Friday, August 21, 2009

Manha de Carnaval

`

ผมบังเอิญไปอ่านเจอกระทู้เกี่ยวกับเพลง “Manha de Carnaval” ในเว็บบอร์ด http://www.nimitguitar.com/mybb/showthread.php?tid=4564 มีการกล่าวพาดพิงมาถึงตัวผมด้วย ผมอ่านไป ขนลุกไป ดีใจที่ได้ทราบข่าวเพื่อนเก่า ซึ่งไม่ได้เจอกันนานกว่า 30 ปี เพื่อนคนนี้เป็นนักกีตาร์ระดับตำนานบทหนึ่งของเมืองไทย นักดนตรีเมืองกรุงรุ่นซิกตี้ (วัยรุ่นตอนนั้น วัย 60 ตอนนี้) น่าจะรู้ถึงความเก่งของเขาเป็นอย่างดี ผมได้เรียนรู้จากเขามากมาย และให้ความนับถือเสมือนเป็นครูคนหนึ่ง นอกเหนือจากความเป็นเพื่อน


ในโอกาสนี้ขอร่วมแจมในบทเพลง “Manha de Carnaval”
ณ บล็อกนี้ ด้วยเรื่องราวของเพลงนี้ แด่ Long lost friend ของผม “อภิรักษ์ ศิลปชัย”

“Manha de Carnaval” ได้รับการบันทึกไว้เป็นหลักฐานจากหนังสือ Guinness Book of Records ว่าเป็นหนึ่งในสิบเพลงยอดนิยมของโลก ที่ได้รับการเผยแพร่มากที่สุด เราจะหาฟังเพลงนี้ได้ในหลากหลายแนวดนตรี ตั้งแต่สไตล์แบบคลาสสิก, ลาติน, แจ๊ส, พ็อพและครอบคลุมไปถึงแนวประเภทหวานเย็น( Easy Listening) ซึ่งมีอยู่ดาษดื่นมากจนนับไม่ถ้วน

“Manha de Carnaval”ป็นเพลงจากบราซิล ผลงานของ Luis Bonfa นักแต่งเพลงและนักกีตาร์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ชื่อของเพลงนี้เป็นภาษาปอร์ตุเกส ถ้าแปลเป็นอังกฤษก็จะมีความหมายว่า "Morning of the Carnival" แปลเป็นไทยก็คงประมาณว่า “รุ่งอรุณแห่งคาร์นิวัล” เพลงนี้ได้รับการบันทึกเสียงครั้งแรกสำหรับซาวด์แทร็กหนัง “Orfeu Negro” หรือ “Black Orpheus” ในปี 1958 โดยมี Antonio Maria เป็นผู้แต่งเนื้อร้อง โด่งดังขึ้นมาจากหนังในปีต่อมา บางครั้งมีคนเรียกชื่อเพลงเป็น "Song de Orpheo" บ้าง หรือ "Morning of the Carnival" ก็มี ต่อมานักแต่งเพลง Carl Sigman ได้แต่งเนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษขึ้นมาใหม่ ภายใต้ชื่อ "A Day in the Life of a Fool" ให้นักร้อง Jack Jones ในปี 1966 ทำให้ทำนองเพลงเดียวกันนี้ของ Luis Bonfa มีชื่อเรียกต่างกันหลายชื่อ จนเป็นที่สับสนต่อคนฟังเพลงและแม้แต่นักดนตรีเอง ผมหวังว่าหลังจากอ่านบทความนี้แล้ว คงได้ความกระจ่างรู้แจ้งในเพลงนี้นะครับ

แม้จะเรียกขานกันหลายชื่อ แต่ชื่อจริงดั้งเดิม "Manha de Carnaval" เป็นที่ยอมรับกันมากที่สุด จะมีเรียกเพี้ยนเป็น "Manha de Carnival" อยู่บ้าง "Black Orpheus" เป็นชื่อที่นิยมเรียกเป็นอันดับรองลงมา หรือบางคนจะเรียกเต็มยศเป็น "Theme From Black Orpheus" สำหรับ "Day in the Life of a Fool" ก็มีคนเรียกอยู่พอสมควร เช่นเดียวกับ "Morning of the Carnival" ส่วนพี่ไทยเราไม่ชอบเรียกชื่อยาวๆ นักดนตรีบ้านเราจึงหดเหลือแค่ “Carnival" ซึ่งก็มีฝรั่งใช้อยู่บ้างเหมือนกัน แต่เขาจะวงเล็บชื่อจริงไว้ด้วย ไม่เช่นนั้นเราอาจจะไปเจอเพลงอะไรก็ไม่รู้ ที่บังเอิญมาใช้ชื่อพ้องกัน ซึ่งมีอยู่หลายเพลง

หนัง "Black Orpheus (Orfeu Negro)" ใช้เค้าโครงเรื่องจากตำนานนิยายกรีกโบราณเรื่อง "Orpheus and Eurydice" นำมาแต่งตัวใหม่ให้เป็นตำนานรักนิโกร จัดฉากกันที่งานเทศกาลคาร์นิวัลประจำปีแห่งเมืองริโอ เดอ จาเนโร โดยชายหนุ่ม Orpheus ได้ไปเจอและตกหลุมรักกับ Eurydice หญิงสาวผู้พึ่งจะตีจากจากคนรักเก่า และกำลังหลบหนีจากการไล่ล่าคุกคาม แต่ในที่สุด เธอก็โดนคนรักเก่าแผงตัวมาในคราบของยมทูตคร่าเอาชีวิตไปจนได้ ออร์เฟียสผู้มุ่งมั่นในความรักตามหาร่างไร้วิญญาณของยูริดาซีจนเจอ และพยายามจะชุบชีวิตของเธอให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาด้วยพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ แต่ก็ไม่สำเร็จ เรื่องจบลงด้วยความเศร้า แต่ตำนานรักของออร์เฟียสและยูริดาซี ยังเป็นที่เล่าขานกันต่อไปไม่รู้จบ

ฟังเพลงจากซาวด์แทร็กของหนังเรื่องนี้ และดูสไลด์ภาพประกอบจากยูทูบเรียกน้ำย่อยก่อนครับ หนัง "Black Orpheus (Orfeu Negro)" น่าสนใจดีครับ นอกจากจะเป็นตำนานรักอมตะ เรายังได้สัมผัสสภาพวิถีชีวิตชาวบราซิลเมื่อ 50 ปีที่แล้ว หนังระดับคลาสสิกอย่างนี้ไม่น่าจะหายากมาก








Luis Bonfa
( เกิด17 ตุลาคม 1922 ที่ Rio de Janeiro ประเทศบราซิล – ตาย12 มกราคม 2001 ที่ Rio de Janeiro ประเทศบราซิล) ชื่อเต็มว่า Luiz Floriano Bonfa พ่อเป็นชาวอิตาเลียนซึ่งย้ายรกรากไปอยู่ที่บราซิล เริ่มหัดกีตาร์ตั้งแต่อายุ 11 ขวบ ปีต่อมาได้เรียนกับอาจารย์ชื่อดังชาวอุรุกวัย Isaias Savio โดยเขาจะต้องนั่งรถไฟจาก Santa Cruz ซึ่งอยู่นอกเมืองริโอ แล้วเดินเท้าอีกเป็นระยะทางไกล กว่าจะถึงบ้านบนเนินเขา Santa Teresa ของครู ทำให้ครูรู้สึกประทับใจในความบากบั่นจริงจังของเด็กชายหลุยส์ เลยสอนให้ฟรี

หลุยส์ บองฟา เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการเพลงบราซิล ตอนอายุ 24 ปี เมื่อเขาได้รับเชิญไปออกอากาศรายการ Radio Nacional ที่คัดเฟ้นดาวรุ่งหน้าใหม่มาโชว์ความสามารถ ผลงานของเขาได้รับการบันทึกเสียงในทศวรรษห้าสิบ และได้มีโอกาสเจอกับ Antonio Carlos Jobim และ Vinicius de Moraes เข้าไปร่วมเล่นกีตาร์ในละคร “Orfeo da Conceicao” ซึ่งเป็นต้นเค้าของหนัง “Black Orpheus” งานมาสเตอร์พีซของผู้กำกับหนังชาวฝรั่งเศส Marcel Camus ที่บองฟาได้มีส่วนแต่งเพลง "Manha de Carnaval" และ "Samba de Orfeu" ประกอบด้วย หนังเรื่องนี้ไล่กวาดรางวัลดังจาก Cannes Film Festival, Golden Globe และ Oscar สาขา Best Foreign Film ในปี 1959 ซาวด์แทร็กของหนัง “Black Orpheus” ช่วยทำให้บองฟาและโจบิมเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ นักดนตรีแจ๊สให้ความสนใจ นำเพลงไปเล่นกัน จนกลายเป็นกระแส Bossa Nova ที่มาแรงมากในเวลาต่อมา

บองฟาเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเผยแพร่ให้บอสซาโนวาเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง
ตั้งแต่เมื่อครั้งร่วมทีมรวมดาวจากบราซิล ขึ้นแสดงที่คาร์เนกีฮอลครั้งแรก ในปี 1962 เขาพำนักอยู่ในอเมริกาหลายปี มีผลงานออกมาหลายอัลบั้ม ก่อนที่จะย้ายกลับบ้านในปี 1975 แต่ก็ยังคงขยันทัวร์และสร้างผลงานอย่างไม่ว่างเว้น แม้จะไม่เป็นที่ฮือฮา มีอัลบั้มสุดท้ายออกมาในปี 1997 บองฟาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ในโรงพยาบาลเดียวกันกับที่เขาเกิด เมื่อ 78 ปีก่อนหน้านั้น

เพลงหลายชื่อ “Manha de Carnaval" ป็นเพลงที่ใช้กีตาร์สายไนลอนเล่นแล้วจะให้ความรู้สึกว่า ใช่เลย ตัวหลุยส์ บองฟาเจ้าของเพลงเอง เอาเพลงนี้มาใช้คุ้มมาก เขาฝากเสียงกีตาร์เฉพาะเพลงนี้ราว 20 อัลบั้ม เริ่มตั้งแต่ครั้งแรกในอัลบั้มซาวด์แทร็ก “Orfeu Negro” เวอร์ชันของบองฟาจะมาในแบบไพเราะ ฟังสบายๆ จะจืดกว่านักกีตาร์แดนแซมบ้าด้วยกันคนอื่นๆ ที่เอาเพลงของเขาไปทำซ้ำ ที่น่าหามาฟังก็มี Baden Powell เล่นอยู่หลายชุด ตั้งแต่หนุ่ม Tristeza on Guitar (1966) มาจนสูงวัย "Baden Live a Bruxelles" (2005) บราซิเลียนผิวหมึกผู้ไม่ประสาตัวโน้ต Bola Sete แต่เล่นได้กินใจมาก "At the Monterrey Jazz Festival"(1966) นักกีตาร์คลาสสิก Carlos Barbosa-Lima นำมาเรียบเรียงใหม่และตีความอย่างเป็นทางการ ระดับต้องใส่สูทเข้าไปฟังในหอดนตรี "Plays the Music of Luiz Bonfa & Cole Porter" (1984)








จากมุมมองของนักกีตาร์แจ๊สบ้าง ผมฟัง Johnny Smith ชุด "Johnny Smith" [Verve] (1967) ตั้งแต่หัดฟังแจ๊สใหม่ๆ ฟังครั้งแรกเมื่อราว 40 ปีที่แล้ว ที่บ้านเพื่อนใหม่ซิงๆของผม (คนที่เอ่ยนามตอนเริ่มเรื่องนั่นแหละ) บนชั้นสามของตึกแถวถนนราชปรารภ ใกล้สี่แยกมักกะสัน มาฟังตอนนี้ก็ยังทึ่งเหมือนเดิม ในความสละสลวยของลีลาและความสะอาดของลูกไล่นิ้วไฮสปีด เป็นอัลบั้มขึ้นหิ้งบูชาสำหรับนักกีตาร์ชุดหนึ่ง


Manha de Carnaval - Johnny Smith


Barney Kessel มาโชว์เดี่ยวแบบกล่อมใน "Solo"(1981) ของ Howard Roberts จาก "Whatever's Fair" (1966) ก็เล่นดีในจังหวะเร่งเร้าของแซมบ้า เป็นแนวทางให้รุ่นน้อง Jimmy Bruno ตามมาใน "Sleight of Hand" (1991)ด้วยลีลาเดียวกัน บรูโนเล่นคล่อง ฟังเพลิน จบไม่รู้ตัว ทีมสามสิงห์ "Guitar Trio: Paco de Lucia/John McLaughlin/Al Di Meola" (1996) มาในแนวอคุสติก แบ่งหน้าที่กันดี ไม่มีสปีดนิ้วพร่ำเพรื่อ ในซาวด์ใกล้เคียงกัน Stochelo Rosenberg ขยี้นิ้วแบบ Django Reinhardt เน้นทำนองอย่างไม่เร่งรีบใน "Caravan" (1994) ฟัง Tuck Andress เล่นใน "Reckless Precision" (1990) แล้ว เกิดคำถามว่า เขามีกี่มือ กี่นิ้วกันแน่ จึงเล่นอะไรออกมาได้มากมายเหลือเกิน Andy Summers อดีตร็อกซูเปอร์สตาร์ประกบคู่กับ Larry Coryell หัวหอกกีตาร์ฟิวชัน โดยมีนักเคาะเพอร์คัสชันจากอินเดีย Trilok Gurtu คอยเติมแต่งสีสันจังหวะ ด้วยเสียงแปลกๆบนเวทีแสดงสด "Pori Jazz" (1996) งานนี้บอกได้คำเดียวว่า แอนดี้กระดูกคนละเบอร์กับลาร์รี อนาคตจะเอาดีทางแจ๊ส ต้องเลิกคิดไปเลย

นักร้องสาวบราซิเลียน Astrud Gilberto ผู้ผันชีวิตจากแม่บ้านมาเป็นนักร้องเต็มตัว หลังแจ้งเกิดจากเพลง The Girl From Ipanema ซึ่งเป็นตัวแพร่เชื้อให้บอสซาโนวาลามระบาดไปทั่วโลกในยุคหกสิบ ร้องโชว์เสียงใสๆไร้มายาของเธอ โดยมีกีตาร์โปร่งและเบสใหญ่คลอประกอบใน "Bossa Nova: Music & Reminiscences" (1993) เวอร์ชันของ Nara Leao นักร้องสาวแซมบ้ารุ่นน้องใน "Garota De Ipanema" (2000) ก็น่าฟังในเสียงเสน่ห์ขึ้นนาสิกของเธอ นักร้องดังฝรั่งเศส Claudine Longet ร้องในแบบเซ็กซี่ของเธอใน "Look of Love" (1967) ศิลปินหญิงตำนานโฟล์กผู้ยิ่งใหญ่ Joan Baez เล่นกีตาร์คลอเสียงฮัมทำนองและเสียงร้องเนื้อปอร์ตุเกส เธอถ่ายทอดความรู้สึกได้น่าซาบซึ้งมาก ฟังแล้วขนลุก จาก "First 10 Years" (1970) นักร้องแจ๊ส เก่งแต่ไม่ดัง อย่าง Susannah McCorkle จากอัลบั้ม "Most Requested Songs" (2001) ก็น่าให้ความสนใจ ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง Frank Sinatra ต้อนรับผลงานของบองฟาตั้งแต่ "Complete Reprise Studio Recordings" (1960) และตอกย้ำอีกครั้งในชุดดัง "My Way" (1969)



อัลบั้ม "Jazz Impressions of Black Orpheus" (1962) ของ Vince Guaraldi นักเปียโนแจ๊สนับเป็นผลงานบุกเบิกสำคัญ ที่ช่วยเผยแพร่ดนตรีบราซิล ซึ่งนักเล่นไวบ์ Cal Tjader ได้กล่าวสดุดีไว้และอุทิศเพลงให้เขาก่อนบรรเลงใน "Talkin' Verve: Roots of Acid Jazz" (1995) บอสซาโนวาทำให้คนทั่วไปรู้จักกับ Stan Getz นักเป่าเทเนอร์แซ็ก ซึ่งไม่เว้นที่จะเล่นเพลงดังนี้อยู่แล้ว ติดตามได้จาก"Big Band Bossa Nova" (1962) และ "Live in London" (2004) นักกีตาร์ Charlie Byrd คู่หูเก่าของเก็ตซ์ เล่นในชุด "Latin Byrd" (1962) แต่ฟังแล้วไม่อยากฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหมือนเวอร์ชันของนักเป่าอัลโตแซ็ก Paul Desmond ซึ่งเป่าได้หวานกลมกลืนกับเสียงกีตาร์ของ Jim Hall ใน "Complete RCA Victor Recordings" (1961) และในช่วงบั้นปลายของเขา "Paul Desmond Quartet Live" (1975) บันทึกจากการแสดงสดในคลับที่โทรอนโต ร่วมกับ Ed Bickert ยอดนักกีตาร์แจ๊สคานาดา

