Saturday, April 17, 2010

Wes Montgomery




Wes Montgomery
เป็นนักกีตาร์แจ๊สคนแรก ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ในหมู่คนฟังเพลงทั่วไป นอกเหนือไปจาก คอแจ๊สที่รู้กันดีอยู่ว่า เขาคือ นักกีตาร์แจ๊สหัวแถว ทายาททางดนตรีของ Charlie Christian บิดาแห่งแจ๊สกีตาร์ ผู้บุกเบิกให้โลกได้รับรู้ถึงศักยภาพของกีตาร์ไฟฟ้าในแนวแจ๊ส และ Wes ได้ขยายสมรรถนะ ความเป็นไปได้ของเครื่องสายชนิดนี้ ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เขาเป็นผู้ทะลวงทำลายปราการที่กีดกั้น จำกัดการแสดงออกของกีตาร์ ด้วยการสาธิตให้ประจักษ์ถึงความเป็นไปได้ ของสิ่งที่ผู้คนทั้งหลายคิดว่า เป็นไปไม่ได้สำหรับกีตาร์

Jim Hall เพื่อนนักกีตาร์แจ๊สด้วยกัน ได้กล่าวเปรียบเปรย ถึงระดับความก้าวหน้าที่เวสได้บรรลุถึง ไว้ว่า

“เวสนั้นเป็นเหมือนกับนักวิ่งคนแรก ที่ทะลวงเวลาสี่นาทีต่อหนึ่งไมล์ได้สำเร็จ พวกที่ตามมาทีหลัง อาจจะเล่นแบบอ็อกเทฟมหาโหดเหล่านั้นได้ และใช้นิ้วโป้งเล่นได้อย่างถึงอารมณ์เช่นกัน แต่คุณรู้มั้ยว่า เขาทิ้งคนรุ่นก่อนไว้ข้างหลังโน่น”

เรื่องราวของเวส ดูไปก็คล้ายคลึงกับตัวละครในนิยายจีน ประเภทกำลังภายใน ของจอมยุทธผู้มีฝีมืออันสูงส่ง ซุ่มตัวแสวงหาความสันโดษอยู่ในป่าเขา แต่โลกของแจ๊สยังนับว่าโชคดี ที่มีคนไปค้นพบเขา และนำเอาตัวไปอัดเสียง มาเป็นผลงาน ให้เราได้ชื่นชม และศึกษาเป็นแนวทางกันตลอดไป

John Leslie Montgomery เป็นชื่ออย่างเป็นทางการ ของนักกีตาร์แจ๊สที่ไม่เหมือนกับนักกีตาร์แจ๊สคนใดทั้งสิ้น เขาหัดเล่นกีตาร์ด้วยตัวเอง เมื่อปี 1943 ตอนอายุย่างสิบเก้าแล้ว เวสซื้อแอมป์และกีตาร์ หลังแต่งงานได้เพียงสองสามเดือน เขาเคยมีกีตาร์เทเนอร์สี่สายอยู่ตัวหนึ่ง พี่ชายซื้อให้เป็นของขวัญวันเกิด ตอนอายุ 12 ขวบ แต่ก็ไม่ได้เล่นเป็นสาระอะไรกับมันนัก จนกระทั่ง เมื่อได้กีตาร์หกสายแบบทั่วไป และได้มาเริ่มให้ความสนใจ นับหนึ่งใหม่อย่างจริงจัง ทันทีที่ได้ฟัง Solo Flight ของ Charlie Christian เวสจังงังเหมือนโดนมนต์สะกด มันเป็นความประทับใจที่ตราตรึงฝังแน่น ไม่เคยลบเลือนไปจากความทรงจำ เขาท้าวความย้อนหลังให้ฟัง ถึงอุบัติการณ์ ที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงครั้งนั้น อีกเกือบยี่สิบปีต่อมา ว่า

Solo Flight เป็นแผ่นแรกที่ผมได้ฟัง โอ้โฮ, มันเหลือเกินจริงๆ! มันยังก้องอยู่ในหูผมเลย! เขาใช่เลย สำหรับผม และผมก็ไม่แสวงหาใครอื่นอีก ผมไม่ฟังคนอื่นเลยราวปีกว่าๆ ฟังใครก็ไม่เข้าหูไปหมด”

ก่อนหน้านี้ เวสเคยชื่นชอบนักกีตาร์ยิปซี Django Reinhardt กับ Les Paul รวมทั้งนักกีตาร์รุ่นนั้นอีกหลายคน แต่ก็ไม่มีใครจะโดนใจเขา เหมือนกับสำเนียงร่วมสมัยล้ำยุคของ Charlie Christian ที่มีพลังกระตุ้นให้เด็กหนุ่มวัยสิบเก้า ผู้รักเสียงดนตรี แต่ยังไม่มีแรงจูงใจอะไร ที่จะโน้มน้าวเขาให้ถึงกับอยากจะเป็นนักดนตรีคนนี้ ฮึดขึ้นมาหัดเล่นกีตาร์อย่างมุ่งมั่น แทบจะไม่ยอมปล่อยวางให้ห่างมือ

