Saturday, May 30, 2009

Mike Stern


ผมเขียนถึงไมค์ เสติร์น ลงในนิตยสาร Overdrive เมื่อปี 2003 ตอนนั้นผมเริ่มเรื่องว่า

ในช่วงระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม ถึง 11 สิงหาคม 2003 นี้ บรรดาแฟนของนักกีตาร์ Mike Stern ที่อยู่ในหลายเมืองใหญ่ของญี่ปุ่นและจีน โชคดีที่ได้มีโอกาสดูการแสดงสดของยอดนักกีตาร์คนนี้ ร่วมกับ Dennis Chambers (กลอง), Lincoln Goines (เบส) และ Bob Franceschini (แซ็กโซโฟน) แต่สำหรับคอแจ๊สบ้านเราก็คงได้แต่รู้สึกอิจฉา และเสียดายที่พลาดได้ดูของดี(อีกแล้ว)

และ....ในที่สุด แฟนเพลงแจ๊สบ้านเราก็สมหวัง ได้ดูตัวเป็นๆของไมค์ สเติร์นกันเป็นครั้งแรก ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2006 เมื่อเขาบินเดี่ยวตรงจากอเมริกา มาทำเวอร์กชอป “Jazz Guitar Clinic” และแสดงคอนเสิร์ต ร่วมกับนักดนตรีแจ๊สไทย การมาเมืองไทยครั้งแรกของสเติร์นน่าจะเป็นแค่เรียกน้ำย่อยให้กับแฟนๆมากกว่า เพราะเขามาทำหน้าที่หลักในบทบาทของวิทยากรมากกว่า ทำให้ต้องร้องเพลงรอกันอีกพักหนึ่ง กว่าจะได้ประจักษ์แจ้งถึงศักยภาพที่เปล่งพลังออกมาเต็มสูบของยอดนักกีตาร์แจ๊สผมยาวสลวยคนนี้ ให้สมใจอยากแบบครบเครื่อง ตอนกลางเดือนมิถุนายน 2008 ในงาน “หัวหินแจ๊สเฟสติเวล 2008” เมื่อเขาพาทีมสนับสนุนระดับพรีเมียร์ลีกด้วยกัน อย่างมือกลอง Dave Weckl และ “Chris Minh Doky” มือเบสดาวรุ่งลูกครึ่งเวียตนามเดนมาร์ก

ไมค์ สเติร์น ผงาดขึ้นมาเป็นมือกีตาร์แจ๊สระดับแนวหน้า
เทียบเท่ากับ Pat Metheny, John Scofield และ Bill Frisell ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ฝีมือของเขาได้รับการยกย่องยอมรับจากคนในวงการเดียวกัน และยังเป็นต้นแบบสำหรับเหล่านักกีตาร์รุ่นน้อง ผู้กำลังก้าวเดินตามมาในเส้นทางนี้ ด้วยทักษะทางเทคนิคอันลื่นไหลในเชิงบีบ็อป อย่างไม่มีอาการติดขัดสะดุดบนคอกีตาร์ หรือบันดาลเสียงแผดคำรามด้วยความหนักหน่วงของสำเนียงร็อก ที่กีตาร์ซาตานแห่งแนวเฮฟวี่เมตัล ได้ฟังแล้วต้องหนาวสะท้านถึงก้นบึ้งแห่งหัวใจ แล้วยังหักมุมปรับวูบมาสู่อารมณ์เพลงอ่อนไหวในลีลาแจ๊สรุ่นใหญ่ ได้อย่างไม่ขัดเขิน นี่เป็นคุณสมบัติโดดเด่นเฉพาะตัวของสเติร์น เป็นบารมีที่เขาได้มาจากความพากเพียรฝึกฝนนานนับสิบปี

คืนวันที่ 27 มิถุนายน 1981 ที่ Kix คลับใหญ่ในเมืองบอสตัน ซึ่งปรกติจะเป็นสถานดิสโก้ของหนุ่มสาว ได้ถูกเปลี่ยนโฉมให้เป็นเวทีอุ่นเครื่องการกลับสู่สังเวียนแจ๊สของ Miles Davis
ผมได้ยกพวกไปกันเกือบสิบคน กับทั้งเพื่อนคนไทยและฝรั่ง ยืนรอกันในบรรยากาศคึกคัก แถวใกล้เวทีการแสดง ผู้คนในคลับมีตั้งแต่นักเรียนดนตรีไปจนถึงคนในวงการแจ๊สมากหน้าหลายตา ทุกคนต่างตั้งหน้าตั้งตาคอยวันนี้มานานแล้ว ผมรู้สึกตื่นเต้นมากที่จะได้ดูเจ้าชายแห่งความมืด ผู้เป็นตำนานแห่งแจ๊ส ครั้นใกล้เวลาแสดง ผมเห็นไมค์ สเติร์นเดินสะพายกีตาร์ตรงรี่เข้ามา เขายื่นมือมาทักทายจับมือกับผม แล้วเดินขึ้นเวที เหตุการณ์เมื่อกว่ายี่สิบปีของคืนนั้น ยังชัดเจนอยู่ในความทรงจำของผมตลอดมา สเติร์นแจ้งเกิดในคืนนั้นแล้ว และในวันนี้ตัวเขาคือยอดนักกีตาร์คนหนึ่ง

ไมค์ สเติร์น เกิดที่บอสตัน รัฐแมสซาชูเสต เมื่อ 10 มกราคม 1953 แต่ไปเจริญวัยที่วอชิงตัน ดี ซี เมืองหลวงของอเมริกา มีคุณแม่เป็นนักเปียโนคลาสสิก ฝีมือระดับอาชีพ เลยอยากให้ลูกชายเจริญรอยตาม จัดการให้เขาเริ่มเล่นเปียโนตั้งแต่ 8 ขวบ แต่พอโตขึ้นมาหน่อยราว 12 ขวบ ลูกชักอยากจะเปลี่ยนไปเล่นอะไรที่เป็นคนเลือกเอง เสติร์นลองขยับเล่นกีตาร์ดู เกิดติดใจ และติดพัน เอาจริงเอาจังจนไปเรียนกับครูอยู่พักหนึ่ง แล้วหันมาลุยเล่นเอง โดยอาศัยฟังและแกะเพลงจากแผ่นเสียงร็อกและบลูส์ ผลงานของ B.B. King, Buddy Guy, Jimi Hendrix, Jeff Beck และ Eric Clapton คือ ต้นแบบสไตล์กีตาร์ที่ยังติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ครั้นเมื่อเอาแผ่นเสียงแจ๊สของแม่ไปลองเล่นตามดูบ้าง กลายเป็นว่าจับทางไม่ถูก ไปไม่เป็น หลงทางตั้งแต่เริ่มเลย ทำให้รู้ถึงขีดจำกัดของตัวเองว่า ถ้าจะเล่นแจ๊สให้ได้ ยังต้องเรียนรู้อีกมากมาย

สเติร์นไปเรียนต่อทางดนตรีที่
Berklee College of Music ในปี 1971 ซึ่งได้เรียนรู้ถึงศาสตร์แห่งแจ๊สอย่างที่ใจมุ่งมั่น เขาได้ให้ความสนใจจริงจังกับการเล่นแจ๊สกีตาร์ โดยให้ความชื่นชมในฝีมือของ Wes Montgomery และ Jim Hall เป็นพิเศษ สไตล์การเล่นของสองนักแจ๊สกีตาร์ผู้ยิ่งใหญ่ ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการแสดงออกทางดนตรีของเสติร์นอย่างชัดเจนในเวลาต่อมา นอกจากนั้นเขายังได้ซึมทราบในดนตรีของ Miles Davis, John Coltrane, McCoy Tyner และ Bill Evans ในขณะที่เรียนกีตาร์กับ Mick Goodrick ครูกีตาร์ตัวเก๋า ชี้ทางให้มีความเป็นตัวของตัวเอง และ Pat Metheny ครูผู้อ่อนวัยกว่า แต่เหนือเชิงในคุณวุฒิ ซึ่งได้ให้กำลังใจและคำแนะนำอันเป็นประโยชน์ แก่ศิษย์ผู้ขาดความมั่นใจในฝีมือของตนเอง มากกว่าจะเป็นการสอนทางเทคนิคการเล่นทั่วไป หลังจากเวลาผ่านไปหนึ่งปี เมธีนีบอกกับสเติร์น ว่า

“โรงเรียนนั้นมันก็ดีหรอก แต่นายจะต้องออกไปเล่นข้างนอก”

สเติร์นกลับไปบ้านวอชิงตัน ดี ซี
ลุยเล่นเสริมกระดูกให้แข็งแกร่ง ไปกับวงร็อกและบลูส์ทั่วละแวกนั้น เจ้าหนุ่มไมค์ผู้กังขาในศักยภาพของตัวเอง ใช้เวลาช่วงลาพักเรียน มุฝึกพัฒนาวิทยายุทธอย่างเอาเป็นเอาตาย จนกีตาร์แทบจะเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย ก่อนที่จะหวนกลับไปเบิร์คลีอีกครั้ง และเมธีนีได้แนะนำเขา ให้กับวง Blood, Sweat & Tears ในปี 1976 เมื่อวงแจ๊สร็อกรุ่นบุกเบิกนี้ กำลังมองหามือกีตาร์คนใหม่ แม้ว่าวง BS&T จะผ่านพ้นช่วงแห่งความรุ่งโรจน์ไปหลายปีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเป็นที่รวมของเหล่านักดนตรีฝีมือระดับพระกาฬ หนึ่งในนั้น คือ Jaco Pastorius มือเบสยอดฝีมือจอมทระนง ผู้ประกาศตนเป็นเจ้าแห่งเบสกีตาร์ไฟฟ้าไร้เฟร็ต สเติร์นได้คบหาเป็นเพื่อนสนิทกับจาโคตั้งแต่นั้นมา ความไร้เทียมทานสมราคาคุยในเชิงเบสไฟฟ้าของเพื่อน กลายเป็นแรงดาลใจอันยิ่งใหญ่ประทับไว้ในใจเขาอย่างไม่เสื่อมคลาย

หลังเก็บเกี่ยวชั่วโมงบินสองปีกับ BS&T
เสติร์นกลับไปบอสตัน สมัครตัวเป็นศิษย์ Charlie Banacos อาจารย์อิสระ ผู้ไม่สังกัดสถาบันใด บานาคอสเป็นนักเปียโนบีบ็อปฝีมือร้ายกาจมาก แต่เขาเลือกที่จะเป็นครู จากความสามารถพิเศษเฉพาะตัว ในการวินิจฉัยความบกพร่องของลูกศิษย์แต่ละรายได้ถูกจุด ช่วยแก้ไขชี้แนะวิธีการขจัดปัญหาเหล่านั้น จนไต่เต้าขึ้นไปเป็นนักดนตรีระดับแนวหน้า นอกจาก Mike Stern แล้ว ยังมี Jeff Berlin, Mike Brecker, Bill Pierce, Leni Stern และคนอื่นๆอีกมาก ตัวผมเองได้เคยมีโอกาสเรียนรู้ระบบการสอนของบานาคอสอยู่บ้าง ในชั่วโมงเรียน Ear Training สมัยอยู่ Berklee จากครูผู้เป็นศิษย์ของท่าน และจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนที่ไปเรียน สรุปได้ว่าหัวใจของหลักสูตรนี้ เน้นทางด้านการพัฒนาหูเป็นสำคัญสูงสุด การบ้านหลักของผู้เรียน คือ การแกะบันทึกลงเป็นตัวโน้ตบนกระดาษ (Transcribe) ท่อนโซโล่ของนักดนตรีแจ๊สสุดยอด อย่าง Miles Davis, John Coltrane หรือ Bill Evans เป็นประจำทุกวัน แล้วนำมาศึกษา วิเคราะห์ ประยุกต์ใช้งานกับเชิงด้นของตัวเอง