ขอปิดท้ายแนะนำฟังด้วย Itzhak Perlman สุดยอดฝีมือแห่งไวโอลินคลาสสิก แต่ใจชื่นชมแจ๊ส เล่นให้ฟังแบบหวานใน "Cinema Serenade" (1997) สาวไวโอลินแจ๊ส Regina Carter ผู้ได้รับการปลูกฝังทางด้านคลาสสิกมา ผสมผสานอารมณ์ดนตรีทั้งสองกับลาตินได้น่าฟังใน "Paganini: After a Dream" (2003)

"Manha de Carnaval" ในเชิงวิเคราะห์ด้านทฤษฎีดนตรี เป็นเพลงในสำเนียงไมเนอร์ คีย์ที่นิยมใช้เล่นกัน คือ A minor ประกอบด้วยท่อนทำนองหลัก 2 ท่อน แต่ละท่อนมีความยาว 16 ห้อง บวกกับท่อน tag อีก 6 ห้อง เอาไว้ปิดท้ายตอนจบ หรือใช้เกริ่นนำก่อนเข้าทำนองหลักก็ได้

วิธีการแต่งทำนองของเพลงนี้มีความเป็นตรรกะ เป็นความสุดยอดคืนสู่สามัญ ดูง่ายๆ แต่ก็ทำไม่ได้อีกเลย เป็นครั้งเดียวในชีวิตของบองฟา ตัวโน้ต 8 ตัวของทำนองประโยคแรกกับประโยคที่สอง ต่างกันเพียงแค่ตัวเดียว และผันไปเพียงครึ่งเสียง คือ โน้ตตัวที่หก เปลี่ยนจาก G sharp เป็น G natural ในวลีเพลงต่อมาก็มีลักษณะเป็น Sequence ร่นลงไปตามตำแหน่งโน้ตในสเกล พอมาถึงทำนองในท่อนที่สอง ขึ้นต้นประโยคแรกเหมือนท่อนแรก แล้วตามด้วยประโยคแปลง รับด้วย Sequence วลีทำนองใหม่ 2 ชุด แล้วสรุปอย่างสวยงาม

ลักษณะฮาร์โมนีไม่ซับซ้อน ทางเดินคอร์ดเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่แหวกออกนอกคีย์ให้สะดุ้งหู ในท่อนแรกช่วงกลางจะมีย้ายโทนัลลิตี(Tonality) ไปเป็น C Major ซึ่งเป็นรีเลทีฟเมเจอร์ (Relative Major) ของคีย์ A minor อยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนที่จะย้ายกลับไปจบที่คีย์ A minor ส่วนในท่อนหลังก็คงไว้ในคีย์ A minor ตลอด

ของฝากสำหรับคนที่ฝึก Aural Training, Ear Training จาก "Manha de Carnaval" โน้ตสองตัวแรกของเพลงนี้ มีความสัมพันธ์ทางอินเตอร์วัลเป็นคู่เสียงหกไมเนอร์ขาขึ้น ( Ascending minor sixth interval ) ซึ่งเป็นคู่เสียงหวาน กลมกล่อม ฟังรื่นหู



(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 89 ธันวาคม 2005)

Wednesday, August 12, 2009

John Lee Hooker




จอห์น ลี ฮูเคอร์ ตำนานบลูส์บทหนึ่ง ผู้จากไปจากเราเมื่อไม่นานนัก เขาทิ้งมรดกดนตรีบลูส์อันเปี่ยมด้วยพลังบูกี้ ที่เร่งเร้าอารมณ์ให้คึกคัก ซึ่งใครๆยกย่องให้เขาเป็นบิดาแห่งสไตล์นี้

จอห์น ลี ฮูเคอร์โลดแล่นอยู่ในวงการบลูส์เกือบเจ็ดทศวรรษ ในช่วงเวลาเหล่านั้น มีทั้งเสี้ยวแห่งความสำเร็จที่พุ่งขึ้นสู่ยอดภูเขา และคราตกต่ำดิ่งลงสู่ก้นเหวลึก แต่เขาก็ยังยืนยันในความเป็นตัวของตัวเอง ผลิตผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งหมดกว่า 100 อัลบั้ม โดยที่งานทุกชิ้นยังคงรักษาความดิบแห่งอารมณ์เพลง อย่างมั่นคงเหนียวแน่น ไม่ยอมขัดเกลา หรือเอาขึ้นเตาปิ้งย่างให้มันสุก ตามกระแสความต้องการของตลาด ที่ผันผวนเรื่อยไปไม่มีสิ้นสุด แม้บางครั้งจะยอมเออออปรับตัวไปบ้าง แต่ก็จะต้องเป็นสิ่งที่ไม่ถึงกับเอาจิตวิญญาณแห่งความเป็นจอห์น ลี ฮูเคอร์ เข้าไปแลก

จอห์น ลี ฮูเคอร์ เกิดใกล้กับเมืองคลาร์คสเดล รัฐมิสซิสซิปปี ไม่ห่างจากบ้านเกิดของ Muddy Waters ศิลปินบลูส์ผู้ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งเท่าใดนัก เมื่อ 17 สิงหาคม 1917 เขาเป็นลูกของคนงานไร่ฝ้าย วิล มัวร์(Will Moore)ผู้พ่อเลี้ยง เป็นนักกีตาร์ฝีมือดีประจำหมู่บ้าน ที่ครูเพลงอย่างชาร์ลี แพททัน (Charlie Patton), ไบลด์ เบลค(Blind Blake) และไบลด์ เลมอน เจ็ฟเฟอร์สัน( Blind Lemon Jefferson) เรียกตัวไปช่วยงานอยู่เสมอ เมื่อพวกท่านข้ามเขตมารับงานแถบละแวกนี้ แต่มัวร์ผู้เติบใหญ่มาจากรัฐหลุยเซียนา ได้รับการปลูกฝังลีลาบลูส์ผิดแผกแตกต่างไปจากทางแถบเดลต้า ที่เขาไปทำมาหากิน คือ แนวกีตาร์นั้นจะเล่นย้ำอยู่คอร์ดเดียว ให้เสียงกระหึ่มต่อเนื่องอยู่อย่างไม่ขาดสาย มุ่งหมายที่จะโน้มน้าวสะกดจิตและอารมณ์ของคนฟังให้คล้อยตามไป จนจมลึกอยู่ภายใต้ภวังค์แห่งเสียงเพลง มีการเน้นลูกตอดด้วยการดีดกระแทกลงบนสายเล็กของกีตาร์เป็นครั้งคราว ลักษณะการร้องก็จะเป็นไปในแบบแหล่ด้นไปเรื่อยๆ

“สไตล์ของผมมาจากพ่อเลี้ยง สไตล์ที่ผมเล่นอยู่ ก็คือ สไตล์ที่เขาเล่นมาก่อนแล้ว”

ฮูเคอร์เล่าถึงที่มาของวิธีการเล่นกีตาร์ที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครของเขา บวกเข้ากับเสียงร้องทุ้มลุ่มลึกอันหนักแน่น กระเดียดมาทางเดลต้า ซึ่งบางครั้งมีส่วนคล้ายคลึงกับแก้วเสียงของมัดดี้ วอเตอร์ ผู้เคยเปรียบเปรยน้ำเสียงของฮูเคอร์ว่า เป็นที่สุดแห่งความลึกในบรรดานักร้องบลูส์ทั้งหมด ประสบการณ์ในวัยเด็กของฮูเคอร์ที่เหมือนกับวอเตอร์ คือ เคยเป็นเด็กร้องเพลงสวดในโบสถ์มาก่อน จนกระทั่งอายุ 14 ปี ที่เขาหนีออกจากบ้านไป

“ผมมีทางเลือกอยู่สองทาง ทางหนึ่ง อยู่ที่นั่นกับม้า หมู วัว ควาย และทำงานในฟาร์มไป ผมรู้สึกตั้งแต่เด็กแล้วว่า นั่นไม่ใช่ทางของผม ผมต้องการเป็นนักดนตรี ผมผิดแผกไปจากเด็กอื่นทั้งหมดโดยสิ้นเชิง”


ในช่วงทศวรรษสามสิบ เด็กชายฮูเคอร์ทำงานเป็นเด็กเดินตั๋วในโรงหนังที่เมมฟิส เมื่อมีเวลาว่างก็จะไปนั่งเล่นกีตาร์แถวหัวมุมข้างถนน แลกกับเศษเงินของผู้คนที่สัญจรไปมา ขนาบข้างกับโรเบอร์ต ไนท์ฮอว์ค(Robert Nighthawk) ผู้ซึ่งต่อมาเป็นศิลปินบลูส์มีระดับคนหนึ่ง ได้เล่นดนตรีตามงานปาร์ตี้ที่จัดตามบ้านเป็นครั้งคราว ช่วงนี้ยังอยู่ในระยะฝึกปรือฝีมือ และใจก็ยังไม่ได้คิดที่จะยึดการเล่นดนตรีเป็นอาชีพเท่าใดนัก