เวสกวาดซื้อแผ่นเสียงทุกแผ่นของ Charlie Christian เท่าที่จะหาได้ ฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่า จดจำทำนองโซโล จนขึ้นใจได้หมดทุกท่อน แกะเม็ดพราย รายละเอียด ในลีลาสำเนียง การเอื้อนวรรคตอน ประโยควลีทำนอง สัดส่วนขเบ็ตแห่งจังหวะ เล่นคลอตามไปกับแผ่นเสียงผู้เปรียบเสมือนครู จนไม่เหลื่อมคร่อม หกเดือนหลังจากนั้น เวสออกปฏิบัตการจริงภาคสนาม เข้าร่วมเล่นอาชีพกับวงท้องถิ่น อาศัยลูกกีตาร์โซโลของคริสเตียนเพียงอย่างเดียว เป็นเครื่องมือทำมาหากิน

แทนที่จะใช้ปิ้กเหมือนนักกีตาร์ทั่วไป เวสกลับใช้นิ้วโป้งดีด เขาเคยหัดเล่นกับปิ้กอยู่ราวสองเดือน แต่เสียงที่บันดาลออกมาไม่ถูกใจ เหมือนกับการใช้นิ้วโป้งดีดสัมผัสสายเหล็ก ซึ่งให้เนื้อเสียง ทุ้มนุ่ม เสนาะโสตกว่า แม้ว่าจะชอบเทคนิคการใช้ปิ้ก ที่ช่วยให้การเล่นสปีดเร็วได้ดีกว่า เวสตกอยู่ในสภาวะ รักพี่เสียดายน้อง ต้องชั่งใจอยู่พักหนึ่งว่า จะเลือกเอาซาวด์หรือสปีด และในที่สุด ก็ตัดสินใจเลือกใช้นิ้วโป้ง เป็นคำตอบสุดท้าย

หรือในตำนานอีกเวอร์ชันหนึ่ง มาจากเพราะเมียบ่น หนวกหู จนเขาต้องหลบเข้าดีดในมุมห้อง ลดโวลูมเสียงให้เบาลง ทิ้งปิ้ก ใช้นิ้วโป้งดีดออกมาเป็นเสียงนุ่มหูกว่า จนเมียเลิกบ่น ก็เป็นอันว่า ผ่าน

George Barnes นักกีตาร์แจ๊สรุ่นใหญ่ ผู้เคยเล่นสลับกับเวส ชื่นชมกับโป้งทองของเวส ว่า

“ผมดูเขาอย่างตลึงเลยละ เขาใช้นิ้วโป้งยังกะปิ้ก เขาใช้มันดีดทั้งขึ้นและลง และไม่เพียงแค่นั้นนะ, เขายังดีดรัวถี่ยิบกับมันได้ด้วย”

เวสไม่เคยรู้ว่าการดีดกีตาร์สายคู่ โดยใช้ตัวโน้ตเดียวกัน ในต่างระดับเสียง เป็นเสียงคู่แปด(Octave) และที่ยิ่งกว่า คือ การเล่นแบบบล็อกคอร์ด(Block Chords) ด้วยกีตาร์ ในระดับที่ตัวเองเล่นออกมานั้น เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้เลย แต่กว่าจะมีคนมาบอกให้รู้ ก็ทำเอายอดกีตาร์แจ๊สทั้งหลาย ที่ได้ดูเขาเล่น ต้องตาค้าง อ้าปากหวอ ไปตามกัน ในความมหัศจรรย์ของเทคนิค ที่ใช้เป็นเพียงองก์ประกอบของความสวยงาม แห่งดนตรีที่เวสสร้างสรรค์ออกมา

นอกจากช่วงสองปี(1948-50) ที่เขาตะเวนเล่นไปกับวงของ Lionel Hampton นักตีระนาดไฟฟ้า อดีตสมาชิกวง Benny Goodman ยุครุ่งเรืองสุดขีด ที่เวสคุ้นเคยสำเนียงไม้นวมจากแผ่นเสียง สมัยเล่นเคียงคู่กับ ชาร์ลี คริสเตียน ในวงของนักคลาริเน็ต ฉายา ราชาแห่งสวิง แล้ว เวสเล่นดนตรีอยู่แถวละแวกบ้านเกิด บริเวณอินเดียนาโปลิสตลอด สาเหตุใหญ่ ที่ทำให้เขาปลีกตัวไปไหนไม่ได้ เนื่องมาจากภาระทางครอบครัวอันหนักอึ้งที่ต้องแบกรับอยู่ เวสเป็นพ่อลูกดก มีลูกถึงเจ็ดคน เลยต้องลุยงานหนัก เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว กลางวันทำงานในโรงงานผลิตชิ้นส่วนวิทยุ พอตกกลางคืน ต้องไปเล่นดนตรีรอบแรกที่ Turf Bar ตั้งแต่สามทุ่มถึงตีสอง แล้วไปเล่นต่ออีกสองชั่วโมงครึ่ง ให้พวกนักเที่ยวยามดึกฟังที่ Missile Room เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดหกปี หลังจากที่เขาออกจากวงของ Hampton แต่เวสก็ไม่เคยปริปากบ่น งานยิ่งหนัก ยิ่งทำให้เขาแกร่ง