กิตติศัพท์ของบานาคอสเป็นที่รู้กันทั่วในวงการ ใครที่อยากจะไปเรียนด้วย ต้องไปกรอกใบสมัครเข้าชื่อต่อคิวไว้ สมัยเมื่อยี่สิบปีที่แล้วคิวรอเรียนประมาณหนึ่งปีครึ่ง ล่าสุดที่ทราบข่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า ต้องรอราวสามปี ถ้าใครสนใจจะไปเรียนจริงก็ต้องสืบหารายละเอียดเอาเองอีกที ที่ CharlieBanacos.com สำหรับคนไทยเราอาจจะมีภาษีดีอยู่หน่อย อาจารย์ท่านชอบทานแกงเขียวหวาน ที่เพื่อนบ้านคนไทยแกงไปฝากให้ทานอยู่ประจำ ไปให้คุณพี่เขาใช้เส้นช่วยลัดคิว อาจจะได้เรียนเร็วขึ้น หรือจะติดต่อเรียนทางไปรษณีย์ก็มี ขอเตือนเอาไว้ก่อนว่า อาจารย์รับสอนเฉพาะผู้ที่มุ่งมั่นเอาดีอย่างจริงจังเท่านั้น ประเภทไปชุบตัวเพื่อมาออกเทป ไม่รับครับ ปัจจุบันบานาคอสยังเข้าสอนที่ New England Conservatory ด้วย

ในช่วงตั้งหลักเตรียมตัวสำหรับก้าวเดินต่อไปในเส้นทางแจ๊สของสเติร์น
เขาได้ร่วมเล่นอยู่ในวงฟิวชั่น Baku ภายใต้การนำของนักทรัมเป็ตญี่ปุ่นไทเกอร์ โอโคชิ (Tiger Okoshi) และลับความคมในแนวปฏิบัติสายหลักแห่งแจ๊สกับระดับหัวกะทิของเมือง อย่าง Jerry Bergonzi นักแซ็กโซโฟน เพื่อนรักของอาจารย์ ผู้เข้าสังกัดอยู่ในวง Dave Brubeck ซึ่งเมื่อมีโปรแกรมเล่นที่ซิมโฟนี ฮอล คนก็จะแห่กันไปดูเป็นพัน แต่เวลาที่มาหมกตัวเล่นในผับ อยู่ท้ายถนนเดียวกัน นับคนดูได้ไม่กี่สิบคน ทั้งๆที่คุณภาพดนตรีเข้มข้นกว่าเวทีใหญ่

เป็นช่วงเวลาที่ตัวผมได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์จริง ผมได้เฝ้าดูสเติร์นซุ่มซ้อมสู่ความเป็นเลิศในเชิงบีบ็อป ณ Michael’s ผับใกล้บ้านกว่าสองปี
จนมีความคุ้นเคย และรู้จักกันเป็นอย่างดี ตอนนั้นอาวุธคู่กายของเขาใช้เฟ็นเดอร์ สตราโตแคสเตอร์ รุ่นหัวโต สีฟ้า ชอบแต่งตัวตามสบาย เสื้อยืดดำ กางเกงยีน และรองเท้ากีฬา เขาตั้งใจเล่นเต็มร้อยอยู่เสมอ ไม่ว่าจะมีคนแน่นเต็มผับ หรือ บางครั้งมีเพียงแค่ผมกับเพื่อนนั่งจิบเบียร์ที่เคาน์เตอร์ก็ตาม ผมมีความรู้สึกว่า การได้แก้โจทย์เพลงด้วยทำนองด้นที่สละสลวยลงตัว เป็นรางวัลสูงสุดของในแต่ละคืนที่เขาเล่น มันมีความหมายมากกว่าค่าตัว ซึ่งในบางคืนเป็นแค่เศษเงินน้อยนิดกว่าเด็กล้างจาน ในช่วงกลางวัน หลังตื่นนอน กีตาร์จะอยู่ในมือไม่เคยห่าง ผัดไทยเป็นอาหารหลักอย่างหนึ่ง ที่ประทังชีวิตให้ผ่านพ้นไปในแต่ละมื้อ โดย Magdalena (ชื่อที่ผมรู้จักเธอในตอนนั้น) หรือ Leni Stern เมียสาวเยอรมัน จะแวะซื้อจากร้านบางกอก คูซีน กลับไปฝากให้เขาเป็นประจำ นานๆครั้งที่จะเห็นเขาออกมาร่วมโต๊ะทานในร้านด้วย

สเติร์นออกจากถ้ำ พร้อมถึงด้วยเขี้ยวเล็บอันคมกริบและพลังแก่กล้าในวิชาด้น เมื่อ Billy Cobham มือกลองจอมพลัง
โทรตามตัวให้ไปร่วมเดินสายกับวงแนวฟิวชั่นของเขาในปี 1979 แต่เขาก็ยังแวะเวียนกลับมารังเก่า ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านที่สองอย่าง Michael’s Pub เมื่อว่างเว้นจากการทัวร์ โดยชวนบิล แอเวน (Bill Evans) นักแซ็กโซโฟนหนุ่ม มาร่วมวงด้วย พร้อมกับข่าวกระพือออกไปว่า แอเวนคือ สมาชิกคนหนึ่งในวงใหม่ของไมล์ เดวิส ซึ่งเตรียมการจะกลับคืนสู่สังเวียนแจ๊สอีกครั้ง บรรดาคอแจ๊สบอสตันเลยแห่กันไปชมความเก่งกาจ ให้หายข้องใจ จนแน่นผับ ซึ่งจุเต็มที่ไม่เกิน 60 คน ระหว่างที่วงกำลังบรรเลงกันอยู่ ผมหันไปดูทางด้านประตูเข้า เห็นแพ็ท เมธีนี มาร่วมสังเกตการณ์ด้วย ในมือถือโค้กกระป๋อง ยืนหลบมุมฟังอยู่

จากสายสัมพันธ์กับแอเวน
ชักนำไปสู่โอกาสทองครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตของสเติร์น เมื่อไมล์มองหานักกีตาร์มาเสริมวง นักทรัมเป็ตตำนานแห่งแจ๊สรุดไปดูหน่วยก้านของมือกีตาร์แจ๊สผมยาว ซึ่งกำลังทำการแสดงอยู่กับค็อบแฮม ลูกน้องเก่าของเขา อยู่ที่คลับ Bottom Line ในนิวยอร์ก ตามแรงเชียร์ของแอเวน สไตล์กีตาร์ของสเติร์นสอบผ่าน ได้เข้าอยู่ใต้อาณัติไมล์ถึง 3 ปี ฝากเสียงกีตาร์ไว้ในอัลบั้ม “Man With The Horn” (1981), “We Want Miles” (1981) ซึ่งบันทึกการแสดงสดในคืนเปิดตัวที่ Kix และ “Star People” (1982)

แต่ชะตาชีวิตของเสติร์นต้องพลิกผัน เมื่อเขาถลำตัวเข้าไปแวะข้องกับยาเสพติด ทั้งโคเคนและเหล้า จนถึงขั้นฉีดเฮโรอินเข้าเส้น วันคืนของเขาตกอยู่ในภวังค์แห่งความพร่ามัว ไมล์สั่งพักงาน ให้ไปจัดการฟื้นสภาพร่างใหม่ แล้วค่อยกลับมา เมื่อขจัดยาออกไปได้แล้ว แต่ผีร้ายที่ครอบงำร่างกายอยู่ไม่ทำให้เขารู้สำนึกผิด สเติร์นเลือกเดินทางสายมืดต่อไป เขาเข้าร่วมทีมกับจาโคเพื่อนรัก ผู้มั่วสุมเมาอยู่
ด้วยกัน ในปี 1984 ผมได้ดูวง Words of Mouth ชุดนี้ครั้งหนึ่ง พวกเขาขึ้นไปเล่นกันแบบลุยไปดาบหน้า เหมือนไม่มีการเตรียมการมาก่อน มีบางช่วงที่เล่นกันดีมาก ส่วนใหญ่จะเล่นกันแบบเลยเถิด ไม่ประทับใจอย่างที่คาดหวังไว้ คงจะเล่นกันในสภาพที่เมายา เพราะดูมีอาการแปลกๆอยู่ และหลังจากนั้นไม่นานมาก ผมได้ไปดูสเติร์นเล่นในบาร์เล็กๆ ก็ได้เห็นสภาพขี้ยาของเขาจังๆ ขณะผมเข้าไปในห้องน้ำทำธุระหนักกำลังจะเสร็จอยู่ ได้ยินเสียงเคาะประตูอย่างแรง พอผมเปิดประตู เจ้าไมค์รีบผลุนผลันสวนเข้าไปทันที ด้วยหน้าตาที่ซีดขาว และอีกสักพักหนึ่ง ผมเห็นเขาเดินออกมาอย่างอารมณ์ดี

สเติร์นติดยางอมแงม ส่งผลให้ร่างกายรับไม่ไหว สุขภาพแย่เลวร้ายจนปางตาย ทำให้เขาตาสว่างขึ้นมา รีบถ่อสังขารเข้าไปสถานบำบัดผู้ติดยา รักษาจนหายขาด ไม่ข้องแวะกับของมึนเมาอีกต่อไป เขาร่วมเดินสายกับนักแซ็กโซโฟน David Sanborn และเมื่อมีเวลาว่างก็จะใช้บาร์ 55 แถวกรีนิช วิลเลช เป็นที่ซ้อมมือ

เมื่อไมล์รู้ข่าวว่าเขาเลิกยาได้แล้ว สเติร์นได้รับการเรียกตัวกลับเข้าไปเล่นกับไมล์อีกครั้ง ในปี 1985 เขาเข้าไปแทนที่จอห์น
สโกฟิลด์ ผู้เข้าไปแทนที่เขา ซึ่งดังแล้วแยกวง ออกไปบินเดี่ยว หนุ่มไมค์ยอมให้เจ้านายเก่าสับโขกอีกราวแปดเดือน สำหรับคราวหลังที่ไปอยู่นี้ แม้จะได้เรียนรู้อะไรมากมายจากการร่วมวงไมล์ แต่ใครๆก็รู้กันดีทั่วทั้งวงการว่า อยู่กับไมล์นั้น อยู่ยาก และเขารู้สึกหมดความอดทนอีกต่อไปแล้ว จึงขอลาจากกันด้วยดี โดยที่ตัวเองก็ยังไม่ได้วางแผนจะทำอะไรต่อไป แล้วเขาได้รับโทรศัพท์จากมือแซ็กไมค์ เบรเกอร์(Mike Brecker) ชวนให้ไปเล่นกับวง Steps Ahead ซึ่งเป็นวงระดับรวมดาว นำเสนอนักเคาะไวบ์ Mike Mainieri, มือเบส Victor Bailey, มือกลอง Steve Smith และ Mike Brecker

และในปี 1986 นี้ สเติร์นได้หันมาขะมักเขม้นในด้านการแต่งเพลงอย่างจริงจัง จนถึงกับสมัครเรียนกับ Edgar Grana แห่ง Juilliard สถาบันดนตรีสุดยอดทางด้านดนตรีคลาสสิก เมื่อเขาได้เซ็นสัญญาอัดเสียงกับ Atlantic ค่ายเพลงมีระดับ เปิดตัวด้วย
“Upside Downside” อัลบั้มชุดแรกของเขา จึงเป็นโอกาสดีในการนำเสนอผลงานเขียนเพลงของเองทั้งชุด บวกกับโชว์การเล่นกีตาร์ร่วมกับ Bob Berg(แซ็ก), Mitch Forman(คีย์บอร์ด),Mark Egan(เบส), Dave Weckl(กลอง) และอีกหลายคน พร้อมดารารับเชิญ คนคุ้นเคยอย่าง Sanborn และ Jaco มาช่วยประโคมเสียง ในขณะที่ยังเป็นสมาชิกของวง Mike Brecker ด้วย จนถึงปี 1988 ซึ่ง “Time In Place” ผลงานเบอร์สองออกสู่ตลาด ได้รับการตอบรับดี จนต้องรีบปั่น “Jigsaw” (1989) ตามมาสนองอารมณ์แฟนแนวฟิวชั่น และยังฟอร์มวงร่วมกับ Bob Berg คนเป่าเทเนอร์แซ็กที่เข้าขากันตั้งแต่อยู่กับไมล์ โดยมี Dennis Chambers และ Lincoln Goines มาร่วมสมทบ ทีมนี้เกาะกลุ่มกันเหนียวแน่นจนถึงปี 1992 และได้ฝากฝีมือไว้ใน “Odds Or Evens” (1991)

