Tuesday, November 29, 2011

Music of the Islands


ดนตรีชาวเกาะ


ผมได้ยินนักดนตรีสองคนคุยกัน คนหนึ่งเล่นอยู่แถวหน้าหาดป่าตอง อีกคนหนึ่งเล่นที่ผับในตัวเมืองภูเก็ต นักดนตรีหน้าหาดเลกเชอร์ให้รุ่นน้องได้รับรู้ถึงคุณสมบัติ, ความเก๋า และความรอบตัวในการเลือกเล่นเพลง ซึ่งต้องปรับโปรแกรมเพลงให้เป็นที่ถูกใจแขกหลากหลายเผ่าพันธุ์ ผมฟังแล้วคันปาก ได้แต่นึกค้านอยู่ในใจว่า ทำไมเราถึงไม่คิดขายความเป็นไทย ความเป็นภูเก็ตของเรากันบ้างนะ? ช่วยกันสร้างแบรนด์ดนตรีของเราขึ้นมา แทนที่จะลอกกากของฝรั่งขายกินไปวัน ๆ แต่แล้วก็ต้องรีบปลงในฉับพลัน เมื่อนึกได้ว่าระบบการศึกษาของบ้านเราแทบจะไม่ได้สอนให้เด็กเราคิด ทั้ง ๆ ที่เด็กไทยโดยทั่วไปนั้น ผมกล้ารับประกันว่าไม่โง่กว่าเด็กชาติไหนในโลกนี้ ครั้นจะไปโทษครูก็กระไรอยู่ เพราะครูก็ถูกถ่ายทอดมาแบบเดียวกันกับเด็กที่เขาส่งต่อความรู้ให้

ย้อนหลังไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว สมัยที่ผมทำงานให้กับสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ นักดนตรีภูเก็ตได้ประสบกับปัญหาโดนนักดนตรีต่างชาติแย่งงานจนเดือดร้อนกันมาก ทางสมาคมดนตรีฯ ได้ร้องเรียนไปยังส่วนราชการ ท่านผู้ว่าฯ เจด็จ อินสว่าง ในสมัยนั้นได้เชิญตัวแทนนักดนตรีและผู้ประกอบการธุรกิจด้านโรงแรมมาร่วมกันถกหาทางออก และทางแรงงานจังหวัดก็ได้ออกหนังสือเตือนไปยังโรงแรมต่าง ๆ ให้กวดขันในการว่าจ้างนักดนตรีต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำการแสดง ซึ่งช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง ผมเคยเสนอในตอนประชุมของกรรมการสมาคมดนตรีฯ ให้สอดแทรกจุดขายความเป็นไทยของเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง สิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้ คือ การอัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และต้องประกาศด้วยความภูมิใจให้แขกได้รับรู้ถึงพระปรีชาสามารถในด้านดนตรีของในหลวงของเราด้วย และการดึงให้แขกได้เข้ามามีส่วนร่วมกับวงดนตรี จะเป็นการสร้างความประทับใจที่ดีเยี่ยม อาจจะเป็นไฮไลต์ของการเดินทางมาเที่ยวไทยเลยทีเดียว ที่ได้มารำวงอย่างสนุกสนานบนฟลอร์เล็ก ๆ หน้าวงดนตรี เฉกเช่นถ้าเราได้ไปเที่ยวฮาวายแล้วได้รำฮูล่ากับสาวฮาวาย ถ้าเราขายความเป็นตัวตนของเราเองได้ เราก็ไม่ต้องหวังเหวิดว่านักดนตรีต่างชาติจะมาเล่นเพลงไทยแย่งงานเรา แต่จะตกงานเพราะสาเหตุอื่น ตอนปลายปีที่แล้ว มีวงดนตรีนำแนวทางนี้ไปปฏิบัติ ปรากฏว่าได้ผลดี แฮปปี้ทั้งแขกต่างชาติและจีเอ็มของโรงแรม

เอกลักษณ์ดนตรีของเกาะภูเก็ต ถ้าไม่ได้รับการเห็นดีเห็นชอบและสนับสนุนอย่างจริงจังต่อเนื่องจากผู้นำท้องถิ่น กำหนดให้วัฒนธรรมรำวงรองเง็งเป็นนโยบายแห่งเกาะ เฉกเช่นที่ศิลปะบาติกภูเก็ตได้แจ้งเกิดไปแล้วนั้น คงต้องใช้เวลาคลำหากันอีกนาน กว่าจะตกผลึกออกมาเป็นต้นแบบได้