เวส เคยอัดเสียงร่วมกับวง Mastersounds ซึ่งเป็นวงของสามพี่น้อง Montgomery มีพี่ชาย Monk Montgomery ผู้บุกเบิกในการเอากีตาร์เบสไฟฟ้ามาเล่นแจ๊ส และ Buddy Montgomery ผู้น้อง นักเปียโน และนักระนาด(Vibes) ฝีมือดีคนหนึ่ง และตัวเขาเองเป็นสมาชิกหลัก ต่อมาในปี 1957 Monk และ Buddy ซึ่งร่วมเล่นกันมาเป็นเวลาหลายปี ณ Turf Bar แยกตัวออกไปลุยทางฝั่งเวสต์โคสต์ แต่เวส พ่อบ้านครอบครัวใหญ่ ต้องปักหลักเล่นอยู่ที่เดิม ขัดเกลาสไตล์การเล่นเฉพาะตัว ฝ่าด่านสู่อาณาเขตที่ยังไม่มีนักกีตาร์คนไหนเคยล่วงล้ำเข้าไป พัฒนาจนสมบูรณ์ลงตัวไร้เทียมทาน อยู่ในบาร์เล็กๆ นอกวงจรแจ๊ส แถวบ้านเกิด ภายหลังที่เขาดังขึ้นมา สามพี่น้องก็ได้กลับมารวมทีมกันอีกครั้ง ตะเวนเดินสายไปทั่วอเมริกา ภายใต้ชื่อ The Montgomery Brothers ได้รับความสำเร็จมากพอสมควร

ในช่วงทศวรรษห้าสิบ แม้แต่คนวงในแห่งโลกแจ๊ส เพียงจำนวนไม่มาก ได้รับรู้เรื่องราว ที่พวกนักดนตรีขาจร ผู้เคยแวะเยือนอินเดียนาโปลิส ช่วยกันโหมประโคมเล่า ปากต่อปาก ถึงกิตติศัพท์ของนักกีตาร์บ้านนอก ผู้ไม่รู้โน้ต แต่เล่นได้แทบทุกอย่าง ถ้าได้ฟังผ่านหูสักครั้ง หรืออย่างมากแค่สองครั้ง และสามารถด้นไปเรื่อยๆเป็นชั่วโมง โดยไม่มีวันจน ไม่ซ้ำลูกเดิม

“ทุกๆเรื่องที่คุณได้ยินเกี่ยวกับ Wes Montgomery มันมักจะต้องไปเกี่ยวข้องกับอะไรที่เหลือเชื่อเสมอ และเรื่องราวทั้งหมดที่เกี่ยวกับเวสนั้น เป็นเรื่องจริง”

เป็นคำยืนยันความถูกต้อง จาก Melvin Rhyne นักออร์แกน ผู้ร่วมลำบากด้วยกัน อยู่ในสภาวะเดียวกันมาในยุคนั้น

หลังจากเสร็จสิ้นจากภาระกิจ การเล่นโชว์ตัวคืนเดียวที่อินเดียนาโปลิส Cannonball Adderley นักเป่าอัลโตแซ็ก แถวหน้าของแจ๊ส แวะเข้าไป Missile Room สัมผัสบรรยากาศแจ๊สท้องถิ่นยามดึก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ เวสกำลังอิมโพรไวส์อย่างได้ที่ Adderley โดนสำเนียงเสียงคู่แปด รัวกระแทกใส่ จนร่างใหญ่ อ้วนกลมของเขา แทบจะตกเก้าอี้ที่นั่งฟังอยู่ เขาตื่นเต้นในฝีมือการเล่นกีตาร์ของเวส จนแทบจะระงับใจไว้ไม่อยู่ อีกสองวันต่อมา รีบดิ่งไปยังสำนักงานของบริษัทแผ่นเสียง Riverside ในนิวยอร์กทันที พรั่งพรูกล่าวสรรเสริญเวสอย่างเลอเลิศ ใส่ให้ Orrin Keepnews หุ้นส่วนของบริษัท ฟังจนเคลิ้มตาม