สเติร์นเข้าร่วมทีมรวมตัวใหม่ของพี่น้อง Brecker Brothers Band ในปี 1992 สำเนียงกีตาร์สะใจโก๋ของเขา
เป็นตัวช่วยสำคัญแห่งความสำเร็จของวงนั้น แต่สำหรับโปรเจคท์ส่วนตัว “Standards(And Other Songs)” (1992) กลับพลิกโผจากงานชุดก่อนๆ มาเป็นการโชว์ความสามารถด้านแจ๊สแท้ ที่แฟนส่วนใหญ่ไม่เคยได้รับรู้มาก่อน ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ นักวิจารณ์และคนอ่านนิตยสาร Guitar Player ต่างเทคะแนนโหวตอย่างเป็นเอกฉันท์ให้เสติร์นเป็น Best Jazz Guitarist Of The Year แล้วเขาก็หวนกลับไปสู่สำเนียงฟิวชั่นด้วย “Is What It Is” (1994) และ “Between The Lines” (1996) ทั้งสองชุดนี้ ได้รับการเสนอเข้าชิงรางวัลแกรมมี่

“Give And Take” (1997) ได้สุดยอดแห่งแจ๊ส มือกลอง Jack
DeJohnette และมือเบส John Patitucci มาร่วมเป็นวงทริโอหลัก ช่วยต้อนรับแขก Michael Brecker, David Sanborn, Gil Goldstein และ Don Alias ซึ่งมาร่วมบรรเลงเพลงสแตนดาร์ด 3 เพลง ผสมกับเพลงต้นแบบของสเติร์น และแถมด้วยเพลง Who Knows ของ Jimi Hendrix ทำให้ชุดนี้ได้รับกล่องอีกแล้ว คราวนี้เป็น Orville W. Gibson Award For Best Jazz Guitarist

บิล ฟริเซล
และจอห์น สโคฟิลด์ ซึ่งสเติร์นรู้จักดี ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่เบิร์คลี คือ สองนักดนตรีคนโปรดของเขา ซึ่งบังเอิญเป็นนักกีตาร์ด้วยกัน เขาชวนเพื่อนทั้งสองมาเป็นแขกรับเชิญ ใน “Play” ผลงานลำดับเก้า ออกมาในปี 1999 ใครที่ชื่นชมนักกีตาร์ทั้งสาม ไม่ควรพลาดอัลบั้มนี้ ซื้อหนึ่งได้สาม คุ้มค่ามากครับ เป็นงานดีมากชุดหนึ่งของสเติร์น งานชิ้นต่อมา “Voices” (2001) รับเอาอิทธิพลของ World Music เข้ามาอย่างชัดเจน ทั้งจากบราซิล อัฟริกา และสเปน การเอาเสียงร้องมาผสมผสานกับเสียงกีตาร์ นับเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับวิถีดนตรีของสเติร์น และเขายังแต่งทำนองได้น่าประทับใจมาก ในอัลบั้มชุดสั่งลาจากค่าย Atlantic ที่เขาสังกัดมานานถึง 15 ปี

แม้สเติร์นจะเป็นศิลปินแจ๊สแนวหน้า อัลบั้มทั้ง 10 ชุดของเขาภายใต้สังกัด Atlantic มียอดขายในระดับพอเลี้ยงตัวได้ มีกำไรอยู่บ้าง และก็ยังพอขายได้เรื่อยๆ แบบน้ำซึมบ่อทราย คงจะไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายบริหาร ที่ต้องการทำกำไรมากๆ เป็นเหตุให้ไม่มีการต่อสัญญาใหม่

สเติร์นต้องระหกระเหินไปซบอกค่ายเล็กๆ อย่าง ESC สำหรับงานชุดใหม่ของเขา
“These Times” ในปี 2004 ซึ่งได้ตัวช่วยอย่าง Richard Bona มือเบสมหัสจรรย์จากแคมารูน, Kenny Garrett คนแซ็กศิษย์เก่าโรงเรียนไมล์ด้วยกัน และ Bela Fleck นักเกาแบนโจฝีมือไร้ขีดจำกัด มาเติมแต้มสีสันให้อัลบั้มนี้หลากหลายชวนฟังมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ชอบอัลบั้ม “Voices” เหมือนกับได้มาฟังต่อภาคสองจากชุดนี้

“Who Let the Cats Out?” อัลบั้มในปี 2006 กับ Heads Up ค่ายใหม่ สเติร์นยังคงเรียกใช้บริการซื้อเบสแถมร้องของริชาร์ด โบนา
มาเป็นตัวหลักช่วยเสริมจุดขาย และยังเชิญแขกมาอีกเพียบเช่นเดียวกับอัลบั้มก่อนหน้านี้ ให้ได้ชิมอาหารหูกันหลายรส แต่ผมกลับติดใจ “Lifecycle” อัลบั้มปี 2008 ที่ไมค์ไปร่วมงานกับวง Yellowjackets มากกว่า ฟังแล้วได้ความรู้สึกต่อเนื่อง กลมกลืน เข้าขากันมาก เหมือนกับว่าสเติร์นเป็นสมาชิกวงตัวแตนนี้มานานแล้ว ผมยังได้ยินสำเนียงลายเซ็นที่คุ้นเคยตั้งแต่ครั้งกระโน้น สมัยที่เขาขัดเกลาฝีมือในคลับเล็กๆ จะแตกต่างที่วันนี้โน้ตทุกตัวจากปลายนิ้ว จะปล่อยออกมาอย่างเหมาะเจาะ สวยงาม สื่อความหมายชัดเจน และเล่าเรื่องราวชวนให้ติดตามได้ลุ่มลึกกว่า แม้จะยังคงลุ้ก 3 ย. (ผม)ยาว, (เสื้อ)ยืด และ(กางเกง)ยีน เหมือนเก่า

เขาได้บรรลุถึงจุดสุดยอดแห่งความเป็นนักดนตรีแล้ว

ดนตรีคือชีวิตของสเติร์น นับตั้งแต่เขาเริ่มจริงจังกับการเล่นกีตาร์ จนถึงทุกวันนี้ เขายังมีความสุขกับการได้ฝึกกีตาร์วันละหลายชั่วโมง และหาโอกาสเล่นร่วมกับคนอื่น การทำเงินเยอะๆ เล่นดนตรียังไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดในชีวิต ที่ทุ่มเทให้กับศิลปะแห่งการด้นแจ๊ส ของชายผู้ได้รับการยกย่องว่า เล่นกีตาร์ได้เก่งที่สุดคนหนึ่งของโลกคนนี้

“บางครั้งค่าตัวก็ไม่ดี คลับก็ดูโทรม แต่มันเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเล่นกันต่อไปเพื่อผู้คน ไมล์เคยพูดให้ฟังว่า เขาจะพยายาม”จับใจใครสักคน”อยู่เสมอ ใส่จิตและวิญญาณของคุณลงไปในดนตรี แล้วบางทีคุณอาจจะจับใจใครบางคนที่อยู่ข้างหน้าได้ สำหรับตัวผม จับได้คนเดียวก็เกินพอแล้ว”


(ปรับปรุงจากตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 63 - 64 กันยายน - ตุลาคม 2003)


Friday, May 22, 2009

Intervals ภาคปฏิบัติ (1)

Intervals_(5)


โดยปกติแล้วระยะทางการฝึกเอียร์เทรนนิง(Ear Training) ก่อนที่จะมาเริ่มฝึกอินเตอร์วัล(Intervals)นั้น
ควรจะต้องผ่านการฝึกในระดับพื้นฐานมาแล้วอย่างน้อย 2 ปี หรือ ถ้าเป็นในแบบออรัลเทรนนิง (Aural Training) ของท่านอาจารย์แรน เบลค (Ran Blake) แห่งสถาบัน New England Conservatory ก็จะต้องผ่านการท่องจำเพลงด้วยหูล้วนๆ มาอย่างน้อย 1 ปี และสำหรับพวกเราที่ลุยมาแบบมวยวัด เรียนรู้มาด้วยตัวเอง หรือแบบประเภทครูพักลักจำ บางคนก็ได้เป็นศิษย์นักดนตรีระดับโลกผ่านทางวิดีโอ ก็ต้องยกเครดิตให้ว่ามีพื้นฐานมาแล้วทั้งสิ้น และส่วนสำคัญมากๆสำหรับที่จะใช้ในการฝึกปฏิบัติอินเตอร์วัล ก็คือ ประสบการณ์ในการฟังเพลงของตัวผู้ฝึก คนที่ฟังเพลงมามาก หลากหลายสไตล์ รู้จักเพลงมาก จะได้เปรียบกว่าคนที่ฟังเพลงมาน้อย และจำกัดแนวเพลง เพราะเราจะนำเอาบรรดาเพลงทั้งหลายที่บันทึกอยู่ในหัวสมองของแต่ละคนมาใช้ประโยชน์ เพื่อเป็นเพลงอ้างอิงส่วนตัว เพลงใครเพลงมัน คนที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกัน เติบโตมากับเพลงร่วมสมัยรุ่นเดียวกัน ก็จะมีเพลงอ้างอิงคล้ายๆกัน

วิธีฝึกให้รู้จักสนิทสนมเป็นอย่างดีกับอินเตอร์วัลนั้น ไม่มีอะไรที่ลึกลับซับซ้อนเลยครับ เพียงแค่เอาสองตัวโน้ตแรกของทำนองเพลง ที่มีทำนองพ้องกับอินเตอร์วัลในแต่ละคู่ไปผูกเข้ากับอินเตอร์วัลคู่นั้นๆ ซึ่งเพลงที่เลือกเฟ้นเอามาเป็นครูฝึกนี้ ควรจะเป็นเพลงที่เรามีความคุ้นเคยเป็นอย่างดี หรือถ้าจะเป็นเพลงที่ไม่เคยรู้จักมักคุ้นมาก่อน ก็จะต้องทำความคุ้นเคยจนสนิทสนมกันเป็นอย่างดี เราอาจจะเลือกเพลงที่ขึ้นต้นด้วยอินเตอร์วัลคู่เดียวกันมาหลายๆเพลง แล้วมาคัดเลือกอีกที เพลงไหนที่เราสามารถนึกได้เร็วที่สุด จะถูกเลือกมาเป็น
เพลงอ้างอิงสำหรับอินเตอร์วัลคู่นั้น ยกตัวอย่าง เช่น อินเตอร์วัลคู่สี่ขาขึ้น (Perfect 4th Up) คือ จากโน้ตต่ำกว่าไปหาโน้ตสูงกว่า เราอาจจะเลือกเอาเพลง “Here Comes The Bride” เพลงแต่งงาน ซึ่งฝรั่งรู้จักกันดี และเป็นเพลงบังคับสำหรับนักดนตรีไทยที่หากินกับงานแต่งงาน หรือนักดนตรีไนต์คลับก็คงจะคุ้นเคยกับ “Perfidia” เพลงสแตนดาร์ดลาตินรุ่นเก่า ส่วนคอแจ๊สนั้นจะไม่มีเครื่องหมายคำถามบนใบหน้า เมื่อเอ่ยถึง “St. Thomas” เพลงสนุกลีลาคาลิปโซของซันนี รอลลิน (Sonny Rollins) สุดยอดแห่งแซ็กโซโฟนแจ๊สคนหนึ่ง และคอเพลงร็อกที่พ่วงด้วยแอนด์โรล ก็ยังปลื้มได้ทุกครั้ง เมื่อได้ยิน “Love Me Tender” ของราชาเพลงร็อกเอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presley) หรือแม้แต่เพลงลูกทุ่งบ้านเรา ก็ยังมี "สมศรี 1992" ของยิ่งยง ยอดบัวงาม ให้อ้างอิงได้