ฮูเคอร์ย้ายขึ้นไปทางเหนืออยู่กับญาติที่ซินซิเนติอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่จะขยับไปถึงดีทรอยต์ ซึ่งมีช่องทางทำมาหากินดีกว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ปี 1943 เขาได้ทำงานในโรงงานประกอบรถยนต์ ดนตรียังคงเป็นงานอดิเรกที่เล่นตามบ้านในวันหยุดสุดสัปดาห์ บางครั้งก็ไปขอเล่นกับวงตามบาร์อยู่บ้าง แนวการเล่นกีตาร์ของฮูเคอร์ก้าวมาถึงจุดเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อเขาได้ชมการแสดงของที-โบน วอล์เกอร์ (T-Bone Walker) นั่นเป็นครั้งแรกในชีวิต ที่เขาได้ฟังบลูส์เล่นกับกีตาร์ไฟฟ้า เขาได้มีโอกาสสนิทสนมกับวอล์เกอร์ ซึ่งประทับใจในฝีมือของฮูเคอร์เช่นกัน จนถึงกับยกกีตาร์ไฟฟ้า Epiphone ให้ตัวหนึ่ง



ได้พลังเสียงของกีตาร์ไฟฟ้ามาเสริมความเร้าใจให้มันกว่าเดิม มีส่วนช่วยขับส่งให้ฮูเคอร์ขยับขึ้นมาเป็นบลูส์แถวหน้าของเมืองดีทรอยต์ แต่ก็ยังไม่ถึงกับดังมาก จนกระทั่งคืนหนึ่งในปี 1948 เจ้าของร้านแผ่นเสียงนายหนึ่งได้ฟังฮูเคอร์เล่นที่ตามบ้านแห่งหนึ่งโดยบังเอิญ รู้สึกชอบใจในฝีมือ จึงได้พาเขาไปพบกับเบอร์นี แบสแมน (Bernie Bessman) ยี่ปั๊วขายแผ่นเสียงประจำถิ่น ผู้กำลังมองหาช่องทางที่จะทำอะไรกับตลาดเพลงคนดำที่เปิดกว้างอยู่ เขามองเห็นแววดาราในตัวฮูเคอร์ รีบจัดการพาเข้าห้องอัดเสียง บันทึกเสียงครั้งแรกเพียงแค่สองเพลง สำหรับแผ่นซิงเกิ้ลแรก ด้านหน้าเป็นเพลง Sally Mae และด้านหลัง Boogie Chillen เพลงจังวะบูกี้เร้าใจ ดัดแปลงมาจากเพลงคุ้นหูตั้งแต่เด็ก ที่พ่อเลี้ยงเคยเล่นให้ฟัง เพลงนี้ประสบความสำเร็จมากในระดับท้องถิ่น ต่อมาแบสแมนได้ขายสิทธิให้กับบริษัทโมเดอร์นของบิฮาริส ซึ่งนำไปโปรโมตต่อในระดับประเทศ พอช่วงต้นปี 1949 เพลงBoogie Chillen ก็ไต่ขึ้นสู่อันดับหนึ่งในแนว R&B

“ไอ้หนูเอ๊ย เพลงนี้มันดังระเบิดจริงๆ ไปที่ไหนๆ ก็ได้ยินแต่เสียงคนเปิด “Boogie Chillen” ทุกแห่ง”

Boogie Chillen เป็นหนึ่งในเพลงสุดฮิตแห่งยุคนั้น และยังเป็นเพลงต้นแบบให้คนอื่นลอกเลียนแบบมากที่สุดเพลงหนึ่ง ห้าปีต่อมา จูเนียร์ ปาร์เกอร์ เอาไปแปลงเป็นเพลง “Feeling Good” ของเขา สิบห้าปีหลังจากนั้น วง Canned Heat ก็เอาลูกกีตาร์บูกี้อันเดิมนี้ เล่นผ่านแอมป์ เล่นเสียงดังเต็มที่ กลายเป็นส่วนหนึ่งของเพลงร็อกมาตรฐานตั้งแต่นั้นมา






“แต่ก่อนนี้ เขาเรียกกันว่า บูกี้ วูกี้ ผมเอามาแปลงใหม่เป็นบูกี้ เฉยๆ ไม่เปลี่ยนคอร์ด ใช้กลองกับเบสเล่นจังหวะเร้าหนักๆ แล้วทุกคนก็เหิรไปด้วยกัน”

ฮูเคอร์ยังคงทำงานหลักเลี้ยงชีพ ด้วยการเป็นภารโรงในโรงงานอยู่อีกระยะหนึ่ง ก่อนที่จะโดดเข้ามาเป็นนักดนตรีอาชีพเต็มตัว เมื่อมั่นใจว่าสามารถหารายได้เลี้ยงตัวได้แน่กับการร้องรำทำเพลง Bernie Bessman เป็นผู้จัดการที่แฟร์ เขาจ่ายเงินล่วงหน้าถึงหนึ่งพันเหรียญให้กับฮูเคอร์ สำหรับการอัดเสียง เขาจัดจำหน่ายมาสเตอร์เทปไปยังบริษัทแผ่นเสียงเล็กๆหลายแห่ง ภายใต้นามแฝงสารพัดชื่อ เป็นต้นว่า Texas Slim, Delta John, The Boogie Man, Birmingham Sam and his Magic Guitar และชื่อที่ใกล้ตัวมากอย่าง John Lee Booker แต่เพลงหัวกะทิทั้งหลายที่ขายดี ยังอยู่ภายใต้การจัดการของโมเดอร์น ช่วงระหว่างปี 1949-51 ฮูเคอร์มีเพลงฮิตตามมาหลายเพลงอย่าง Hobo Blues, Crawling King Snake Blues และ I’m In The Mood ซึ่งจุดเด่นของเพลงนี้คือเสียงก้อง ที่เกิดจากการร้องเข้าไปในไมค์ที่วางอยู่ในคอห่านของโถส้วม และเสียงเคาะเท้าลงบนแผ่นไม้อัดของฮูเคอร์



ผลงานยุคแรกๆของฮูเคอร์ มาในแบบศิลปินเดี่ยวจริงๆ เสียงร้องของเขาจะมีเพียงกีตาร์ไฟฟ้า ที่เขาใช้ดีดคลอ และเสียงเคาะเท้าให้จังหวะเท่านั้น ต่อมาจึงค่อยเพิ่มเครื่องดนตรีอื่น อย่างฮาร์โมนิก้า, เปียโน, กีตาร์มือสองเข้ามาผสม และบางครั้งก็มีกลองมาร่วมเล่นบ้าง จนล่วงมาถึงกลางทศวรรษห้าสิบ เมื่อย้ายสังกัดไปอยู่กับค่าย Vee Jay จึงเริ่มอัดเสียงกับวง แม้จะไม่มีทีมไหนจะเล่นได้กลมกลืน เข้ากับสไตล์ของเขาได้ดี แต่ก็ยังสามารถผลิตเพลงฮิต Boom Boom ออกมาในปี 1962 วงร็อกทั้งในอเมริกาและอังกฤษ นำเอาเพลงนี้ไปเล่นอยู่อย่างไม่ยอมเลิกราอยู่หลายปี โดยเฉพาะคณะ The Animals และ The Rolling Stones ที่เอาแนวเพลงของฮูเคอร์หลายเพลงไปแปลงเป็นของตัวเอง จนกลายเป็นร็อกคลาสสิกไป

เมื่อถึงยุคบูมของเพลงโฟล์ค ฮูเคอร์ก็โดนปรับตัวเป็นศิลปินโฟล์คบลูส์ไปตามยุค ซึ่งเป็นเรื่องง่ายดายมากสำหรับเขา เพียงแค่เปลี่ยนจากกีตาร์ไฟฟ้าไปเล่นกีตาร์โปร่ง ก็กลายโฉมแล้ว เขามีผลงานอคุสติกต่อเนื่องอยู่หลายชุด จนเป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มนักศึกษายุคแสวงหา นำพาสู่เวทีแสดงที่ Newport Folk Festival ในปี 1960-1963 และยังได้ร่วมทีมนี้ไปตะเวนยุโรปเป็นครั้งแรก ในปี 1962 ฮูเคอร์รู้สึกงงๆเหมือนฝันไป ที่กลายเป็นศิลปินดังอย่างไม่คาดคิด แฟนเพลงทางโน้นรู้จักเขาเป็นอย่างดี อีกทั้งยังได้รับการยกย่องบูชาจากเหล่านักดนตรี อย่างวง The Yardbirds, The Animals และ Them ซึ่งนำทีมโดยนักร้องหนุ่ม Van Morrison การได้ไปโชว์ตัว ทำให้ยิ่งดังมากขึ้น หลังจากนั้น ฮูเคอร์ได้กลับไปเยือนยุโรปอีกหลายครั้งในช่วงทศวรรษหกสิบ