ว่าแล้วผมขออนุญาตคลายเครียดด้วยการเป็นไกด์นำทัวร์ไปฟังเพลงยังเกาะต่าง ๆ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกอยากไปทิ้งรอยเท้าไว้บนผืนทราย โดยมีดนตรีเป็นตัวช่วยดึงดูดนักเดินทางให้ก้าวเท้าไปประทับพื้นถิ่นเขามากขึ้นดีกว่า เผื่อจะได้แนวทางมาสร้างเพลงเกาะภูเก็ตของเรากัน

เกาะบาหลี ฉายา “อัญมณีแห่งมหาสมุทรอินเดีย” ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากภูเก็ตมากนักเป็นจุดแรกที่เราจะไปแวะ เขามีดนตรี “แกมะแลน” (Gamelan) ซึ่งหนักไปทางเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเคาะเป็นตัวหลัก มีทั้งฆ้อง, ระนาด, ฉาบ และกลอง เป็นต้น สำหรับหูคนไทยแล้วสำเนียงของแกมะแลนไม่ได้ชวนให้ตื่นเต้นอย่างที่ฝรั่งเอาไปโหมประโคม เพราะเรารับอิทธิพลของดนตรีชวามานานนับร้อยปีแล้ว จนซึมเข้าสายเลือดหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของไทย ๆ ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด เราจะรู้สึกคุ้นเคยกับบางช่วงที่ไม่แตกต่างกับฟังเพลงไทยเดิม หรือบางเพลงของเขาชวนให้ย้อนอดีตนึกถึงวัยเด็กที่นั่งดูหนังตะลุงกลางแปลง







หมู่เกาะฮาวายในมหาสมุทรแปซิฟิก รัฐอโลฮา(Aloha State) ของอเมริกา นอกจากสภาพธรรมชาติสวยงามที่เขามีอยู่มากมายหลากหลาย ซึ่งรักษาสภาพไว้อย่างดีเพื่อขายกินกันได้นาน ๆ เขามีดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นชัดเจนมาก ด้วยเสียงกีตาร์ฮาวายไหวพลิ้ว กล่อมให้นักท่องเที่ยวเคลิบเคลิ้มไปในบรรยากาศของหาดทราย สายลม สองเรา หรือใช้บรรเลงประกอบการส่ายสะโพกในลีลาฮูล่าของสาวโพลีเนเชียนพื้นเมือง เสน่ห์ของกีตาร์ฮาวายโปรยไปทั่วแผ่นดินใหญ่ของอเมริกาตั้งแต่สมัยทศวรรษที่สามสิบ ทั้งยังเป็นต้นแบบของสตีลกีตาร์ (Steel Guitar) ของดนตรีคันทรีด้วย และยังมี “สแลกคีย์กีตาร์” (Slack Key Guitar) สไตล์การเล่นเกากีตาร์แบบเฉพาะตัวของฮาวาย ที่มีความเป็นมาย้อนหลังเท้าความไปเกือบ 200 ปี ถึงสมัยที่ต้องอิมพอร์ตแรงงานต่างด้าวมาทำงานด้านเกษตรกรรมจากสเปนและเม็กซิโก ซึ่งหิ้วกีตาร์มาเป็นเพื่อนแก้เหงาด้วย เพราะคนฮาวายพื้นเมืองหยิ่งในศักดิ์ศรี ไม่ค่อยจะยอมทำงานประเภทขายแรงงาน








ผมเคยเรียบเรียงเพลงพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช “เกาะในฝัน” (Dream Island) สำหรับเดี่ยวกีตาร์คลาสสิกให้นักกีตาร์เยอรมันหัวใจไทย ฮัคกี้ ไอเคิลมานน์ (Hucky Eichelmann) เมื่อหลายปีก่อน ในสไตล์การเล่นกีตาร์แบบสแลกคีย์นี้ และในวันนี้ผมก็ยังเล่นเพลง “เกาะในฝัน” กับคุณณรงค์ หงส์หยก ซึ่งเล่นกีตาร์ฮาวายได้หวานจับใจมาก คนทุ่งคาเราได้ซึมซาบในเสียงเพลงฮาวายผ่านปลายนิ้วคุณณรงค์ หงส์หยกมากว่า 40 ปีแล้วครับ ในขณะที่คนรุ่นใหม่บนเกาะต้นแบบกลับฝักใฝ่ปันใจให้กับลีลาเร็กเก จนกลายพันธุ์เป็นจาไวเอียนเร็กเก (Jawaiian Reggae) ซึ่งเขาทำออกมาได้ดีน่าสนใจมากครับ และยังมีฮาวายเอียนฮิพฮอพ (Hawaiian Hip Hop) อีกด้วย