ครับ! ก็คัดกันเอาเอง ว่าใครคุ้นเคยกับเพลงแบบไหน คัดเอาเพลงที่เรารู้จักดีที่สุด มาเป็นเพลงอ้างอิงของอินเตอร์วัลคู่สมพงษ์นั้น

อินเตอร์วัลบางคู่หาเพลงอ้างอิงง่าย มีให้เลือกเยอะแยะ เกลื่อนไปหมด จากตัวอย่างที่ผ่านมา แต่อินเตอร์วัลบางคู่ก็หาเพลงอ้างอิงยากเหลือเกิน ถึงจะเอามาแนะนำให้ ก็ยังไม่รู้จักอยู่ดี ไม่รู้จะหาโน้ตมาฝึก หรือหาเพลงมาฟังจากไหน บางครั้งก็ต้องแต่งเพลงอ้างอิงขึ้นมาเอง ก็เก๋ไปอีกแบบ และเป็นปลื้มกับตัวเองอีกด้วย เมื่อต้องนึกถึงอินเตอร์วัลคู่นั้น

กระบวนการลำดับต่อไป ให้หากระดาษเปล่า มา 1 แผ่น เพื่อจัดทำตารางรายการเพลงอ้างอิงส่วนตัว สำหรับอินเตอร์วัลแต่ละคู่ ไล่ลำดับตั้งแต่ m2 (minor 2nd)ไปจนถึง M7 (Major 7th) เว้นช่องว่างแต่ละช่วง ให้มีเนื้อที่เผื่อไว้สำหรับใส่ชื่อเพลงอ้างอิงของแต่ละอินเตอร์วัล อย่างน้อยช่วงละ 3 - 4 เพลง ขีดเส้นแบ่งครึ่งหน้ากระดาษออกเป็น 2 ซีก หัวกระดาษซีกซ้ายมือให้เขียนจั่วหัวตัวโตๆ คำว่า “ขาขึ้น” หรือ “Up” ก็ได้ ส่วนทางซีกขวาก็เขียนคำว่า “ขาลง” หรือ “Down” อินเตอร์วัลแต่ละคู่ประกอบด้วยตัวโน้ต 2 ตัว จึงมีมุมมองแนวทำนองได้ 2 มุม คือ ทำนองที่ไล่จากตัวโน้ตเสียงต่ำกว่าขึ้นไปหาตัวโน้ตเสียงสูงกว่า ซึ่งเป็น “ขาขึ้น” และสำหรับ “ขาลง” คือ ทำนองจากตัวโน้ตเสียงสูงกว่าลงมายังตัวโน้ตที่ต่ำกว่า เช่น ตัวโน้ต C และ E ซึ่งเป็นอินเตอร์วัลคู่สามเมเจอร์ เราก็ต้องหาทำนองเพลงอ้างอิง ที่เริ่มจาก C ไปยัง E ซึ่งเป็น “ขาขึ้น” และทำนองเพลงอ้างอิง ที่เริ่มจาก E ลงไป C ซึ่งเป็น “ขาลง” เข้าใจนะครับ ! จากนั้นเราก็เริ่มบันทึกชื่อเพลงอ้างอิงของอินเตอร์วัลแต่ละคู่ ซึ่งงานนี้เป็นโปรเจ็กท์ที่ต้องใช้เวลานานพอควร กว่าจะรวบรวมรายชื่อเพลงให้ครบทุกรายการ ค่อยๆทำไป ไม่ต้องรีบร้อน

เมื่อเราได้รายชื่อเพลงมาแล้ว ให้คัดเลือกเอามาใช้งานแค่เพลงเดียวก่อน ควรจะเริ่มที่อินเตอร์วัลคู่เล็กๆ ประมาณคู่สาม หรือคู่สี่ก็ได้ ซึ่งน่าจะง่ายกว่าอินเตอร์วัลคู่กว้าง ถ้าเรามาวิเคราะห์ดูถึงอินเตอร์วัลในแต่ละคู่ เริ่มกันตั้งแต่คู่หนึ่ง (Unison) อันนี้ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเป็นเสียงเดียวกันอยู่แล้ว คู่สอง ซึ่งก็มี สองไมเนอร์(Minor Second) กับ สองเมเจอร์(Major Second) อินเตอร์วัลคู่นี้ก็ไม่น่าจะเป็นตัวปัญหาให้หนักอกหนักใจอะไร มีระยะห่างกันแค่ครึ่งเสียงและหนึ่งเสียงเต็ม น่าจะนึกได้ในทันที โดยไม่ต้องใช้เพลงอ้างอิง ถ้าจะใช้ก็ไม่ว่ากัน

เอาเป็นว่า
เราจะเริ่มต้นฝึกกันที่คู่สี่ขาขึ้น ซึ่งได้ยกเพลงอ้างอิงมาให้เลือกกันหลายเพลงก็แล้วกัน สมมติว่า เราเลือกเอา "สมศรี 1992" มาเป็นเพลงอ้างอิง คราวนี้เราใช้กีตาร์หรือคีย์บอร์ดหรือเครื่องดนตรีประจำตัว เล่นสุ่มตัวโน้ตเสียงอะไรก็ได้ ซึ่งนั่นจะกำหนดให้เป็นโน้ตแรกของทำนองเพลง "สมศรี 1992" เมื่อเราได้ยินเสียงโน้ตโจทย์แล้ว ก็ต้องรีบซึมซาบเสียงนั้นให้ได้โดยเร็ว เปล่งเสียงนั้นออกมาให้ตรงกับเสียงที่ได้ยิน นึกถึงโน้ตตัวที่สองของทำนองเพลง "สมศรี 1992" แล้วเปล่งเสียงตามมา ตรวจสอบความถูกต้อง ด้วยการเล่นคู่เสียงนั้นกับเครื่องดนตรี แล้วเริ่มต้นใหม่จากตัวโน้ตใหม่ ปฏิบัติการไปตามขั้นตอนเดิมจนกว่าจะทำได้ถูกต้องทุกครั้ง ถึงจะยอมให้ผ่าน อนุญาตตัวเองให้ไปเริ่มฝึกอินเตอร์วัลคู่ใหม่ต่อไป

การฝึกอินเตอร์วัลวิธีนี้ จะเป็นในลักษณะที่เรียกว่า รีเลทีฟ พิทช์ (Relative Pitch) เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างตัวโน้ต 2 ตัว ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการฟังให้ออกว่าจะต้องเป็นเสียงของตัวโน้ตอะไร

คงจะได้แนวทางปฏิบัติบ้างแล้วนะครับ คราวหน้าจะเพิ่มเติมรายละเอียดให้เห็นทางสว่างมากขึ้น คุณต้องลองไปทำด้วยตัวเองก่อน ถึงจะรู้ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง แล้วเราจะได้มาคลี่คลายกันต่อไป

ขอให้หมกมุ่นในการฝึกอย่างบ้าคลั่ง แล้วเจอกันใหม่ตอนหน้า แต่อย่าเพิ่งบ้าพ้นไปก่อนก็แล้วกัน



(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 101 ธันวาคม 2006)


Monday, May 18, 2009

Albert King

อัลเบิร์ต คิง ราชาบลูส์ผู้ไร้บัลลังก์

เจ้า
ของสำเนียงกีตาร์บลูส์ที่แพร่กระจาย ระบาดไปในวงกว้างยิ่งกว่าใครทั้งหมด ผ่านทางกีตาร์ฮีโร่ผู้ถูกครอบงำโดยความแรงยิ่งกว่าสารเสพติดของเสียงกีตาร์สยบวิญญาณ จนศิโรราบไม่อาจสลัดหลุดจากความเป็นทาสในพลังแห่งบลูส์ สู่ความเป็นตัวของตัวเองอย่างสมบูรณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นจิมิ เฮ็นดริกซ์, อีริก แคล็พตัน หรือสตีวี เรย์ วอห์น ก็ตาม

Albert King (อัลเบิร์ต คิง) ดังขึ้นมาช่วงกลางทศวรรษหกสิบ ในฐานะหนึ่งในศิลปินบลูส์ผู้ทรงอิทธิพลที่สุด ในสมัยนั้น นักเขียนบทความดนตรี Albert Goldman (อัลเบิร์ต โกลด์แมน) ได้โหมประโคมในหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ เอาไว้ว่า

“นักดนตรีผิวดำผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งทศวรรษ”

และในนิตยสารไลฟ์

“คนบลูส์สุดบิ๊ก, ร้ายกาจที่สุด”

Robert Palmer (โรเบิร์ต พาล์เมอร์) นักวิจารณ์บลูส์ผู้ทรงอิทธิพล ถึงกับเทิดทูนความสำคัญของอัลเบิร์ต คิง ในทางบลูส์ให้อยู่ในระดับเดียวกับ John Coltrane (จอห์น โคลเทรน) ที่มีต่อแจ๊สทีเดียว

อัลเบิร์ต คิง น่าจะเป็นราชาบลูส์ตัวจริง
แต่ผู้ที่ถือครองเป็นเจ้าของฉายา คือ บี บี คิง ดังนั้น คิงอัลเบิร์ต จึงเป็นได้เพียง กษัตริย์บลูส์ผู้ไร้บัลลังก์

ในสูติบัตรบันทึกไว้ว่า Albert Nelson (อัลเบิร์ต เนลสัน) ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1923 ใกล้เมืองอินเดียโนลา รัฐมิสซิสซิปปี เป็นหนึ่งในสิบสามของพี่น้องในครอบครัวเนลสัน พ่อเป็นนักเทศน์ร่อนเร่ ทิ้งลูกเมีย หายลับไป ตอนอัลเบิร์ตอายุเพียงห้าขวบ เป็นคนบ้านเดียวกับบี บี คิง และเขามักจะอ้างตัวว่าเป็นพี่ชายของบี บี คิงบ้าง หรือเป็นลูกพี่ลูกน้องบ้าง แต่บี บี คิงไม่ยอมนับญาติด้วย จนในที่สุดสรุปได้ว่า เรื่องทั้งหมดอัลเบิร์ตกุขึ้นมาเอง เขาเล่าได้เป็นตุเป็นตะว่า

“ทางบ้านเขาเป็นห่วงบี บี กัน รุ้มั้ย เขากินเหล้าหนักเกิน, แล้วเดี๋ยวนี้หัวใจเขาก็ไม่ค่อยจะปกติ, พวกเขาห้ามก็ไม่ฟัง, ยังก๊งอยู่เหมือนเดิม”

แล้วยังเสริมต่อไปอีก

“พวกเราทุกคนไม่สบายใจ เมื่อเมียเขาตีจาก, ทั้งที่เขาดีแสนดีกับหล่อน นังนั่นอยู่ดีๆ ก็ไปซะเฉยๆ อย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย เขาเซ็งมากเลย, นายรู้มั้ย แล้วมันยังทิ้งลูกให้เขาเลี้ยงอีก, นายรู้มั้ย เด็กคนนึงเป็นลูกติดแม่ ไม่ใช่ลูกเองซะด้วยซ้ำ, แต่เขาก็เลี้ยงดูเหมือนลูกในใส้”