ในปี 1970 ฮูเคอร์มีอันต้องแยกทางกับ Maudie Mathis เมียคนที่สาม ซึ่งร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาถึง 25 ปี และมีลูกด้วยกัน 7 คน เขาตัดสินใจย้ายออกจากดีทรอยต์ หนีบรรยากาศเดิมๆ ชวนให้คิดถึงความหลัง ไปตั้งรกรากใหม่อยู่ที่โอ๊คแลนด์ ทางคาลิฟอร์เนียเหนือ แถบเบย์แอเรีย ใกล้ซาน ฟรานซิสโก ที่พวกนักดนตรีบลูส์ย้ายถิ่นไปตั้งรกรากใหม่กันมาก อย่าง Carlos Santana, Mike Bloomfield, Elvin Bishop, Charlie Musselwhite และ Luther Tucker เขายังได้ไปคุ้นเคยกับ Bob Hite และ Al Wilson แห่งวง Canned Heat แฟนพันธุ์แท้แนวบูกี้ของฮูเคอร์ พวกเขาฝึกปรือกันจนช่ำชอง เป็นวงเก่งเชี่ยวชาญเฉพาะทางบูกี้ที่ไม่มีใครทาบ ศิษย์และครูได้ร่วมกันผลิตผลงาน Hooker ‘N’ Heat ซึ่งได้รับการตอบสนองอย่างดีจากแฟนเพลง เป็นอัลบั้มขายดีแห่งยุคเซเวนตี้ของฮูเคอร์ และเขาก็ยังตั้งวงเฉพาะกิจเวลาจะออกเดินสาย The Coast To Coast Band โดยรวบรวมตามตัวหานักดนตรีเอาจากแถวใกล้บ้าน ใครที่ว่างก็ชวนไปทัวร์กัน ฮูเคอร์ยังหากินของแกไปได้เรื่อยๆ ด้วยคนที่ชอบบูกี้นั้นยังมีอยู่ไม่น้อย ในปี 1982 ไปร่วมทัวร์อังกฤษกับBobby Bland และ B.B. King ก็ประสบความสำเร็จมาก แต่สถานการณ์โดยทั่วไปของเขาในช่วงทศวรรษแปดสิบนั้น นับเป็นยุคถดถอย กระแสความนิยมบลูส์จางลงไปมาก แม้เขาจะยังขยันออกทัวร์และสร้างงานใหม่ๆอยู่ไม่ขาดสายก็ตาม

และแล้วฮูเคอร์ก็มาถูกหวยกับ The Healer(1989) ที่ได้ทั้งเงินและกล่อง ตอนเขาอายุ 72 ปี อันเป็นวัยที่เลยวันเกษียณมากว่าสิบปี ของคนปกติทั่วไป แต่ศิลปินบลูส์รุ่นปู่ผู้นี้ ยังไม่มีโอกาสที่จะใช้ชีวิตอันสงบราบเรียบ ดุจเช่นคนชราในวัยเดียวกัน วันเวลาของเขาเต็มไปด้วยกิจกรรมมากมาย นับตั้งแต่การรับเชิญไปปรากฎตัวในรายการทีวี ไปจนถึงรายการคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นเพื่อเทิดทูนเกียรติคุณให้กับเขาโดยเฉพาะ

“อายุปูนนี้แล้ว ผมดังยิ่งกว่าที่เคยดังมาตั้งนานซะอีก”

The Healer ทำให้จอห์น ลี ฮูเคอร์ กลับมาดังอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด ด้วยยอดขายเกินกว่าล้านชุด และยังคว้ารางวัลแกรมมี่ประเภทเทรดิชั่นบลูส์ยอดเยี่ยม จากเพลง I’m In The Mood ที่เขาร้องคู่กับ Bonnie Raitt ศิลปินสาวใหญ่ผู้กลับมาประสบความสำเร็จอย่างมากเช่นกัน เธอได้รับรางวัลแกรมมี่ถึง 3 รางวัล จากชุด Nicks of Time และแถมตบท้ายอีกหนึ่งรางวัล จากผลงานร่วมกับฮูเคอร์

ผู้อยู่เบื้องหลังการคัมแบ็กครั้งนี้ ที่ไม่ควรมองข้าม คือ Roy Rogers นักกีตาร์สไลด์ฝีมือฉกาจ ผู้เล่นอยู่กับฮูเคอร์มานานปี เป็นผู้ดูแลการผลิต เขาเล็งเห็นถึงจุดที่จะทำให้อัลบั้มนี้ขาย ด้วยการใช้ศิลปินดังมาล่อเข้าหาบลูส์พร่ำบ่นของฮูเคอร์ เหล่าศิลปินรับเชิญ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากฮูเคอร์ไปสร้างชื่อจนโด่งดังให้กับตัวเอง ต่างก็รีบมาทดแทนบุญคุณกันอย่างเต็มใจ คุณปู่พูดถึงเด็กเหล่านี้ด้วยความตื้นตัน ว่า

“พวกเขากระตือรือร้นที่จะทำ ก็เพื่อนๆกันทั้งนั้นแหละ พวกเขาชื่นชมผม ผมก็ชื่นชมพวกเขา ก็เลยทำให้มันเกิดขึ้นมาได้”

Carlos Santana ผู้เคารพรักในผลงานและมีความสนิทสนมส่วนตัวเป็นพิเศษ มาร่วมเล่นในเพลงหนึ่ง หน้าหนึ่ง The Healer ในแนวลาตินร็อกที่เขาถนัด Robert Cray มาเติมสีสันให้ Baby Love มีจริตจะก้านมากขึ้น และวง Canned Heat ที่เกิดมาได้เพราะเพลงของฮูเคอร์โดยแท้ ก็มาบูกี้ร่วมกับอาจารย์ของพวกเขาอีกวาระใน Cutting Out นอกจากนี้ยังมีวง Los Lobos นักเป่าฮาร์โมนิก้า Charlie Musselwhite และดาราร็อกบลูส์ George Thorogood ก็มาร่วมลงมือด้วย

บอนนี เรท มาร่วมคารวะด้วยฝีมือกีตาร์สไลด์ที่เฉียบคม และร้องออเซาะโต้ตอบกับฮูเคอร์ ใน I’m In The Mood

“รู้สึกตื่นเต้นที่ได้ร่วมงานกับคนที่ฉันรักมากอย่างจอห์น ลี เขาเป็นหนึ่งในรุ่นสุดท้ายที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างมิสซิสซิปปี เดลต้า กับบลูส์เมืองสมัยใหม่ ที่ยังมีชีวิตอยู่ นอกจากนั้นมันยังเป็นบทพิศวาสทางดนตรีที่เร่าร้อนที่สุด เท่าที่ฉันเคยมีส่วนร่วมเกี่ยวข้องมา”







ครับ! เสียงพร่ำหาคู่ของฮูเคอร์ ที่เร่งเร้าอารมณ์ให้หวั่นไหว ไม่ใช่จะมีแค่ในบทเพลงของเขาเท่านั้น ตัวจริงของแกก็ไม่เบาน่าดูเลย ผมเคยดูแกที่คลับแถวฮาร์วาร์ด สแควร์ ใกล้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ช่วงต้นทศวรรษแปดสิบ เห็นแกยืนคุยอยู่กับสาวสวยผมทองก่อนเวลาโชว์ ผมรีบปรี่เข้าไปขอลายเซ็น ด้วยความที่ชื่นชมผลงานกันมานานแล้ว คุณปู่ฮูเคอร์บอกให้รอก่อน แล้วหันกลับไปคั่วสาวต่ออย่างไม่สนใจ หลังจากนั้นก็เดินเข้าไปร่วมโต๊ะที่กลุ่มสาวๆนั่งกันอยู่เต็ม จนถึงเวลาขึ้นทำการแสดง พอเล่นจบก็รีบหิ้วแหม่มสาวสวยหายวับไปเลย

สมกับเป็นบูกี้ แมน จริงๆ !