ห้าวันต่อมา ออร์รินบินไปอินเดียนาโปลิส เพื่อพิสูจน์ให้เห็นจริงด้วยตัวเอง ถึง Turf Bar และยังตามต่อไปที่ Missile Room เขานั่งอยู่โต๊ะติดขอบเวที ได้เห็นกันจะจะ ตรงหน้าเวส ที่นั่งเล่นกีตาร์กิ๊บสันตัวใหญ่ รุ่น L5 ตัวโปรด ด้วยใบหน้าโปรยยิ้มอย่างมีความสุข ที่ได้ทำในสิ่งที่เขารัก ออร์รินมองตามนิ้วโป้งดีดสาย เห็นมันพร่าลานตาไปหมด เขาใช้เวลาในการตัดสินใจเพียงแค่ 30 วินาที และกางสัญญาอัดแผ่นเสียง ขอลายเซ็นเวสในบาร์ ตอนรุ่งสางของคืนนั้นเลย

อีกไม่ถึงสองอาทิตย์ เวสปรากฎตัวในนิวยอร์ก เพื่อเข้าสตูดิโอบันทึกเสียงอัลบั้มชุดแรก เขามีโอกาสขึ้นไปแจมกับ Horace Silver นักเปียโนฮาร์ดบ็อป ซึ่งกำลังเล่นอยู่ที่ Village Gate เวสเรียกเสียงเฮจากคนดูอย่างกึกก้อง เขาโซโลอยู่นาน จนสะใจคนฟัง ภายหลังในช่วงพัก ซิลเวอร์ได้บอกกับเวส ว่า

“นายเล่นคนละคีย์กับเราเลยวะ แต่มันออกมาดีเหลือเกิน จนเราไม่อยากขัดจังหวะบอกนาย”

ช่วงเวลาที่เวส มาเริ่มต้นอัดเสียงให้กับ Riverside อายุปาเข้าไป 36 ปี แล้ว ฝีมือการเล่นกีตาร์กำลังเปล่งพลานุภาพอยู่ในช่วงสุดยอด เขาลุยเดี่ยวเข้านครนิวยอร์ก แหล่งชุมนุมของเหล่ายอดฝีมือแจ๊สทั้งหลาย ตอนเข้าห้องอัด ก็แทบจะไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้าอะไรเลย ต้องมาประกบกับทีมนักดนตรี ที่ไม่เคยเล่นด้วยกันมาก่อน ในบางสถานการณ์ที่ต้องเล่นเพลงใหม่ ไม่คุ้นหู หรือเพลงต้นแบบ แต่งเอง ถึงจะมีโน้ตมาวางให้ เขาก็อ่านไม่ออก หรือแม้จะเขียนเป็นแบบคอร์ดชาร์ต ก็ไม่รู้จัก อาศัยหูทิพย์เพียงอย่างเดียว ในการประมวลผล บันทึกเข้าสู่หน่วยความจำ ด้วยอัตราความเร็วเท่าเทียมกับคนอ่านโน้ตได้ สยบเซียนแจ๊สผู้ร่วมงาน ให้ศิโรราบในความจำเป็นเลิศ เหมือนเครื่องเทปอัดเสียงของเขา

เวส กลายเป็นดาราขึ้นมาในชั่วข้ามคืน หลังจาก Riverside ค้นพบเขาในปี 1959 เหล่านักวิจารณ์แจ๊สตื่นเต้นกับปรากฏการณ์ใหม่ ที่ประทุขึ้นมาในโลกแจ๊ส ต่างรุมกันเขียนเชียร์ยกใหญ่ ไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองเป็นคนล้าหลัง ตกข่าว และพร้อมใจกันโหวต ให้เขาเป็นสุดยอดแห่งนักกีตาร์แจ๊ส หลังแจ้งเกิดเพียงไม่นาน Ralph Gleason นักวิจารณ์แจ๊สรุ่นใหญ่ เขียนไว้ดี ได้ใจความ ว่า

“ตอนที่เวสเข้ามาในวงการ เขาเต็มไปด้วยความแปลกใหม่ และเต็มไปด้วยพลัง ไล่ต้อนคนอื่น ให้มุดเข้าไปหลบกันอยู่ในสตูดิโอ”

แม้จะเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังแล้ว แต่ฐานะทางเศรฐกิจของเขา ไม่ได้กระเตื้องขึ้นมาเท่าใดนัก ไม่เคยมีผลงานทรงคุณค่าชุดไหนของเวส ยุคสังกัดริเวอร์ไซด์ รุ่นพิมพ์ครั้งแรก ทำยอดขายได้เกินหมื่นชุดเลย Keepnews ปลอบใจให้เขาอดทนต่อไป ว่า

“เมื่อปีที่แล้ว ยังไม่มีใครรู้จักคุณเลย คุณเป็นพวกจรจัดและจน ตอนนี้ คุณเป็นดาราและยังจนอยู่ นั่นนับเป็นความก้าวหน้าแล้วนะ”