แสดงถึงความเป็นคนอารมณ์ดี มีนิสัยขี้อำของอัลเบิร์ต คิง

หนูน้อยอัลเบิร์ตต้องทำงานหนักในไร่ฝ้ายตั้งแต่เด็ก การเข้าไปร้องเพลงในโบสถ์ คือ ประสบการณ์แรกทางดนตรี ราวปี 1931 ครอบครัวย้ายเข้าเขตเมืองอาซีโอลา รัฐอาร์คันซอ ใกล้เส้นแบ่งเขตรัฐมิสซูรี และไม่ไกลจากเมืองเมมฟิส ข้อนิ้วของอัลเบิร์ตยังคงเน้นอยู่ที่การหักกิ่งและเด็ดดอกฝ้ายเหมือนเดิม ตอนอายุสิบขวบ ตอกตะปูสองตัวข้างฝาบ้าน เอาเส้นลวดมามัดกับหัวตะปู ขึง แล้วสอดขวดเข้าไปด้านบน สอดก้อนอิฐเข้าด้านล่าง

“การสอดขวดเข้าด้านบน, นั่นทำให้เราได้เสียงกังวานใส แล้วก้อนอิฐด้านล่างช่วยให้มันตึงแน่น เราเล่นกับมันไปเรื่อย แล้วเราเปลี่ยนเสียงด้วยการเลื่อนขยับอิฐและขวด”

อัลเบิร์ตอธิบายเทคนิคของการดีดเส้นลวดสายเดี่ยว สิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรก ก่อนที่จะไปทำกีตาร์จากกล่องซิการ์ และในที่สุดเขาก็ได้เป็นเจ้าของกีตาร์จริงเมื่อสะสมเงินซื้อได้ ด้วยราคาหนึ่งเหรียญยี่สิบห้าเซ็นต์ ในปี 1939 กีตาร์กิลด์โปร่งตัวแรกตัวนั้นได้รับการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ภายหลังได้รับการบูรณะซ่อมแซมทำสีใหม่ และทำกล่องใส่อย่างดี เป็นของรักของหวงที่เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม

เก็บตัวฝึกซ้อมฟูมฟักฝีมืออยู่คนเดียวถึง 5 ปี
ก่อนที่จะไปร่วมเล่นกับคนอื่น ตอนแรกหัดเล่นในแบบกอสเปล แต่หลังจากที่ได้ฟัง Blind Lemon Jefferson (ไบลด์ เลมอน เจฟเฟอร์สัน), Lonnie Johnson (ลอนนี จอห์นสัน) และคนบลูส์อื่นๆ จากการออกอากาศถ่ายทอดเสียงรายการสดในละแวกนั้นอย่าง Elmore James (เอลมอร์ เจมส์), Sonnyboy Williamson II (ซันนี บอย วิลเลียมสัน เบอร์สอง(ไรซ์ มิลเลอร์), Howlin’ Wolf(ฮาวลิง วูล์ฟ) และ Robert Nighthawk (โรเบิร์ต ไนต์ฮอว์ก) ซึ่งตอนนั้นยังใช้ชื่อ Robert Lee McCoy (โรเบิร์ต ลี แม็กคอย)อยู่ ใจก็เอนเอียงมาทางบลูส์ทันที และเมื่อปักใจจะเป็นคนบลูส์ ก็มุ่งมั่นเดินไปในเส้นทางบลูส์อย่างแน่วแน่ไม่แปรเปลี่ยนตั้งแต่นั้นมา อัลเบิร์ตฝึกฝนการเล่นกีตาร์อย่างต่อเนื่อง ซึมซับสำเนียงบลูส์ที่กรอกหูจากวิทยุอยู่ทุกค่ำคืน ในขณะที่ยังคงเด็ดดอกฝ้ายในไร่เลี้ยงปากท้อง ก่อนที่จะย้ายงานไปเป็นช่างเครื่อง และขึ้นนั่งหลังพวงมาลัยรถไถบูลโดเซอร์ ตักไถดินและขุดตอในเวลากลางวัน กลางคืนหิ้วกีตาร์ไฟฟ้าที่ซื้อจากโรงจำนำ 125 เหรียญ ไปขอเล่นกับวง Yanceys’ Band ได้เรียนรู้อยู่สองสามเพลง ต่อมาจึงได้รวมทีมกับพวกเพื่อนๆตั้งวง In The Groove Boys เป็นวงแรกในชีวิต ในปี 1950

“พวกเราเล่นกันได้แค่สามเพลง แล้วเราก็เล่นมันในแบบเร็ว, กลาง และช้า กลายเป็นเก้าเพลง เราเล่นวนไปวนมาทั้งคืน, เอาตัวรอดไปได้”

จากสามเพลงก็กลายเป็นหลายเพลง เมื่อได้ออกงานอยู่เรื่อยๆ จนพอมีฝีมืออยู่บ้าง ราวปี 1952-3 อัลเบิร์ตลุยขึ้นทางเหนือไปที่แกรี รัฐอินเดียนา ได้เจอกับ Jimmy Reed (จิมมี รีด) ซึ่งย้ายจากเดลต้าไปปักหลักอยู่นั่น รีดซึ่งเล่นกีตาร์เช่นกัน กำลังมองหามือกลอง อัลเบิร์ตต้องการเงิน เลยต้องกลายเป็นมือกลองจำเป็นไปก่อน ในช่วงนี้เองที่เขาเปลี่ยนนามสกุล ตามอย่างบี บี คิงที่กำลังดังมากจากเพลง Three O’Clock Blues

ได้รู้จักและรับความช่วยเหลือจาก Willie Dixon (วิลลี ดิ๊กสัน) คนเบสและนักแต่งเพลงบลูส์ผู้ยิ่งใหญ่ พาไปออดิชันกับแผ่นเสียง Parrot (แพรร็อต) ตรานกแก้ว หลังผ่านการทดสอบก็ได้เข้าสตูดิโออัดเสียงเป็นครั้งแรกตอนปลายปี 1953 Johnny Jones (จอห์นนี โจนส์) นักเปียโนมือเยี่ยมคู่บารมีของเอลมอร์ เจมส์ รับงานแบ็กอัพให้ บันทึกเสียงไว้ห้าเพลง แต่คัดออกมาแค่ซิงเกิลเดียว Be On Your Merry Way ประกบคู่กับ Bad Luck Blues เป็นหลักฐานย้อนรอยสไตล์ระยะฟักตัวของอัลเบิร์ต คิง ที่ยังถูกห่อหุ้มด้วยสำเนียงของเอลมอร์ เจมส์ และโรเบิร์ต ไนต์ฮอว์ก ผลงานแรกทำยอดไม่เข้าเป้า ได้ค่าตอบแทนมา 14 เหรียญ อัลเบิร์ตกลับบ้านอาซีโอลาไปตั้งหลักใหม่อีกราวสองปี ก่อนที่จะหิ้วกีตาร์ไปเสี่ยงดวงที่เซ็นต์หลุยส์อีกครั้งในปี 1956

เซ็นต์หลุยส์เมืองใหญ่ที่อัลเบิร์ตเคยมาเยือนเมื่อหลายปีก่อน แต่ปรับตัวยังไม่ได้ กลับมาใหม่คราวนี้ เปิดฉากรุกทันทีด้วยการตะเวนไปตามคลับขอแจมกับวงเจ้าถิ่น อีกไม่กี่เดือนต่อมา ชื่ออัลเบิร์ต คิง ก็ขึ้นป้ายเรียกลูกค้าได้แล้ว จากนั้นเขาเลยยึดเซ็นต์หลุยส์เป็นฐานปฏิบัติการไปอีกหลายปี

ในช่วงสิบปีต่อมา อัลเบิร์ตพยายามพัฒนาขัดเกลาสไตล์ของเขา ด้วยการศึกษาทางกีตาร์โทนเสียงบางสะท้อนเนื้อไม้
และการสลับตัวโน้ตในแนวทำนองของบี บี คิง ด้วยใจจดจ่อ แต่เชื้อเก่าของเอลมอร์ เจมส์, ไนต์ฮอว์ก และ Willie Johnson (วิลลี จอห์นสัน) ได้ฝังลึกอยู่ในสายเลือดของอัลเบิร์ต จนเกินแก้แล้ว เขาจึงผสมผสานสังเคราะห์สไตล์ ออกมาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เป็นอัลเบิร์ต คิงซาวด์ เล่นแนวโซโลสายเดี่ยวโทนเสียงเส้นลวด เสียงใหญ่ ดังชัด ไม่ยัดเยียดตัวโน้ตให้มากรกหู ด้วยวลีที่ล้วงทะลวงเข้าไปในจังหวะ แล้วตักโกยขึ้นมาจากส่วนล่าง เหมือนกับที่เขาเคยบังคับรถแทรกเตอร์

อัลเบิร์ต คิงเป็นคนถนัดซ้าย
และเล่นกีตาร์แบบไม่กลับสายเช่นเดียวกับโอติส รัช (Otis Rush) วิธีการเล่นจะตรงกันข้ามกับชาวบ้านทั่วไป การดันสายซึ่งปกติใช้ดันขึ้น แต่อัลเบิร์ตจะดันลง เวลาที่เขาดันสายเดียวกลับไปโดนสายอื่น ติดนิ้วป้อมใหญ่ทรงพลังตามมาด้วย โดยไม่ตั้งใจอยู่บ่อยครั้ง กลายเป็นเทคนิคดันสายคู่ที่เก๋ไปอีกแบบ บางครั้งดันควบไปถึงสามสายก็มี และช่วงเสียงที่ถูดันไปตามร่องเฟร็ตกีตาร์ของเขานั้น ได้ความเที่ยงตรงไม่ผิดเพี้ยน และระยะเป็นคู่เสียงที่กว้างกว่าใครเขาทั้งหมด ทั้งนี้เกิดจากการตั้งสายแบบหย่อนกว่าปกติถึงหนึ่งเสียงครึ่ง ที่เขาอุบเป็นความลับไม่ยอมเปิดเผย

ส่วนมือซ้ายที่ใช้ดีด เคยลองหัดกับปิ้กอยู่เหมือนกัน แต่เจ้าปิ้กก็ไม่เคยเชื่อง มันจะลื่นหลุดบินว่อนไปจากมือที่ใหญ่เหมือนใบพายของอัลเบิร์ตเป็นประจำ เลยใช้นิ้วเปลือยปะทะสายเหล็กตั้งแต่นั้นมา เสียงกีตาร์ของเขาจึงแปลกพิเศษกว่าคนอื่น อัลเบิร์ตได้ทีอวดว่า

“เราเรียนรู้สไตล์นั่นด้วยตัวเอง และไม่มีใครทำได้เหมือน, แม้จะมีหลายคนที่พยายามกันจัง”

บวกกับอาวุธประจำกายที่แตกต่างไปจากคนอื่น ของเขาเป็นกีตาร์กิ้บสัน รุ่น Flying V (ฟลายอิง วี) หุ่นรูปอักษร V สีแดงสด

“เราได้ฟลายอิง วี รุ่นแรกๆ ที่กิ้บสันผลิตออกมาเลย”

ลูซี (Lucy) เป็นชื่อของฟลายอิง วี สุดที่รัก มีที่มาจาก Lucille Ball (ลูซิลล์ บอล) ดารา
ทีวีสุดโปรดของเขา ซึ่งเขาบอกว่า ไม่ได้เลียนแบบลูซิลล์ กีตาร์ของบี บี คิง เพราะลูซี ของเขามาก่อน เป็นคู่ใจกันมาตั้งแต่ปี 1958 แต่ลูซี ตัวต่อมาได้โดนปรับเปลี่ยนรูปโฉมตามใจคนใช้ ย้ายที่ตั้งลูกบิดปรับเสียงให้เหมาะสมสำหรับคนถนัดซ้าย เอาหัวกีตาร์มาตรฐานของกิ้บสัน ฝังมุกชื่อ Lucy ใส่แทนที่หัวกีตาร์แหลมแบบปลายหอก ที่ดูลงตัวกับลำตัวรูปอักษรวีกลับหัว ด้านท้ายลำตัวที่แหลมก็ปรับให้มน และให้ฝังมุกชื่อ ALBERT KING เด่นเป็นสง่าลงบนคอกีตาร์