I’m In The Mood ทำให้ชื่อของฮูเคอร์ได้รับการบันทึกโดย Guinness Book of Records ว่าเป็นศิลปินอายุมากที่สุด ผู้มีผลงานติดอันดับท็อปไฟฟ์ พอดังขึ้นมาอีก ใครๆก็อยากเอาเข้าสังกัด ค่าย Point Blank รีบคว้าตัวไป โดยยังคงให้รอย โรเจอร์ ทำหน้าที่โปรดิวเซอร์ ผลิตงานสูตรเดิม Mr. Lucky (1991) เชิญบลูส์เก๋าอย่าง Albert Collins, Jimmy Johnson, Ry Cooder, John Hammond Jr., Johnny Winter, Keith Richards และ Van Morrison มาสมทบดาราหน้าเดิมอย่าง Carlos Santana และ Robert Cray ซึ่งก็ยังประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์อย่างน่าพอใจ ทำให้เกิดอาการได้ใจ ปั่นเอา Boom Boom(1992) ตามมาดูดเงินในกระเป๋าแฟนเพลงอีกครั้ง และยังมี Chill Out(1995) อัลบั้มฉลองอายุครบ 75 ปีของเขา ก่อนที่จะส่งท้ายโปรเจคท์รวมดาวกับ Don’t Look Back(1997) ซึ่งคว้าสองรางวัลแกรมมี่ไปครองในสาขา Best Traditional Blues Album และ Best Pop Collaboration ร่วมกับ Van Morrison ผู้เป็นโปรดิวเซอร์ของชุดนี้ด้วย


แม้จะยังคงผลิตสร้างผลงานออกมาบ้าง จอห์น ลี ฮูเคอร์ได้ปลดระวางตัวเองจากการเดินสายตะเวนแสดงไปตามเมืองต่างๆ ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษเก้าสิบ คงเหลือเพียงแค่การโชว์ตัวบ้างเป็นครั้งคราว ซึ่งมักจะเป็นงานการกุศล หรือเป็นการเล่นในคลับเล็กๆ โดยไม่บอกให้รู้กันล่วงหน้า เขามีความสุขอยู่กับการติดตามกีฬาเบสบอลสุดโปรดอย่างคลั่งไคล้ ชอบขับรถหรูราคาแพงโฉบฉายไปมา รับงานเป็นนายแบบพรีเซนเตอร์โฆษณาให้กับกางเกงยีนและเหล้า รวมถึงการสังสรรค์เสวนากับเพื่อนฝูงและแฟนเพลง ที่แวะไปเยี่ยมเยือนถึงบ้านแถบ Los Altos และ Long Beach ซึ่งเปิดต้อนรับแขกอยู่ตลอดเวลา ชนิดหัวกระไดไม่เคยแห้ง ฮูเคอร์เปิดบาร์บลูส์ของเอง The Boom Boom Room ที่ซาน ฟรานซิสโกในปี 1997 เพื่อสนองตัณหาตัวเองในยามที่เกิดอารมณ์อยากจะเล่นขึ้นมา หรืออยากจะฟังบลูส์ ก็จะแวะไปเสพได้อย่างสะดวก

จอห์น ลี ฮูเคอร์จากโลกไปอย่างสงบ เขานอนหลับแล้วสิ้นลมไปเลย ในวันที่ 21 มิถุนายน 2001 ก่อนอายุจะครบ 84 ปี เพียงสองเดือนกับหนึ่งวัน เขามีลูก 8 คน หลานอีก 19 คน และเหลนอีกโขลงใหญ่

เขาเคยพูดไว้ว่า

“เมื่อผมตาย เขาจะฝัง”บลูส์”ไปกับผมด้วย แต่”บลูส์”จะไม่มีวันตาย”

นิตยสาร Time สรุป ได้ดีที่สุด ว่า

“จอห์น ลี ฮูเคอร์ไม่เพียงแค่ร้องเพลงบลูส์, และเขาไม่เพียงแค่เล่นดนตรีบลูส์...เขา คือ บลูส์”





(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 60-61 มิถุนายน-กรกฎาคม 2003)

Thursday, August 6, 2009

Lady Day


วันที่ 17 กรกฏาคม 2009 ที่เพิ่งผ่านไปหยกๆ เป็นวันครบรอบ 50 ปี ที่ Billie Holiday ได้ลาจากโลกนี้ไป แต่โลกใบนี้ไม่เคยขาดเสียงเพลงของเธอ ผมขอแสดงความคารวะต่อท่านผู้หญิงเดย์ ด้วยบทความนี้อีกครั้งหนึ่งครับ

ผมได้เขียนเกริ่นถึงความยิ่งใหญ่ของ Billie Holiday มาบ้างแล้ว คราวนี้อยากให้ไปหาผลงาน ซึ่งมีอยู่มากมายของเธอมาฟังให้ซาบซึ้ง ประกอบกับเรื่องราวชีวิตอาภัพของเธอ

"พ่อกับแม่ยังเด็กทั้งคู่ ตอนที่แต่งงานกัน เขาสิบแปด หล่อนสิบหก และฉันสาม"

เป็นประโยคนำเรื่องจากหนังสือ “Lady Sings the Blues” อันเป็นเรื่องราวอัตชีวประวัติของบิลลี่ ฮอลิเดย์ ซึ่งเธอเล่าให้ฟังว่า เกิดที่บัลติมอร์ เมื่อปี 1915 แคลเรนซ์ ฮอลิเดย์ (Clarence Holiday) ผู้พ่อมีฝีมือทางกีตาร์อยู่บ้าง เขาเคยเล่าให้เพื่อนฝูงฟังอย่างคะนองปากว่า บิลลี่เป็นผลพลอยได้ออกมาที่ไม่ได้ตั้งใจทำ เขาผละลูกเมียไปเล่นกีตาร์อยู่กับเฟล็ตเชอร์ เฮ็นเดอร์สัน (Fletcher Henderson)ที่นิวยอร์ก ปล่อยให้เซดี เฟกิน (Sadie Fagin) ต้องตากหน้าหอบหิ้วพาลูกสาว กลับไปอาศัยอยู่กับพ่อแม่ของเธอ

เอลีอานอรา (Eleanora) เปลี่ยนชื่อตัวเองเป็นบิลลี่ เอาอย่างชื่อดาราหนังบิลลี่ โดฟ (Billie Dove) ตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย ด้วยเหตุผลสั้นๆ และง่ายๆ ว่า

"รำคาญชื่อเก่า ที่โคตรจะยาวว่ะ"

บิลลี่เริ่มลุยชีวิตรับจ้างทำความสะอาดบ้าน ขัดห้องน้ำของเพื่อนบ้าน
ตั้งแต่อายุหกขวบ ในขณะที่เด็กวัยเดียวกันยังไม่รู้ประสีประสาอะไร ตลอดไปถึงเข้าไปรับใช้แม่เล้าในซ่อง เพื่อแลกกับการได้ฟังแผ่นเสียงของเบสซี สมิธ (Bessie Smith) และหลุยส์ อาร์มสตรอง(Louis Armstrong) ที่เธอติดใจยิ่งกว่าตุ๊กตาหรือของเล่นใดๆ โดนคนที่มาเช่าห้องพักในบ้านข่มขืน ตอนอายุสิบขวบ เลยถูกส่งไปทัณฑสถานสำหรับเด็กหญิง เพราะดูแล้วส่อแววออกมาว่า จะใจแตกได้อยู่เหมือนกัน จากนั้นตามแม่ไปอยู่นิวยอร์ก และถูกจับเข้าคุกด้วยข้อหาฐานค้าประเวณีอีก 4 เดือน

ย่างเข้าหน้าหนาวของปี 1932 สองแม่ลูกต้องทุกข์ทรมานกับความหิวโหย ในห้องเช่าย่านฮาร์เล็ม บิลลี่เด็กสาวผู้กร้านโลกเกินวัย กัดฟันแต่งตัวออกไปข้างนอก เดินหางานไปตามถนนสายที่เจ็ด ในคืนที่หนาวเหน็บ แวะเข้าไปของานทุกบาร์ และร้านอาหารที่ขวางหน้า จนได้ลองเต้นในคลับที่ขาดนักเต้นอยู่พอดี แต่เมื่อขึ้นไปโยกลีลาได้ไม่กี่สเต็ป เจ้าของบาร์ก็ส่ายหน้าบอกให้หยุด คนเล่นเปียโนรู้สึกสมเพทเวทนา เลยถามว่าพอร้องเพลงได้ไหม ฮอลิเดย์ผู้รักการร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ แต่ไม่เคยคิดใฝ่ฝันอยากเป็นนักร้อง รีบตอบรับ และร้อง Trav'lin' All Alone ตามด้วย Body and Soul ทำเอาแขกที่กำลังดื่มคุยกันอยู่อย่างเอ็ดอึงถึงกับหยุดเงียบกริบ หันไปดูและฟังเธอร้องเหมือนโดนมนต์สะกด บางคนถึงกับน้ำตาไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว เมื่อเพลงจบลงพวกเขาต่างก็โยนเงินทิปให้เธอจนเต็มเกลื่อนฟลอร์ และเจ้าของบาร์รีบกรากเข้ามาว่าจ้าง ให้เป็นนักร้องประจำทันที