ไปฟัง Orrin Keepnews ย้อนความหลังใน YouTube



ผลงานของเวส จากยุคริเวอร์ไซด์ ได้รับการยกย่องว่า เป็นช่วงเวลาที่เขาผลิตผลงานการเล่น ออกมาได้ดีที่สุดในชีวิต และงานระดับหัวกะทิของค่ายนี้ ในยุคสมัยอนาล็อก ที่ยังต้องให้หัวเข็มสัมผัสร่องแผ่นไวนีล เพื่ออ่านสัญญาณเสียง ของแผ่นเสียงลองเพลย์นั้น อัลบั้มแผ่นคู่ While We’re Young คือ งานมาสเตอร์พีซของเวส เป็นการเอาชุดเดี่ยวลำดับสอง The Incredible Jazz Guitar ซึ่งบันทึกเสียงไว้ เมื่อวันที่ 26 และ 28 มกราคม 1960 ได้ Tommy Flanagan มาเล่นเปียโนเสริมได้อย่างเหมาะเจาะ บนฐานเครื่องจังหวะที่หนักแน่นของสองพี่น้องตระกูล Heath โดย Percy (เบส) และ Albert (กลอง) และอัลบั้ม So Much Guitar ( 4 สิงหาคม 1961) ที่ขาดตลาดไปนานแล้ว มาประกบคู่กัน ชุดนี้ตัวประกอบไม่เป็นรอง ด้วย Hank Jones คนเปียโนที่ใครๆชอบใช้บริการ เพราะเขาช่วยส่งเสริมให้ตัวนำดูดี Ron Carter ยอดเบสใหญ่ ช่วงยังหนุ่มไฟแรง และมือกลอง Rex Humphries ประสานจังหวะกับนักคองก้า Ray Barretto ผู้มาเคาะ แต่งเติมสีสันลาติน

ความปราดเปรื่องในเชิงด้น ระดับอัจฉริยะของเวส ได้ถ่ายทอดผ่านปลายนิ้วซ้ายกดลงบนเฟร็ต ผสานการดีดโดยโป้งขวา ให้คนฟังได้ซึมซาบถึงความรุ่มรวยในจินตนาการ ความคล่องตัวลื่นไหล ไม่สะดุด ติดขัดในเพลงเร็ว ด้วยความชัดเจน เฉียบขาด หนักแน่น เต็มไปด้วยพลัง และจิตวิญญาณในทุกตัวโน้ต ในทุกอารมณ์ดนตรี

เปิดฉากด้วยความเร้าใจ กับผลงานของ Sonny Rollins ตำนานแซ็กโซโฟนที่ยังมีลมหายใจอยู่ Airegin ชื่อเพลงเอามาจากชื่อประเทศ Nigeria มาเรียงตัวอักษรย้อนจากหลังไปหน้า Cottontail ของท่าน Duke Ellington คือ สนามทดสอบความเร็วในแบบสวิง ซิ่งกันมาแบบเต็มสปีด เหยียบมิดเกจ์ แค่เคาะเท้าตามยังเมื่อย ยามเมื่อผ่อนจังหวะสู่เพลงช้าแนวบัลลาด เวสปรับใจเข้าสู่อารมณ์โรแมนติก ร่ายกรีดสาย กล่อมทำนองหวาน ชวนให้วาบหวิว เคลิ้มตามเสน่ห์ปลายนิ้ว ใน One For My Baby เพลงเหงายามดึก ที่คอแจ๊สรุ่นปู่คุ้นเคยกับเวอร์ชันต้นแบบของ Frank Sinatra เขาเน้นทำนองซึ้งลุ่มลึก ด้วยสายคู่ใน Polkadots and Moonbeams และ In Your Own Sweet Way เขาเปลี่ยนสีสันการนำเสนอทำนอง ด้วยการเล่นแบบบล็อกคอร์ด ฟังสบายๆ ในขณะที่ While We’re Young เป็นเดี่ยวกีตาร์ โดยไม่มีตัวช่วย

ในการเล่นเพลงสแตนดาร์ดเหล่านี้ เราจะสังเกตุเห็นได้ว่า เวสให้ความเคารพในแนวทำนองของครูเพลงเป็นอย่างมาก ไม่ถือวิสาสะบิดเบี้ยวทำนองที่ลงตัวดีอยู่แล้ว ให้ผิดเพี้ยนไป จนไม่หลงเหลือเค้าเดิม อย่างศิลปินแจ๊สบางคน พอขึ้นเพลงมาได้ยังไม่จบท่อน ก็ลุยอิมโพรไวส์เลย แต่เวสจะย้ำทำนองหลัก จนจบเพลงก่อน แล้วค่อยอิมโพรไวส์ ถ้าเราคุ้นเคยกับเพลงเหล่านั้น ก็สามารถร้องตามไปกับเมโลดี้ได้เลย