อัลเบิร์ตเริ่มดังเป็นที่รู้จัก จนบริษัทแผ่นเสียงบาบิน ตรากระสวย ชวนอัดเพลงขาย ตอนช่วงหน้าร้อน ปี 1959 เพลงของอัลเบิร์ตประสบความสำเร็จในระดับท้องถิ่น จนค่ายใหญ่ คิง เร็คคอร์ด ขอเช่าสิทธิเพลงบลูส์ช้าปานกลาง Don’t Throw Your Love On Me So Strong ไปจัดจำหน่ายในระดับประเทศ ตอนปลายปี 1961 และได้กลายเป็นเพลงฮิตไปทั่วอเมริกา เพลงนี้ไต่ขึ้นถึงอันดับสิบสี่ ของประเภทอาร์ แอนด์ บี คิง เร็คคอร์ดได้เช่าสิทธิเพลงไปขายต่ออีกหลายเพลง แต่ก็ไม่มีเพลงใดฮิตติดอันดับอีก

ออกจากบาบินปลายปี 1962 อีกหลายเดือนต่อมา แวะอัดให้คิงชุดหนึ่ง แต่ไม่ติดตลาด หลังจากนั้นไม่ถึงปี ก็เข้าสตูดิโออัดสี่เพลงให้กับค่ายอิสระคัน-ทรี ของนักร้องแจ๊ส Leo Gooden (ลีโอ กูเด็น) ซึ่งวางตลาดขายแค่เซ็นต์ หลุยส์, ชิคาโก และแคนซัส ซิตี้ เพียงสามเมือง แต่ก็ได้รับความนิยมมากในเซ็นต์ หลุยส์ ความสำเร็จของอัลเบิร์ตแทนที่จะได้รับความชื่นชมจากกูเด็น กลับกลายเป็นความอิจฉา ทำให้เขาโดนเขี่ยออกจากค่ายคัน-ทรี

ปีทองของอัลเบิร์ต
คิงเริ่มตั้งแต่ ปี 1966 เมื่อเขาเข้าร่วมงานกับค่ายสแต็กซ์ (Stax) แห่งเมมฟิส ได้ทีมแบ็กอัพสุดยอดแห่งแนวโซล บูเกอร์ ที แอนด์ เธอะ เอ็ม จี (Booker T. and the M.G.’s) ที่ควบเป็นแพ็กเก็ตมากับทีมเป่าเสริม เมมฟิส ฮอร์น (Memphis Horns) ซึ่งปักหลักเตรียมพร้อมอยู่ในสตูดิโอ รอปั่นเพลงฮิตให้ศิลปินในสังกัดเพลงแล้วเพลงเล่า รวมทั้งผลงานของทีมเองจนเป็นตำนานแห่งเมมฟิสซาวด์

Estelle Axton(เอสเตลล์ แอ็กซ์ตัน) เจ้าของสแต็กซ์ กำลังมองหาศิลปินที่เหมาะสมมาร้องเพลง Laundromat Blues (1966) ขณะอัลเบิร์ตเดินเข้ามาหา เอสเตลล์จดเนื้อร้องยื่นให้, โดยไม่รู้มาก่อนว่า อัลเบิร์ตอ่านหนังสือไม่ออก ตอนที่อัดเสียงเขาจำเนื้อร้องท่อนสุดท้าย ซึ่งคนแต่งถือว่าเป็นท่อนเด็ดไม่ได้ แต่ทุกคนที่เกี่ยวข้องก็ไม่ติดใจอะไร ต่างพอใจในเสียงกีตาร์ที่สอดใส่เข้าไปแทน

Laundromat Blues กลายเป็นเพลงบลูส์สุดฮิตของปีนั้น จากการผสมผสานระหว่างเสียงร้องทุ้มต่ำ แหบห้าว กับกีตาร์เสียงแหลมแทงใจ โดดเด่นอยู่บนจังหวะร่วมสมัย โขลกปั่นออกมาจากทีมแบ็กอัพสุดร้อน

นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดศักราชใหม่สู่ยุคครอสโอเวอร์บลูส์โซล

อัลเบิร์ตได้ประโยชน์จากความสด ร่วมสมัยในลีลาจังหวะโซล ที่เข้าถึงได้ง่ายของเมมฟิสซาวด์ เขาเอาเพลงบลูส์เดลต้ารุ่นเก่า Crosscut Saw (1967) ซึ่งสืบทอดกันมาหลายรุ่นโดยคนบลูส์แห่งมิสซิสซิปปี ย้อนหลังไปถึงทศวรรษสามสิบ มาปัดฝุ่นปรับปรุงใหม่ ในลีลาจังหวะคึกคักกึ่งลาติน และ Born Under A Bad Sign (1967) นำเสนอเสียงกีตาร์ดุ, ดิบ และเกรี้ยวกราด ไม่เน้นสปีด เปรียบเสมือนนักมวยรุ่นเฮฟวีเวท ชกออกหมัดน้อย แต่ต่อยหนัก แต่ละตัวโน้ตที่ปล่อยออกมา เหมือนหมัดสวนจังหวะบวกทิ่มกระแทกเต็มๆ ตรงเข้าไปในบ้องหูคนฟัง บลูส์เพียวๆ ร้อยเปอร์เซ็น ไม่ต้องขัดเกลาใส่น้ำเชื่อม ประนีประนอมเอาใจตลาด สะใจโก๋คอร็อค ซึ่งชอบอะไรแรงๆอยู่แล้ว

อัลบั้มแรกของอัลเบิร์ต
Born Under A Bad Sign รวบรวมผลงานซิงเกิลเด็ดมาอยู่ด้วยกัน เป็นอัลบั้มบลูส์ทรงอิทธิพลที่สุด และได้รับความนิยมมากที่สุดในทศวรรษหกสิบ เป็นต้นแบบให้บลูส์รุ่นน้อง Otis Rush (โอติส รัช) รุ่นศิษย์ Mike Bloomfield (ไมค์ บลูมฟิลด์), Eric Clapton (อีริก แคล็พตัน), Jimi Hendrix (จิมิ เฮ็นดริกซ์) รุ่นลูก Stevie Ray Vaughan (สตีวี เรย์ วอห์น), Gary Moore (แกรี่ มัวร์) และไล่รุ่นไปจนถึงบลูส์รุ่นหลาน Kenny Wayne Shepherd (เคนนี เวย์น เชเพิร์ด) ยึดถือเป็นคัมภีร์ศึกษาแนวทาง

ผู้ติดเชื้อกีตาร์สไตล์อัลเบิร์ต คิง ที่เป็นสื่อพาหะแพร่ระบาดจนลุกลามไปทั่วโลก ทำให้สิ้นหวังหมดหนทางที่จะหาวัคซีนมาฉีดสร้างภูมิคุ้มกันได้โดยสิ้นเชิง เห็นได้ชัดจับได้คาหนังคาเขา จากร็อกซูเปอร์สตาร์ อีริค แคล็พตัน หลังแยกตัวออกจากวง Yardbirds (ยาร์ดเบิร์ดส์) ไปก่อตั้งวง Cream (ครีม) อาศัยอัลเบิร์ตเป็นบันไดลัดสู่ความสำเร็จ ก้อปปี้ลูกโซโลจากเพลง Personal Manager ถือวิสาสะเอาไปใส่ในผลงานเอง Strange Brew จนน่าจะโดนฟ้องฐานละเมิดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา และยังลอก Born Under A Bad Sign ไปทำซ้ำในอัลบั้มของครีมด้วย ต่อมาเขาทำพิธีไถ่บาปด้วยการสารภาพกลางคอนเสิร์ต ให้วัยรุ่นผู้คลั่งไคล้ในตัวเขาขนาดหนัก ถึงขั้นอัญเชิญขึ้นแท่นบูชาเป็นพระเจ้า ได้รับรู้ถึงแหล่งที่มาของแม่ไม้เพลงบลูส์

เบรกไปดู
Albert King เล่น Born Under A Bad Signใน YouTube ก่อนที่จะอ่านเรื่องราวของเขาต่อครับ





แม้จะสร้างผลงานระดับอนุสาวรีย์ แต่ตัวแม่แบบเองกลับได้รับเพียงแค่กล่อง และสัญญาทาส

“เราถูกโกง และโดนเบี้ยวฉิบหาย มันให้แค่เศษเงิน เพื่อปิดปากเราให้เงียบ” อัลเบิร์ตระบายออกมาด้วยความสุดเซ็ง

ชักจะท้อใจเหนื่อยหน่ายกับวงการบันเทิง เริ่มถอดใจเตรียมเบนเข็มไปทำอย่างอื่น อัลเบิร์ตลุยทำงานหนัก เพื่อเก็บสะสมเงินไว้ถอยรถ
สิบล้อสักคันหนึ่ง เริ่มทำงานกะแรกในเซ็นต์หลุยส์ ตั้งแต่สี่โมงเย็น ถึงสองทุ่ม เสร็จแล้วไปต่ออีกที่หนึ่ง ตั้งแต่สามทุ่ม ถึงตีหนึ่ง แล้ววิ่งรอกไปปิดรายการ ที่คลับเล็กๆแถวอีสต์ เซ็นต์หลุยส์ ตั้งแต่ตีสอง ถึงหกโมงเช้า คืนหนึ่งไปเจอฮิปปี้สองหนุ่ม เข้ามาแนะนำตัว และทำความคุ้นเคย นั่งคุย และจิบเบียร์ทั้งคืนจนถึงเช้า ก่อนจากกัน หนุ่มบิลและพอล ขอที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ พร้อมกับบอกว่าจะมีงานให้ไปเล่นโชว์ที่ซาน ฟรานซิสโก แต่อัลเบิร์ตก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรนัก จนราว 3-4 อาทิตย์ผ่านไป เขาได้รับโทรศัพท์จาก Bill Graham (บิล แกรห์ม) หนุ่มฮิปปี้ที่ไปนั่งเฝ้าดูจนฟ้าสางเมื่อคืนวันก่อน ยืนยันเรื่องกิ้กสามวันที่เคยคุยกันไว้ และอีกไม่กี่วันต่อมาอัลเบิร์ตได้รับเงินค่าตัว 1,000 เหรียญ เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวจากที่เรียกไปแค่ 500 เหรียญ พร้อมค่าเดินทางอีกต่างหาก

คืนวันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธุ์ 1968 อัลเบิร์ต คิงก้าวขึ้นเวทีฟิลมอร์ ออดิตอเรียม ซาน ฟรานซิสโก
เป็นครั้งแรก ในฐานะวงก่อนเวลา เปิดโรงให้กับจิมิ เฮ็นดริกซ์ ร็อกฮีโร่ ขวัญใจฮิปปี้ ที่พี้กัญชาเคล้าเพลงร็อกไซคีเดลิกของเขา และเจ้าพ่อบลูส์อังกฤษ John Mayall (จอห์น เมยอล) กับวง Bluesbreakers(บลูส์ เบรเกอร์) ซึ่ง Mick Taylor (มิก เทเลอร์) ทำหน้าที่เป็นมือกีตาร์ ก่อนที่วงโรลลิง สโตนจะคว้าตัวไปร่วมทีม แทนที่ Brian Jones (ไบรอัน โจน) ผู้ถอนตัวออกไป อัลเบิร์ตผู้เวียนว่ายอยู่แต่ในวงจรบาร์ผีถิ่นคนดำ ไม่เคยเห็นคนดูที่เป็นฝรั่งผิวขาวมากมายขนาดนี้เลยในชีวิต และคนหนุ่มสาวผมยาว ยุคบุบผาชนเฟื่องฟูเหล่านั้น ก็แทบจะไม่มีใครเคยได้ยินชื่อคนบลูส์ร่างยักษ์ สิงห์อีซ้าย เล่นกีตาร์ทรงแปลกประหลาด มาก่อนหน้านี้เลย และไม่ได้คาดหวังว่าพวกเขาจะต้องตกอยู่ในสภาพเป็นเสมือนสายกีตาร์ ให้อัลเบิร์ตดัน บดขยี้ไปตามใจสั่ง ปล่อยใจให้อยู่ในโอวาทของเสียงกิ้บสันฟลายอิง วี จนลืมไปเลยว่าตั้งใจจะไปดูใคร วัยรุ่นที่เดินออกจากฟิลมอร์ตอนจบการแสดงของคืนนั้น ไม่มีใครไม่รู้จักอัลเบิร์ต คิงอีกแล้ว เขาแจ้งเกิดกับคอร็อควัยรุ่นแล้วในคืนนั้น และสี่คืนที่เขาเล่นประกบกับเฮ็นดริกซ์ และเมยอล นับเป็นช่วงไฮไลต์ที่น่าประทับใจที่สุด ในอายุขัยหกปีแห่งร็อคคอนเสิร์ตของฟิลมอร์