บิลลี่ให้รางวัลกับตัวเองด้วยแซนวิซ อาหารมื้อแรกที่ตกถึงท้องของวันนั้น และซื้อไก่ย่างสองตัวกลับบ้านไปฝากแม่ ทั้งยังมีเงินเหลือพอสำหรับจ่ายค่าเช่าห้อง ที่กำลังจะถูกขับไล่ เพราะค้างค่าเช่าอยู่ ตั้งแต่นี้ต่อไปแม่ลูกคู่นี้จะไม่มีวันที่ต้องหิวโหย อดมื้อกินมื้อกันอีกแล้ว

ข่าวคราวของเด็กสาวที่ร้องเพลงไม่เหมือนใคร
กระจายออกไปปากต่อปากในหมู่นักดนตรี จนเป็นที่รู้จักของใครๆในบาร์ละแวกถนน 133 และยังระบือไปไกลถึงหูของจอห์น แฮมมอนด์(John Hammond)โปรดิวเซอร์แจ๊สคนดัง ผู้มีอายุแก่กว่าเธอเพียงแค่สามปี และกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของอาชีพเช่นกัน เขาประทับใจในมาดการวางตัวและลีลาการเอื้อนเสียงของเธอมาก หลังจากนั้นไม่นานแฮมมอนด์ก็จัดการ ให้ฮอลิเดย์ได้เข้าอัดเสียงครั้งแรกกับวงของเบ็นนี่ กู้ดแมน(Benny Goodman) การแจ้งเกิดของเธอไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ก็ยังไม่ละความพยายามที่จะปั้นเธอต่อไป เมื่อได้จังหวะเหมาะก็พาฮอลิเดย์เข้าห้องอัดเสียงอีกครั้งหนึ่งในปี 1935 คราวนี้ได้เลือกเฟ้นนักดนตรีแจ๊สระดับหัวกะทิมาเล่นแบ็กอัพ ภายใต้การนำของเท็ดดี้ วิลสัน(Teddy Wilson) ยอดนักเปียโนจากวงเบ็นนี่ กู้ดแมน นับตั้งแต่นั้นไปอีก 7 ปี เธอได้บันทึกผลงานสุดยอดส่วนใหญ่ในช่วงนี้ ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถรอบตัวอันยอดเยี่ยม ในการดัดแปลงทำนอง และจังหวะของเพลงธรรมดา ให้กลายเป็นดนตรีที่แท้จริง อย่างในเพลง Time on My Hand (1940), All of Me (1941) และ I Cover the Waterfront (1941) และที่สำคัญที่สุด เธอก้าวไกลไปถึงขั้นที่จะละทิ้งทำนองเดิม ซึ่งไม่เหมาะกับตัวเอง ด้นอันใหม่ใส่เข้าไปแทน อย่างใน The Man I Love (1939), Body and Soul (1940) และ Love Me or Leave Me (1941)






ไม่มีนักร้องคนไหน
ที่ร้องเพลงได้เหมือนฮอลิเดย์ ในช่วงต้นๆนี้เธอจะบีบเสียงให้เล็กกว่าที่เป็นจริง ฟังคล้ายเสียงเด็กผู้หญิง ซึ่งให้ความรู้สึกเป็นกันเอง อักขระของเนื้อร้องแต่ละคำชัดเจนเหมือนพูดออกมา และปล่อยลูกคอแค่เพียงพอดีกับอารมณ์ ไม่ขาดไม่เกิน เธอมีเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เหมือนกับนักร้องบลูส์หรือแจ๊สรุ่นก่อนที่คอเพลงคุ้นเคยกัน คนที่ได้ฟังเสียงเธอครั้งแรกจะรู้สึกแปลกๆ แต่เมื่อยิ่งฟังไป ก็จะยิ่งซึ้งในความลงตัวที่สมบูรณ์ไร้จุดตำหนิ แม้จะไม่เคยผ่านการฝึกฝนในด้านการร้องเพลงตามแบบแผนมา แต่วิธีการนำเสนอของเธอ กลับเปรียบได้ดั่งเช่นนักดนตรีแจ๊สผู้ยิ่งใหญ่ ตัวฮอลิเดย์เป็นเหมือนเครื่องให้จังหวะ มีความสำนึกในลีลาแห่งบทเพลง ที่ยากจะหานักดนตรีใดมาเทียบเทียมได้ เธอจะรื้อเพลงที่จังหวะทื่อๆซ้ำซาก มาจัดเรียงใหม่ให้มีความหลากหลาย ลอยละลิ่วอย่างมีชีวิตชีวา

Bobby Tucker คนเล่นเปียโนประกอบให้ฮอลิเดย์ กล่าวว่า

"เธอมีมโนภาพแห่งลีลาจังหวะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เท่าที่ผมเคยได้ยินมา"

ถ้าเราคนฟังเพลงได้รู้ถึงเบื้องหลัง ของการผลิตมาสเตอร์พีซเหล่านี้แล้ว ก็จะทำให้ยิ่งรู้สึกทึ่งและนับถือพวกเขามากขึ้นเป็นทวีคูณ ฮอลิเดย์และนักดนตรีทุกคน ไม่ได้มีการซักซ้อมหรือเตรียมตัวล่วงหน้ากันมาก่อนเลย พวกเขาจะได้รับแจกกระดาษโน้ต"ลีด ชีต" ของเพลงพ็อพสมัยนั้น ซึ่งบันทึกเพียงแค่เนื้อเพลง ทำนอง และคอร์ดง่ายๆ ที่หลายต่อหลายเพลงไม่มีใครเคยได้ยิน หรือรู้จักมาก่อน คนแจ๊สเหล่านี้มีหน้าที่ที่จะเนรมิตก้อนกรวดทั้งหลายเหล่านี้ ให้เป็นเพชรนิลจินดาขึ้นมา ฮอลิเดย์ร้อง และด้นไปกับเพลงใหม่ ยังกับว่าเป็นเพลงที่คุ้นเคยมานานปี

ในเดือนมกราคม 1937
ฮอลิเดย์ได้นักทรัมเป็ตบั้ค เคลย์ตัน(Buck Clayton) และเทพแห่งเทเนอร์แซ็กเลสเตอร์ ยัง(Lester Young) พร้อมทั้งทีมจังหวะจากวงเคาท์ เบซี(Count Basie) มาเสริมอารมณ์สวิงและเชิงด้นของเธอ ให้ขึ้นไปถึงขีดสูงสุดเท่าที่ดนตรีแจ๊สจะบันดาลออกมาได้ ในผลงานระดับคลาสสิกที่ต่อเนื่องกันออกมานับสิบเพลง วิลสัน, เคลย์ตัน และยัง เป็นเพื่อนร่วมงานที่ฮอลิเดย์โปรดปรานเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับยัง ที่เสียงแซ็กของเขาคลอเคลียไปกับเสียงร้องของเธอ เป็นคู่พิศวาททางดนตรีที่หวานชื่น ยากจะหาคู่ใดมาเทียบเคียงได้ ทั้งสองเหมือนเป็นคู่แฝดในลีลาจังหวะและสำเนียงเสียง ขณะที่เธอร้อง เขาจะด้นทำนองสวน อย่างแผ่วเบาอยู่ข้างหลัง ชื่นชมเธอ โอบกอดเธอ และเชื่อมเสียงเข้าหากัน ที่เราจะหาฟังได้ในเพลง I'll Never Be the Same, A Sailboat in the Moonlight และ Born to Love ยังขนานฉายา "เลดี้" (Lady)หรือ "เลดี้ เดย์" (Lady Day)ให้กับมาดที่สูงศักดิ์ของฮอลิเดย์ และเธอก็ขนานฉายา "เพรซ"(Pres) ซึ่งย่อมาจาก "เพรซิเดนท์" (President) ตอบแทนกลับให้เขา ที่คนในวงการเรียกตามกันจนติดปาก กลายเป็นฉายาของคนทั้งสองไปในที่สุด

ฮอลิเดย์เข้าเป็นนักร้องประจำวงเคาท์ เบซี ในปี 1937 อยู่ได้ปีหนึ่ง แล้วไปร้องกับวงอาร์ตี้ ชอว์(Artie Shaw) อีกแปดเดือน นับเป็นนักร้องผิวดำคนแรกในวงผิวขาว กับทางวงนั้นไม่มีปัญหาอะไร ทุกคนรักเธอ แต่รอบตัวเต็มไปด้วยการดูถูกกีดกันเรื่องสีผิว จนเมื่อถึงที่สุดแห่งความอดทน เธอก็ตัดสินใจออกมาเป็นศิลปินเดี่ยว ไม่สังกัดอยู่กับวงใดอีกเลย เข้าร้องประจำในคาเฟ โซไซตี้(Cafe Society) คลับแห่งแรกที่ไม่กีดกันสีผิว ย่านดาวทาวน์นิวยอร์ก ในปี 1939 บาร์นี โจเซฟซัน(Barney Josephson)เจ้าของคลับ เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งหนึ่งว่า