จาเมกา ที่คนไทยเรียกผิด ๆ ตามกันมานานว่า จาไมกา จนเป็นที่ยอมรับกันแบบไทย ๆ ไปแล้ว ก็ภาษาอังกฤษมันเขียน Jamaica นี่หว่า คนโบราณเขาจะไปรู้ได้ยังไงว่า เขียนอย่างนี้แล้วดันอ่านออกเสียงเพี้ยนไม่เหมือนตัวสะกด สมัยก่อนไม่มี Talking Dictionary แบบพกพา หรือถาม Dictionary.com ทางอินเตอร์เน็ตให้ออกเสียงคลายข้องใจได้อย่างทันอกทันใจเหมือนวันนี้

จาเมกาเป็นประเทศเกาะในแถบทะเลคาริเบียน ทางใต้ของคิวบา นอกจากจะขายหาดทรายขาว ฟ้าใส ทะเลสวยเหมือนภูเก็ตแล้ว เขายังมีโกปี๊บลูเมาเทนที่คุยได้เต็มปากว่า ดีที่สุดในโลก แต่ตัวโปรโมตให้คนทั้งโลกได้รู้จักกับจาเมกากันอย่างดี ต้องยกเครดิตให้กับดนตรีเร็กเก (Reggae) จากเกาะนี้ ไม่ใช่แค่ดนตรีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังส่งอิทธิพลครอบงำเลยเถิดไปถึงวิถีชีวิตด้วย เป็นอะไรที่แรงมาก ๆ เลย ไม่เบากว่ายุควัยรุ่นที่โตขึ้นมากับแนวดนตรีร็อกเซเวนตี้ จะต้องไว้ผมยาว ใส่เสื้อยืด กางเกงยีน เมื่อสองปีที่แล้วผมไปเที่ยวเกาะยาวน้อย ได้เจอทีมไกด์นำเที่ยวเกาะและปีนเขา พวกเขามีไลฟ์สไตล์แบบรัสตาฟารี (Rastafari) ของคนเร็กเกเต็มตัวเลย ก็ดูกลมกลืนดีกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติของเกาะยาว ในภูเก็ตเราก็มีผับเฉพาะของคนผมฟั่นเชือก มองเห็นสีอาคารสดใสด้วยเขียวเหลืองแดงผาดเดียว แวะเข้าไปสัมผัสบรรยากาศได้เลย






แล้วเราแวะปิดรายการทัวร์ที่เคปเวอร์ด (Cape Verde) เกาะเล็ก ๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา ไปฟังคุณป้าเซซาเรีย แอวอรา (Cesaria Evora) "ราชินีเท้าเปลือย" หรือจะเรียกแบบบ้านเราก็น่าจะประมาณว่า "ราชินีตีนเปล่า" เธอกล่อมด้วยน้ำเสียงกลั่นมาจากใจ สื่อความหมายด้วยภาษาปอร์ตุเกส ที่ผมฟังไม่กระดิกหู แต่รับรู้ได้ในอารมณ์ของภาษาคนธรรพ์ ทำนองพื้นบ้านบนลีลาดนตรีเนิบ ๆ ใส ๆ กึ่งบอสซาโนวา กึ่งลาติน ฟังสบายหูของสไตล์มอร์นา (Morna) แห่งเคปเวอร์ด








มีโอกาสผมอยากจะเขียนเจาะลึกเรื่องดนตรีของแต่ละเกาะที่เกริ่นมาแล้วและอีกหลายๆเกาะในรายละเอียด ไล่เรียงกันไปทีละเกาะ ครั้งหน้าตั้งเป้าไว้ว่าจะพาไปฟังเพลงของเกาะแมนฮัตตัน แต่คงใช้เวลาพอสมควรในการเดินทาง เพราะจะเริ่มทัวร์จากเมืองนิวออร์ลีน




(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Phuket Bulletin ฉบับที่ 86 กรกฎาคม 2009)