ตั้งแต่นั้นมา บิล แกรห์ม โปรโมเตอร์ผู้หลักแหลม จะจัดคิวสอดแทรกให้อัลเบิร์ตแวะเวียนมาแสดงเป็นประจำที่ฟิลมอร์ทั้งสองแห่งของเขา เป็นศิลปินบลูส์ที่ได้รับการเสนอตัวให้แฟนเพลงร็อกได้รับรู้มากกว่าใครอื่น

“อัลเบิร์ตเป็นศิลปินคนหนึ่งที่ผมใช้บริการหลายครั้ง ด้วยเหตุผลที่หลากหลาย” แกรห์ม ทวนความหลังให้ฟัง “เขาไม่ใช่เป็นเพียงแค่ยอดนักกีตาร์ ลีลาบนเวทีของเขาก็เยี่ยม, เป็นกันเอง, อบอุ่น และเข้าถึงคนดู และอีกอย่าง, เขาไม่เคยเสแสร้งตอแหล เพื่อเอาใจคนดู อย่างที่ศิลปินบลูส์หลายคนทำกัน”

เขาเล่นคอนเสิร์ตรอบปฐมทัศน์เปิดตัวฟิลมอร์
อีสต์ ที่นิวยอร์ก เมื่อ 8 มีนาคม 1968 และยังมาร่วมรายการปิด เมื่อ 27 มิถุนายน 1971 Live Wire/Blues Power เป็นอัลบั้มบันทึกการแสดงสดจากฟิลมอร์ เวสต์ ซาน ฟรานซิสโก ตอนหน้าร้อน ปี 1968 ได้รับการเชิดชูให้เป็นหนึ่งในที่สุดของอัลบั้มแสดงสด เทียบเท่า Live At The Regal ของ B. B. King และ Live At The Apollo Theatre ของราชาเพลงโซล James Brown

บรรดาวงร็อคดังๆทั้งหลาย จะรู้สึกร้อนๆหนาวๆขึ้นมาทันที เมื่อรู้ว่าถูก บิล แกรห์ม วางตัวอัลเบิร์ต คิงเป็นวงอุ่นเครื่องเปิดเวทีให้ ตามนโยบายขายคนดัง พ่วงแถมของจริง ที่แกรห์มต้องการให้คอเพลงได้รับรู้ถึงต้นแบบของเหล่าซูเปอร์สตาร์นั้นด้วย และบ่อยครั้งที่วงดังโดนอัลเบิร์ต เผาเครื่องจนกลายเป็นเศษเหล็ก ขนาดวงร็อกสุดยอดอย่าง The Doors (เดอะ ดอร์) ยังเคยโดนเขาเคี้ยวเป็นอาหารว่าง ในโปรแกรมที่อัลเบิร์ตเป็นวงแถมก่อนเวลา แฟนเพลงยังร่ำร้องเรียกหาอัลเบิร์ตกันอย่างเซ็งแซ่ไม่ยอมเลิกรา แม้ม่านเวทีจะพร้อมเปิดให้ Jim Morrison (จิม มอริสัน)และทีมออกมาโชว์ตัวแล้วก็ตาม หรือแม้กระทั่งบี บี คิง ผู้มีอิทธิพลในสำเนียงกีตาร์ของเขา เมื่อถูกจัดให้โคจรมาปะทะกันในศึกกีตาร์คิง ก็ยังโดนอัลเบิร์ตทำแต้มนำห่าง จนบี บี ทนไม่ไหว ต้องสะพายกีตาร์เดินออกมาขอร่วม ในช่วงเวลารอบสองของอัลเบิร์ต ไมค์ บลูมฟิลด์ กีตาร์ซูเปอร์สตาร์ ซึ่งนั่งดูอยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย สรุปผลออกมาว่า

“อัลเบิร์ตแดกบี บี จนไม่เหลือซาก”

Joe Walsh (โจ วอลช์) กีตาร์ร็อกวงอีเกิ้ล ซึ่งนักกีตาร์บ้านเราถือท่อนโซโลเพลง Hotel California เป็นอาขยานบทหนึ่ง เคยพูดไว้เมื่อหลายปีก่อน (1988) ว่า

“Eddie Van Halen (เอ็ดดี้ แวน เฮเล็น) คือ ที่สุดของวันนี้ แต่อัลเบิร์ต คิง สามารถอัดเอ็ดดี้ให้ตกเวที.......ด้วยแอมป์ที่เปิดแค่สแตนด์บาย(พักเครื่อง) เขายิ่งใหญ่สุดแล้ว, เพื่อนเอ๋ย”

ความยิ่งใหญ่ของอัลเบิร์ต คิง ที่ได้รับรู้จากผลงาน และคำสรรเสริญ ได้รับการตอกย้ำจากประสบการณ์ตรง ราวต้นทศวรรษแปดสิบ
สัมผัสแรกสุด คือ หุ่นมหึมารูปร่างสูงใหญ่ ด้วยส่วนสูงหกฟุตสี่นิ้ว และน้ำหนักสองร้อยหกสิบปอนด์ (ราวๆหนึ่งร้อยกิโลกรัม)ของเขา กินเนื้อที่ไปเกือบครึ่งเวทีของโจนาธาน สวิฟต์ (Jonathan Swift’s) คลับปัญญาชน สถานนัดพบของนักศึกษาฮาร์วาร์ด ภาพลักษณ์ของเขารู้สึกคุ้นเคย ไม่แปลกตาไปจากที่เห็นบนหน้าปกแผ่นเสียง หรือในนิตยสารดนตรี แต่ได้มิติ และกระแสแห่งพลังบลูส์ให้รู้สึก และรู้ซึ้งถึงบลูส์พาวเวอร์ ที่เคยได้ยินจากในเพลงนั้น

หลังจากลูกวงขึ้นมาเล่นเพลงอุ่นเครื่องราวสามเพลง โฆษกประจำวงก็จะตะโกนถามความพร้อมที่จะ
เสพบลูส์หรือยัง ตามธรรมเนียม ให้คนดูได้เฮ แหกปากบริหารปอด ร้องเยดังๆตอบรับหลายครั้ง หลังจากนั้นวงดนตรีจึงจะบรรเลงเพลงโหมประโคมเชิญอัลเบิร์ต คิง เขาก้าวขึ้นเวทีในชุดสูทสีเข้มสามท่อน สวมหมวกสักหลาดเต็มยศ ใส่แว่นตาสีชาแก่ ยิ้มเห็นฟันทองเต็มปากที่คาบไปป์พ่นควันโขมง สะพายลูซี กีตาร์คู่ใจทรงจรวด เสียบสายแจ็กเข้าตู้แอมป์อคุสติก แล้วลุยโซโลไปกับลูกวงที่เล่นรองพื้นรอท่าทันที คนดูซึ่งคึกคักตั้งแต่เห็นเขาปรากฏตัวออกมา เมื่อโดนเสียงกีตาร์ดุประกาศิตกระแทกโสต ยิ่งนั่งกันก้นไม่ติดเก้าอี้ ลุกขึ้นยืนชูมือเต้นกันข้างโต๊ะ ในเนื้อที่แคบๆเบียดเสียดกัน จนสาวเสิร์ฟต้องมุดซอกแซกเข้าไปบริการดริ๊งก์ ด้วยความทุลักทุเล

ความสะใจ เร้าใจ สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดสุดยอดใน Born Under The Bad Sign เหงื่อเม็ดโตเกาะชุ่มเต็มใบหน้า
ไหลเป็นทางย้อยไปตามร่องแก้มของอัลเบิร์ต รวมตัวกันเป็นหยดร่วงลงสู่พื้นจากปลายคาง เครื่องร้อนได้ที่แล้ว เขาอินไปกับเพลงชุดเดิมๆ ที่ต้องเล่นซ้ำโปรแกรมกันทุกค่ำคืน ในต่างสถาน ต่างเมือง ต่างคนดู ต่างบรรยากาศ แต่ไม่เคยซ้ำซากในแง่มุมใหม่ของเพลงเก่า ในช่วงกลางของโซโล เขาดันจนกีตาร์สายขาดผึง แต่ก็เล่นต่อไปไม่สะดุดเสียงร้องอันเจื้อยแจ้วของลูซี ถ้าไม่เห็น จะไม่รู้ว่าสายขาด หลังเพลงจบ เด็กขนเครื่องวิ่งเอาสายใหม่ขึ้นมาเปลี่ยนให้ เขาตั้งสายอย่างรวดเร็ว เหลือเชื่อ แล้วขึ้นเพลงต่อ จนไม่รู้สึกขาดช่วงความต่อเนื่องของอารมณ์ เหมือนเวลาดูรถแข่งสูตรหนึ่ง ทีมช่างใช้เวลาแค่พริบตา เพียงไม่กี่วินาทีในการเปลี่ยนล้อใหม่ แล้วพุ่งออกซิ่งต่อ แต่หลังจากนั้น พอไปได้สักพักก็เริ่มออกอาการไม่ปกติ เมื่ออัลเบิร์ตเริ่มพลิกข้อมือมองเวลาบ่อยครั้ง ความคึกคักของศิลปินบลูส์วัยหกสิบ เริ่มถดถอย แม้ใจจะยังสู้ แต่ร่างกายตอบรับไม่ไหวแล้ว คงจะเป็นวันที่เหนื่อยล้าของเขา การแสดงจบลง เมื่อครบกำหนดเวลา 45 นาที นับเป็นเซ็ตที่สั้นมากสำหรับบลูส์โดยทั่วไป เสียงตะโกน เรียกร้องให้อัลเบิร์ตออกมาเล่นเพลงแถม ยังกึกก้องอยู่อีกพักใหญ่ หลังจากคำกล่าวกู้ดไนต์ จนกระทั่งทางคลับ เปิดไฟสว่างจ้านั่นแหละ ผู้คนถึงยอมแยกย้ายกลับ

ตอนขาออกผมเห็นรถบัสใหญ่จอดอยู่หน้าคลับ
เลยก้าวขึ้นบนรถบัสส่วนตัว ชื่อเหมือนเจ้าแม่ Big Bertha (บิ๊กเบอร์ธา) ด้านข้างรถเขียน I Play The Blues For You ตัวใหญ่ เด่นชัด หวังสัมผัสมือใหญ่เหมือนใบพาย ที่ดันสายได้เนียนกว่าใคร แต่พอเห็นท่านนั่งเอนหลังทิ้งตัว หลับตาอยู่บนเบาะแถวหน้า ด้วยท่าทางอิดโรย เด็กหนุ่มที่คอยเฝ้าดูแล รีบกระซิบบอกให้รู้ว่าท่านไม่ค่อยสบาย ก็เลยต้องรีบถอยฉากออกมาอย่างเงียบๆ

ครั้งหลังจากนั้น ต้นปี 1985 ก็ไม่มีโอกาสได้ชิดใกล้เห็นเม็ดเหงื่อของอัลเบิร์ตไหลย้อยอีก เนื่องจากดูจากชั้นลอยบัลโคนี ของโรงละครเก่า โอเปรา เฮาส์ ซึ่งอยู่ห่างจากเวทีมาก ในรายการเปิดโรงให้สตีวี เรย์ วอห์น แต่ก็ได้ประจักษ์กับการแสดงออกถึงความคลั่งไคล้ที่ไร้เพดานของวัยรุ่นอเมริกัน ในบรรยากาศร็อกคอนเสิร์ตอันอบอวลด้วยกลิ่นกัญชา อื้ออึงด้วยเสียงแข่งกันแผดร้องตะโกนระบายความสะใจ จนแทบจะกลบเสียงดนตรีที่ส่งผ่านพาวเวอร์มิกซ์หลายพันวัตต์ ขยายเสียงผ่านทางแผงกำแพงลำโพงด้านข้างเวที

