที่จะถูกปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ ให้อยู่ในรูปแบบของคอมเปาด์อินเตอร์วัลในเชิงฮาร์โมนีต่อจากนี้ไป คือ ลำดับขั้นที่สอง, สี่และหก ซึ่งจะกลายเป็นเก้า, สิบเอ็ดและสิบสาม ตามลำดับ เมื่อไปเจอกับอินเตอร์วัลอย่าง m9, A11 หรือ m13 ก็จะเรียกความสัมพันธ์เป็น b9, #11 และ b13

คงจะเข้าใจนะครับ! เพียงแค่บวกเจ็ดเข้าไปในลำดับที่สอง, สี่และหกของทุกสเกลที่เราเจอ ก็จะได้เป็นลำดับเก้า, สิบเอ็ดและสิบสาม ซึ่งเป็นเสียงสีสันสำคัญของทางฮาร์โมนี เราจะได้ศึกษารายละเอียดกันต่อไปในอีกไม่นาน

บางคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมไม่พูดถึงลำดับขั้นที่สาม, ห้าและเจ็ด ในรูปแบบของคอมเปาด์อินเตอร์วัลด้วย ก็เพราะว่า ลำดับขั้นเหล่านี้ คือ คอร์ดโทน หรือเสียงซึ่งเป็นสมาชิกของเซเวนธ์คอร์ด อันเป็นส่วนหลักของฮาร์โมนีอยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆในโครงสร้างแห่งแนวประสานเสียง เราจึงไม่มีความจำเป็นที่จะวิเคราะห์ ให้อินเตอร์วัลเหล่านี้อยู่ในรูปแบบของคอมเปาด์อินเตอร์วัล ในประสบการณ์ของผมเคยได้ยินคนเรียกคู่ 10 อยู่บ้าง นอกจากนั้นเขาก็ไม่ได้ใช้กัน จะเห็นอ้างอิงแต่เพียงในตำราเท่านั้น

ก็เป็นอันว่า อินเตอร์วัลในภาคทฤษฎีจะจบสมบูรณ์เพียงแค่นี้ครับ ลำดับต่อจากนี้ไปจะเป็นเรื่องของอินเตอร์วัลภาคปฏิบัติ ซึ่งจะเป็นด่านอรหันต์สุดโหด ที่จะต้องใช้ความมานะพยายาม อดทน มุ่งมั่น ทุ่มเทในการฝึกฝนอย่างมากมายมหาศาล เพื่อที่จะพิชิตผ่านไปได้ งานนี้อาจจะต้องใช้เวลาเป็นปีหรือหลายปี ก็ยังได้ไม่หมด หรือยังไม่คล่อง แต่ผลที่ได้รับนั้นจะคุ้มค่าสำหรับความเป็นนักดนตรีของคุณ ไม่ว่าจะได้มามากหรือน้อยก็ตาม ถ้าเปรียบเป็นหญิงสาว ก็จะเป็นคนที่จีบยากมากที่สุดคนหนึ่ง ถ้าไม่รักจริงหวังแต่ง ก็คงไม่ทนตื๊ออย่างไม่เลิกรา จนสาวเจ้าใจอ่อนยอมทอดไมตรีตอบรับรักอย่างแน่นอน

อันนี้ก็ต้องท้าพิสูจน์กัน เตรียมความพร้อมไว้ให้ดีนะครับ


(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 100 พฤศจิกายน 2006)