นอกจากจะได้สัมผัสกับความมหัศจรรย์ ในฝีมือเหนือมนุษย์แล้ว เรายังจะได้ชื่นชมกับความสามารถ ในการแต่งเพลงหลากหลายลีลาของเขาด้วย Four On Six และ West Coast Blues นับเป็นเพลงเด่นที่สุดของชุด และเป็นแบบอย่าง แสดงให้เห็นถึงสไตล์การเล่นกีตาร์ที่ลงตัวสวยงาม มีการผูกประโยคทำนอง ด้วยมุขไม่เคยซ้ำตัวเอง มีสัมผัสคล้องจอง เหมือนได้ฟังการด้นกลอนสด ลักษณะฟอร์มการด้นของเวส มีขั้นตอน ระเบียบแบบแผน ที่จัดเตรียมวางผังไว้เป็นอย่างดี โดยปกติแล้ว เขาจะเริ่มปูทางจากแนวทำนองเดี่ยวก่อน แล้วค่อยเพิ่มความเข้มข้นช่วงกลางด้วยสายคู่ ไปบรรลุถึงจุดไคลแม็กซ์ด้วยบล็อกคอร์ด หลังจากนั้น จึงค่อยสรุป ร่อนลงอย่างสวยงาม

ไปฟังเวส เล่น Four On Six ใน YouTube กัน





D-Natural Blues เป็นอาขยานการเล่นสโลวบลูส์ สำเนียงแจ๊ส ที่ครูเคยให้เป็นเพลงการบ้านแกะลูกโซโล สมัยที่ผมเรียนกีตาร์แจ๊ส ได้ใช้เป็นส่วนหนึ่งของลูกหากิน มาจนถึงทุกวันนี้ เวสเปลี่ยนบรรยากาศมาให้ความรื่นเริงสดใส ในลีลาลาตินแนวรุมบ้าด้วย Mister Walker และเร่งจังหวะให้เร่าร้อน คึกคัก ขึ้นไปอีกใน Twisted Blues

อุปนิสัยส่วนตัวของเวส เป็นคนสมถะ รักครอบครัว เป็นคนนิสัยดี ไม่เคยว่าร้ายใคร ไม่หลงตัวเอง เป็นที่รักใคร่ของทุกคน ใครๆก็อยากร่วมงานด้วย แต่กับตัวเขาเองแล้ว เวสจะเรียกร้องความเป็นเลิศจากผลงาน เพื่อความสมบูรณ์สูงสุด ในเนื้องานอย่างไม่มีการหยวน ด้วยความที่เป็นคนพิถิพิถันในการทำงานมาก ไม่เคยพอใจในการเล่นของตัวเอง เวลาทำงานในสตูดิโอ เขามักจะขออัดเสียงใหม่อยู่เรื่อย ไม่ยอมรับฟังคำของผู้ร่วมงานทุกคน ที่บอกว่า เขาเล่นได้ยอดเยี่ยมแล้ว บางครั้ง เมื่อถึงเวลาเลือก take สำหรับลงแผ่นมาสเตอร์ ก็ก่อให้เกิดความยุ่งยากใจไม่น้อย เพราะดีสูสีกันมาก ถึงกับต้องใช้วิธีเอาเหรียญมาโยนหัวโยนก้อยตัดสิน บางเพลงก็ไม่มีโอกาสคลอดออกมา ให้คนนอกสตูดิโอได้ฟังกัน เพราะความจำกัดเนื้อที่ความจุ ของร่องแผ่นเสียงแห่งเทคโนโลยียุคนั้น อัลบั้ม The Alternative ออกมาในปี 1982 คือ ผลพลอยได้จากความจู้จี้ของเวส 14 เพลงของชุดนี้ เป็น take อัดเผื่อเลือก สำหรับอัลบั้มชุดต่างๆ ของ Riverside ที่เวสไม่ยอมปล่อยให้ผ่านออกไปเป็นแผ่นเสียง ยกเว้น Born To Be Blue เพลงเดียว

ช่วงเวลาสี่ปีกว่าที่เวส สังกัดริเวอร์ไซด์ เขามีผลงานภายใต้ชื่อตัว ในฐานะศิลปินนำร่วม และในฐานะศิลปินรับเชิญ ประกบกับ Cannonball และ Nat Adderley, Milt Jackson, Harold Land และ George Shearing รวมทั้งหมด 12 อัลบั้ม มาสเตอร์เหล่านั้นได้ถูกชำระใหม่ รวบรวมมาอยู่ในกล่องเดียวกัน ภายใต้ชื่อ The Complete Riverside Recordings (Riverside 12RCD-4408-2) ถ้าใครอยากจะเจาะลึก ฟังเวสให้เต็มอิ่ม จุใจ กับเกือบ 14 ชั่วโมงของคอลเล็กชันนี้ ควรจะหาซีดีกล่องนี้ มาเป็นสมบัติไว้ แต่ถ้ามีงบจำกัด ก็ยังยืนยันให้หาซีดีเดี่ยว The Incredible Jazz Guitar (Riverside) และ So Much Guitar (Riverside) เพราะซีดีเวอร์ชันของ While We’re Young ยังไม่ผลิตออกมาในตอนนี้