"หลังจากที่เธอร้องเพลงแรกจบลง และผมเข้าใจว่า เธอคงไม่พอใจกับปฏิกิริยาของคนดู ตามปกติพวกนักร้องจะใส่ชุดยาวกัน ไม่ใส่ชุดชั้นใน และเมื่อเพลงจบ บิลลี่ก็หันหลังให้คนดู ก้มตัวลง เลิกกระโปรงขึ้น แล้วเดินจากไป"






ในช่วงนี้ฮอลิเดย์ได้สร้างผลงานดัง จนกลายเป็นสิ่งที่ผูกพันธ์กับตัวเธอเป็นพิเศษ เธอแต่ง Strange Fruit ที่ระบายความรู้สึกถึงการโดนกดขี่ข่มเหง อย่างไม่เป็นธรรมของคนดำในภาคใต้ เพลงนี้โดนสถานีวิทยุหลายแห่งแบนไม่ยอมให้ออกอากาศ แต่ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ยิ่งทำให้เพลงดัง คนฟังเรียกร้องมาก เป็นไฮไลท์ของการแสดงไปเลย และในปี 1941 ฮอลิเดย์ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ จาก God Bless the Child ที่เธอแต่งเกี่ยวกับความลำบากยากแค้น ในวัยเด็กของตัวเธอเอง ซึ่งได้กลายเป็นสื่อที่ถูกใจคนหนุ่มสาวบุปผาชนแห่งปลายทศวรรษหกสิบ และเป็นเพลงอมตะที่มีคนนำเอามาร้องบรรเลงกันอยู่เสมอ ทั้งในแบบแจ๊ส พ็อพ และบลูส์

ฮอลิเดย์ทำงานอยู่แถวถนน 52
ในทศวรรษสี่สิบ จากที่นี่เองที่เธอเริ่มเหน็บผมด้วยดอกการ์ดีเนีย จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอตัวเอง ที่แฟนเพลงชินตาเมื่อเห็น ฮอลิเดย์ยืนเด่นบนเวที ดีดนิ้วมือซ้ายอย่างแผ่วเบาไปกับจังหวะดนตรี ข้อศอกพับเข้าหาตัว หน้าเงยขึ้นเล็กน้อย เวลาที่ร้อง จนเกือบจะมองเห็นดนตรีหลั่งไหลออกมาจากตัวเธอ

นักร้องหญิงซิลเวีย ซีม (Sylvia Syms) อ้างว่า เธอเป็นคนนำเอาดอกไม้มาเหน็บผมให้ฮอลิเดย์ครั้งแรก เนื่องจากคืนหนึ่งฮอลิเดย์ใช้เหล็กม้วนผม จนผมของเธอไหม้แหว่งไป ก่อนได้เวลาที่จะต้องขึ้นเวทีร้องเพลงอยู่พอดี ซีมเลยวิ่งออกไปซื้อดอกการ์ดีเนียมาให้ฮอลิเดย์ ติดทับปิดบังรอยแหว่งได้ทันเวลาอย่างหวุดหวิด

ฮอลิเดย์ประสบความสำเร็จแล้ว
เสียงร้องของเธอให้ความสุขแก่คนทั้งโลก ผู้คนให้การต้อนรับเธออย่างล้นหลามในทุกแห่งหน แต่สำหรับตัวฮอลิเดย์เองแล้ว เธอไม่เคยมีความสุขเลย รู้สึกอ้างว้างเดียวดายอยู่ตลอดเวลา หลังจากมารดาซึ่งเป็นบุคคลเดียวในโลกนี้ที่เธอไว้วางใจ ได้เสียชีวิตไปแล้ว เธอมีความรู้สึกว่าโลกนี้ไม่มีมิตรแท้อีกแล้ว แม้เพื่อนฝูงจะช่วยกันปลอบโยนกันอย่างไร ก็ไม่เกิดผล ฮอลิเดย์ไม่เคยไว้ใจใครอีกเลย ทางด้านชีวิตคู่ของเธอนั้น ก็มีแต่ความล้มเหลวตลอด เคยยุ่งอยู่กับนักดนตรีหลายคน แต่ก็ไม่ถึงขั้นที่จะร่วมหัวจมท้ายด้วยกัน ตอนที่เธอดังขึ้นมา ก็เจอแต่ผู้ชายประเภทที่เข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์แทบทั้งสิ้น และนอกจากจะโดนรีดไถเกาะกินแล้ว ยังถูกซ้อม ทุบตี ทำร้ายร่างกายเป็นประจำ นับเป็นสภาพที่น่าเวทนามาก เธอเคยเล่าให้ฟังว่า

"มีคนเคยบอกฉันว่า ไม่มีใครร้องคำว่า "หิว" ได้เหมือนที่ฉันร้อง หรือคำว่า "รัก""

นั่นคงจะเป็นเพราะว่า เธอรู้ซึ้งถ่องแท้ถึงความหมายของมันจากประสบการณ์ชีวิตจริง และสามารถที่จะสื่อให้คนฟังรับรู้มีอารมณ์ร่วมกับเธอได้

ฮอลิเดย์ไม่เคยทำรายได้มหาศาลนับล้านอย่างนักร้อง หรือนายวงชื่อดังทั้งหลายที่รับกันไม่รู้เรื่อง ได้มาปีหนึ่งๆเป็นแสนเหรียญ ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มากกว่าคนธรรมดาทั่วไปหาทั้งชีวิต เธอผลาญเงินทองที่หามาได้ไปกับยาเสพติด และยอมให้เหล่าแมงดามาปอกลอกจนหมดตัว

ต้นทศวรรษห้าสิบ
เสียงที่เคยสดใสของฮอลิเดย์ จางหายไปเกือบครึ่ง ถูกความแตกพร่าจากผลของการดื่มจัด เข้ามาแทนที่ เสียงที่ไม่เคยเพี้ยน ก็เริ่มจะแกว่ง ลีลาจังหวะที่เคยพลิ้วไหว กลับกลายเป็นอืดอาด เหลือแค่เพียงอารมณ์ลึกซึ้งในบทเพลง ที่ยังคงอยู่เหมือนเก่า ไม่เปลี่ยนแปร สุขภาพก็เริ่มทรุดโทรม โดนจับเรื่องยาบ่อย พอๆกับที่พยายามจะเลิก ฐานะทางการเงินเริ่มชักหน้าไม่ถึงหลัง เงินที่หมดไปกับยาเสพติดมากเกินกว่ารายได้ ที่เพียงแค่พอยาไส้ สภาพจิตก็เลวร้ายลง ชอบแสดงอาการเกรี้ยวกราดบ่อยครั้ง จนมีผลกระทบในการทำงาน เจ้าของบาร์ต่างเอือมระอาในพฤติกรรมที่เอาแต่ใจของเธอ

ฮอลิเดย์ยังคงร้องเพลงและอัดเสียง จนวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของเธอ งานมีเข้ามาไม่บ่อยนัก สำหรับเลดี้เดย์คนนี้ ที่เมื่อสิบปีก่อนหน้านี้ เต็มไปด้วยผู้คนห้อมหน้าห้อมหลัง บัดนี้ต้องมานั่งดื่มอย่างเดียวดาย ในอพาร์ตเมนท์เล็กๆ แถบเวสต์ไซด์ ของเกาะแมนฮัตตัน สายตาจ้องมองไปอย่างไร้จุดมุ่งหมาย บนหน้าจอทีวีที่เปิดไว้เป็นเพื่อน เวลาแต่ละราตรีกว่าจะคืบคลานผ่านพ้นไปได้ รู้สึกเนิ่นนานไม่มีสิ้นสุด เธอเหนื่อยล้าเหลือเกินกับชีวิตที่ผ่านมา และวาระสุดท้ายแห่งชีวิตคืบคลานใกล้เข้ามาทุกขณะ

ฮอลิเดย์ไปร่วมพิธีศพของเลสเตอร์ ยัง ผู้รู้ใจเธอยิ่งกว่าใครๆ ในเชิงดนตรี ในเดือนมีนาคม 1959 ต่อจากนั้นไม่นานนัก เธอหมดสติไปในห้องพัก และถูกนำส่งโรงพยาบาล หลังจากการแสดงครั้งสุดท้ายของเธอในเดือนพฤษภาคม นอนป่วยอยู่ประมาณ 10 อาทิตย์ จนกระทั่งวันที่ 17 กรกฎาคม 1959 ชีวิตระทมของบิลลี่ ฮอลิเดย์ ก็หมดเวรหมดกรรมสู่สุคติ



(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 70 เมษายน 2004)