เวสผู้มีปัญหาเกี่ยวกับความเครียด มีอาการเป็นไมเกรน จนต้องเข้าพบแพทย์ ให้ช่วยบำบัดอาการอยู่บ่อยครั้ง และการขึ้นไปล่องลอยอยู่ในเครื่องบินบนท้องฟ้า เป็นสิ่งที่น่ากลัวมากสำหรับเขา เวสจะหลีกเลี่ยงงานแสดงคอนเสิร์ต หรือเล่นในคลับที่ต้องเดินทางไกล เกินการเดินทางโดยรถยนต์ ถ้ามีความจำเป็นจะต้องนั่งเครื่องบิน ก็จะเป็นทางเลือกสุดท้ายของการเดินทาง อย่างเช่นกิ้กที่ปฏิเสธไม่ได้ในปี 1962 เมื่อเวสได้รับเชิญให้ไปร่วมเล่นกับ John Coltrane ผู้นำแห่งแจ๊สเวลานั้น ที่บาร์ Jazz Workshop เมืองซาน ฟรานซิสโก และแสดงต่อในงานเทศกาลแจ๊สที่มอนเทอเรย์ แคลิฟอร์เนีย ทางฝั่งตะวันตก เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่มีใครบันทึกเสียงการแสดงประวัติศาสตร์เหล่านี้ไว้เลย

หลังจากที่ Riverside เลิกกิจการไปในปี 1964 เวสได้ย้ายไปสังกัดบริษัท Verve ภายใต้การดูแลของ Creed Taylor โปรดิวเซอร์ผู้เล็งเห็นถึงความเป็นไปได้ ของการนำเสนอเสียงกีตาร์ของเวสสู่ตลาดป็อป เทเลอร์วางแนวการเล่นของเวสใหม่ มุ่งไปตามกระแสกลไกตลาดดนตรีป็อป สรรหาเพลงที่คนฟังคุ้นหูกันดีอยู่แล้ว มาเรียบเรียงใหม่ จากปลายพู่กันเสียงของ Don Sebesky อเรนเจอร์ผู้รุ่มรวยไอเดีย ในด้านแต่งแต้มประดิษฐ์ประดอยเพลง ให้เป็นที่เสนาะโสตยิ่งขึ้น

อัลบั้มขายดี ที่เขาอัดให้ Verve ช่วงปี 1965-66 นับได้ว่า เป็นต้นสายของแนวครอสโอเวอร์ ประเภท Smooth Jazz ที่ออกมาเกลื่อนตลาดยุคสหัสวรรษนี้ และเวสโดนแจ็กพอร์ต เงินทองไหลมาเทมาอย่างไม่ขาดสาย กับเพลง Goin’ Out Of My Head ผลงานที่นักฟังเพลงคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ได้รับการโหวตให้เป็นเพลงยอดเยี่ยม ประเภทบรรเลง และเป็นเพลงฮิตยอดนิยมเพลงหนึ่งของวิทยุเอเอ็ม ในปี 1966


ชีวิตในช่วงหลังของเวส เปลี่ยนไปอย่างมาก แนวการเล่นและทัศนคติเกี่ยวกับดนตรีของเขา แทบจะกลับกลายจากหน้ามือ เป็นหลังมือไปเลยทีเดียว เวสกล่าวย้ำว่า เขากำลังเล่นดนตรีป็อป และควรจะมองกันในแนวนี้ เวสโดนสังคมแจ๊สประณาม ในข้อหาประพฤติผิดจรรยาบรรณ ต่ออาชีพศิลปินแจ๊ส ดุจเช่น Louis Armstrong ที่เคยโดนพวกแจ๊สตกขอบลงโทษ ยำกันจนเละ สะบักสะบอมมาแล้ว และเหยื่ออันโอชะรายปัจจุบัน George Benson ทายาททางแจ๊สกีตาร์ของเวส ผู้ไปได้ดีทางป็อปยิ่งกว่าคนแจ๊สใดๆ

เขาเคยรำพันให้คนใกล้ชิดฟังถึงความอึดอัด ที่ต้องมาเล่นเพลงป็อปเอาใจตลาด แต่ก็เป็นสิ่งไม่ยาก ที่จะให้เราเข้าใจว่า ทำใมเขาจึงต้องทำ หลังจากต้องแบกงานสามจ็อบเป็นเวลานาน มีรายได้แค่พอเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว ให้พออยู่รอดไปวันๆ ในที่สุด เมื่อมาเจอขุมทอง พลิกผันจากชีวิตบัดซบ สู่ความอยู่ดีกินดี ก็ต้องรีบกอบโกยเพื่อครอบครัว เอาไว้ก่อน แม้ว่าในช่วงเวลานี้ของเขา เวสจะทำหน้าที่ในฐานะศิลปินผู้นำเสนอเพลง บรรเลงตามรายการที่โปรดิวเซอร์จัดหามาให้ มุ่งเน้นในด้านพานิชย์ดนตรี แต่เขายังคงรักษาความเป็นสุดยอดแห่งแจ๊สกีตาริสต์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม ในยามที่เขาได้อยู่ใกล้ชิดคนดู ในบรรยากาศของแจ๊สคลับ ไม่นำพากับความหงุดหงิดของแฟนเพลงกลุ่มใหม่ ที่ตั้งใจจะมาฟังเขาเล่นเพลงฮิต

เวสรวมทีมอีกครั้งกับลูกทีมของวง Miles Davis คือ Wynton Kelly (piano), Paul Chambers (bass) และ Jimmy Cobbs (drums) ซึ่งเคยร่วมงานกันมาจากชุด Full House อัลบั้มบันทึกจากการแสดงสดที่แคลิฟอร์เนีย เมื่อปี 1962 ครั้งนี้ที่บาร์ Half Note ในนิวยอร์ก ปี 1965 ออกมาเป็นอัลบั้มชุด Smokin’ At The Half Note ให้เราได้สัมผัสตัวตนที่แท้จริงของเวส มอนต์กอเมอรี นี่คือ อัลบั้มชุดบังคับ สำหรับนักเรียนกีตาร์แจ๊สทุกคน เป็นอัลบั้มยุคสังกัด Verve เพียงชุดเดียว ที่คอแจ๊สน้อมรับอัญเชิญขึ้นหิ้งบูชาอย่างเอกฉันท์ Pat Metheny ผู้เตรียมความพร้อม สู่ความเป็นจอมยุทธกีตาร์แจ๊ส แห่งยุคทศวรรษแปดสิบ ด้วยการพกตุนลูกโซโลของเวสไว้เต็มหัว เป็นทุนสร้างฐานสู่ความเป็นแพ็ท เมธีนี ฟันธงให้เป็นแจ๊สกีตาร์อัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เท่าที่เคยมีมา และบทโซโลใน Unit 7 ได้รับการเทิดทูนให้เป็น หนึ่งในสุดยอดแห่งกีตาร์โซโล ที่ได้มีการบันทึกเสียงเป็นหลักฐานเอาไว้

เวสย้ายตามไปอยู่กับครีด เทเลอร์ สังกัด A & M ในปี 1967 ปั่นอัลบั้มขายดีออกมาอีกสามชุด A Day In The Life, Down Here On The Ground และ Road Song งานยุคหลังของ Wes เหล่านี้ ออกมาในแนว Easy Listening หวานแหววยิ่งกว่าที่ผ่านมา ใช้วงเครื่องสาย และเครื่องลม เล่นประกอบอยู่ข้างหลัง”เสียงเพราะ” เน้นทำนองของกีตาร์ แทบจะไม่มีการอิมโพรไวส์หลงเหลืออยู่เลย แต่นักดนตรีตัวประกอบ ไม่ว่าจะเป็นพวกทีมเครื่องเป่า หรือทีมจังหวะอย่าง Herbie Hancock (piano), Ron Carter (bass) และ Grady Tate (drums) ที่เรียกมาใช้บริการก็ยังเป็น แจ๊สตัวจริงทุกคน

เวสกลับมาบ้านอินเดียนาโปลิส หลังเสร็จสิ้นงานทัวร์แสดง เพื่อพักผ่อนอยู่กับครอบครัว เกิดอาการหัวใจวายตายอย่างปุบปับ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 1968 ในช่วงที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง ขณะที่อายุเพียง 45 ปี เท่านั้น

ด้วยเทคนิคที่ลึกล้ำเหลือเชื่อ ผสมกับจินตนาการอันละเอียดอ่อน บวกกับเสียงกีตาร์หวานนุ่มลึก ออกมาเป็นดนตรีที่เพราะพริ้งมีเสน่ห์ ของ Wes Montgomery ที่ใครๆได้ฟังแล้ว ยากที่จะไม่ไหลหลง ทำให้แวดวงของผู้ชื่นชม ในฝีมือของเขาขยายกว้างออกไป ไม่จำกัดแค่เพียงวงการแจ๊สเท่านั้น

ทุกวันนี้ เราจะได้ยินเสียงกีตาร์ที่ได้รับแรงดาลใจจากเวส ในดนตรีเกือบทุกประเภทเป็นประจำ


(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 36 – 37 มิถุนายน - กรกฎาคม ปี 2001 เป็นบทความแรกที่เขียนลงในนิตยสารโอเวอร์ไดรฟ์ )