Years Gone By ตอนต้นปี 1969
เป็นผลผลิตเต็มอัลบั้มชุดแรกจากสตูดิโอของอัลเบิร์ต และยังมีอัลบั้มเทิดทูนเอลวิส อัลบั้มแจมกับ Steve Cropper (สตีฟ ครอปเปอร์) และ Pops Staple (ป็อป สเตเปิล) นอกเหนือจากการเป็นศิลปินบลูส์คนแรกที่ร่วมเล่นกับวงออร์เคสตรา

นักดนตรีผู้ต้องเรียนรู้วิธีการเด็ดโคนดอกฝ้ายกลางท้องทุ่งในวัยเยาว์ ในขณะที่เด็กวัยเดียวกันได้เข้าโรงเรียน เรียนหัดอ่านเขียนอยู่ในห้องเรียน อัลเบิร์ตไม่เคยได้เรียนเขียนอ่าน มือใหญ่หยาบกร้าน ศึกษาการเล่นกีตาร์นอกระบบด้วยตัวเอง เล่นแบบผิดๆนอกลู่นอกทาง จนคนยอมรับเป็นความถูก ออกไปยืนเด่นเป็นตัวเดี่ยวนำ ให้วงเซ็นต์หลุยส์ซิมโฟนีออร์เคสตรา ซึ่งมีนักดนตรีนับร้อย ผู้ได้รับการฝึกปรือตั้งแต่หัวเท่ากำปั้นให้อยู่ในกรอบระบบการศึกษาดนตรี ที่วิวัฒนาการมานานนับร้อยปี เป็นตัวประกอบ

หลังจากยุคกระแสเห่อบลูส์ของคนขาวซาลง สแต็กซ์ประสบปัญหาทางการเงินถึงกับล้มละลายตอนกลางทศวรรษเจ็ดสิบ อัลเบิร์ตย้ายไปอยู่กับ Utopia ออกสองอัลบั้มเน้นแนว
ครอสโอเวอร์บลูส์โซล แล้วโยกเข้าสังกัด Tomato ในปี 1978 มีผลงานไม่ทิ้งช่วงให้หายเงียบ แต่ก็ไม่โดดเด่นออกมาประปราย Fantasy เป็นบ้านใหม่เมื่อ ปี 1983 เขาอยู่ที่นี่สองปีอย่างมีความสุข ผลิตผลงานเด่นยุคปลาย จนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่ทั้งสองชุด San Francisco ’83 และชุดต่อมา I’m In A Phone Booth, Baby เป็นสตูดิโออัลบั้มชุดสุดท้ายของอัลเบิร์ต บันทึกเสียงที่เบอร์คลีย์ คาลิฟอร์เนีย ในเดือนมกราคม 1984 เพลงไตเติ้ลผลงานของ Robert Cray (โรเบิร์ต เครย์) กีตาร์บลูส์รุ่นลูก ที่เจ้าตัวเป็นปลื้มสุดๆ ปี 1990 ไปเป็นแขกรับเชิญของแกรี่ มัวร์ สาวกคนหนึ่งของเขา ให้เสียงกีตาร์ผลงานทำใหม่ของตัวเอง Oh, Pretty Woman ในอัลบั้ม Still Got The Blues

กลางทศวรรษแปดสิบ อัลเบิร์ตประกาศแขวนกีตาร์ หันหลังให้วงการดนตรี หลังจากบ่นทำท่าจะเลิกอยู่บ่อยๆ
จนผู้คนชินชา ดัดแปลงรถบัสบิ๊กเบอร์ธา ที่เขาใช้ตะเวนเดินสาย ให้เป็นบ้านเคลื่อนที่ และเพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์ตกปลา วาดวางแผนขับรถหาแหล่งตกปลาไปเรื่อยๆตามรัฐทางใต้ ค่ำไหน นอนนั่น แต่สายกีตาร์ของลูซีคู่ใจ ยังไม่ทันจะขึ้นสนิม ลำตัวยังไม่ทันฝุ่นจะเกาะหนา ก็โดนเจ้าของหิ้วไปทัวร์แทนคันเบ็ด ในรายการคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรี ทั่วทั้งอเมริกาและยุโรป จวบจนวาระสุดท้าย เมื่อเขาเสียชีวิตอย่างกะทันหันด้วยโรคหัวใจวาย ที่เมมฟิส เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 1992 อายุได้ 69 ปี

ในงานพิธีศพของอัลเบิร์ต คิง โจ วอลช์ หนึ่งในทายาททางดนตรี เล่นสไลด์กีตาร์คารวะไว้อาลัยด้วยเพลง Amazing Grace


(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ปี 2001)

Tuesday, May 12, 2009

Autumn Leaves



Autumn Leaves เป็นเพลงยอดนิยมที่แพร่หลายรู้จักกันดีมากเพลงหนึ่ง มีการนำเพลงนี้ไปร้องและบรรเลงกันในแทบจะทุกแนวดนตรี เอาทำนองไปใส่เนื้อร้องกันมากมายหลายภาษา รวมทั้งภาษาไทยของเราด้วย ในทางแจ๊สสำหรับนักดนตรี Autumn Leaves ก็เป็นเพลงพื้นฐานสำคัญเพลงหนึ่ง ที่ต้องเรียนรู้ตั้งแต่ย่างเท้าก้าวแรกเข้ามาศึกษาถึงศาสตร์แห่งการด้นไปจนถึงลมหายใจสุดท้าย ตราบเท่าที่ยังผูกพันอยู่กับดนตรีแจ๊สนี้

ในความเป็นอินเตอร์ของ Autumn Leaves ซึ่งนับได้ว่าเป็นสมบัติร่วมอันล้ำค่าชิ้นหนึ่งแห่งมวลมนุษยชาติ ความเป็นมาของเพลงนี้มีความน่าสนใจให้รับรู้เป็นกับแกล้มประกอบการดื่มด่ำในเสียงเพลงไม่น้อยทีเดียว ชื่อ Autumn Leaves ที่คนทั้งโลกส่วนใหญ่คุ้นเคยนั้นแท้จริงแล้วเป็นเพลงฝรั่งเศส มีชื่อจริงว่า Les Feuilles Mortes ( บางครั้งก็เรียก Hojas Muertas) ซึ่งเป็นผลงานของ Joseph Kosma (1905 1969) นักแต่งเพลงชาวฮังกาเรียน ใส่เนื้อร้องโดยกวีชาวฝรั่งเศส Jacques Prevert (1900 – 1977) Kosma เป็นคีตกวีที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องแต่งเพลงประกอบหนัง มีผลงานโดดเด่นในทำเนียบภาพยนตร์ยิ่งใหญ่ตลอดกาลหลายเรื่อง จากการทำงานร่วมกับ Jean Renoir ผู้กำกับภาพยนตร์ระดับตำนานของฝรั่งเศส ผลงานส่วนใหญ่ของ Kosma จะกระเดียดไปทางแนวดนตรีคลาสสิก ซึ่งได้รับการบ่มเพาะมาตั้งแต่ครั้งยังเยาว์ เขาเรียนดนตรีที่ Budapest Conservatory แล้วได้ทุนไปต่อที่ Berlin Opera ประเทศเยอรมัน หลังจากนั้นเริ่มสั่งสมประสบการณ์กับ Bertolt Brecht ในปี 1929 ได้เรียนรู้ซึมซับแนวทางจากโอกาสการทำงานร่วมกับคีตกวี Kurt Weill และ Hanns Eisler พอปีกกล้าขาแข็งก็ย้ายไปอยู่กรุงปารีส ปี 1933 ร่วมบุกเบิกสร้างตำนานกับ Jean Renoir ตั้งแต่ปี 1936 ในช่วงที่กำลังรุ่งมากยังได้ร่วมงานกับนักเขียนบทหนัง Jacques Prevert เขียนเพลงประกอบบัลเลต์เรื่อง Rendezvous ในปี 1945 ได้กลายเป็นคู่ขาแต่งเพลงร่วมกันหลายเพลง รวมไปถึงต้นแบบดั้งเดิมของ Autumn Leaves ในปี 1947 ซึ่งต่อมาได้ถูก Johnny Mercer นักแต่งเพลงอเมริกันชื่อดังนำเอาไปแปลงสัญชาติ ใส่เนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษ จนเป็นที่แพร่หลายไปทั่ว

มาฟังเพลง Autumn Leaves กัน เราไปเริ่มต้นที่ถิ่นกำเนิดเลย เมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว นักฟังเพลงในฝรั่งเศสเริ่มรู้จักเพลงนี้จากเสียงเซ็กซี่ของ Juliette Greco ดารานักร้องสาวสวย ในเวอร์ชันของเธอเราได้ฟังท่อนสร้อย ที่ภายหลังถูกศิลปินอื่นๆตัดทิ้งไป นำขึ้นมาก่อนด้วยลีลาช้าเนิบเศร้าๆ จังหวะมาเน้นกระชับในช่วงทำนองหลัก แต่ก็ยังคงอารมณ์เหงาไว้ทั้งเพลง 










ของ Edith Piaf ราชินีเพลงฝรั่งเศส ก็มาในลีลาบัลลาดเช่นกัน ขึ้นต้นด้วยเนื้อร้องอังกฤษแล้วตามด้วยฝรั่งเศสเต็มเที่ยว ตัดเข้าจบด้วยท่อนหลังในภาคอังกฤษ 







ส่วนในเวอร์ชันของYves Montand ดารานักแสดงระดับนานาชาติ และยังเป็นนักร้องชายยอดนิยมของฝรั่งเศสด้วย เกริ่นนำขึ้นต้นเพลงด้วยบทพูด พอเข้าร้องทำนองหลักก็จะเน้นไปที่เสียงร้องนุ่มน่าฟังของ Montand มีเสียงแอคคอร์เดียนคลอตอบรับ บนฐานจังหวะยืนพื้นแบบบัลลาดของเบสและกีตาร์ แล้วเว้นช่วงให้แซ็กโซโฟนเป่าทำนองในลีลาแจ๊ส กลมกลืนไปกับเสียงพลิ้วโรแมนติกของแอคคอร์เดียนฝรั่งเศส Montand วกกลับมาร้องปิดเพลงได้อย่างน่าประทับใจมาก เพลงนี้ทำให้เขาได้รับแผ่นเสียงทองคำจากยอดขายเกินล้านแผ่น ในปี 1954 นับเป็นปรากฏการณ์สำหรับยุคนั้นของวงการเพลงในฝรั่งเศส




ในทางสายแจ๊สนั้น Miles Davis ได้เครดิตเป็นผู้นำ Autumn Leaves มาเผยแพร่จนกลายเป็นเพลงสแตนดาร์ด แม้ว่าจะมีคนอื่นนำมาอัดเสียงตัดหน้าไปก่อนแล้วก็ตาม อย่าง Erroll Garner ในอัลบั้มดังของเขา Concert by the Sea (1955) ไมล์รู้จักกับเพลงนี้จากจูเลียต เกรโค ผู้ปลุกกระแสเพลงนี้โดยตรง เขาเป็นเพื่อนผู้รู้ใจกับดาราสาวสวยอยู่หลายปี เริ่มตั้งแต่ ปี 1949 ในเวอร์ชันนิยามของ Autumn Leaves นี้ ไมล์ เดวิสนำเพลงมาอัดเสียงภายใต้การนำวงของนักอัลโตแซ็ก Cannonball Adderley ในชุด Somethin' Else ให้กับค่ายแผ่นเสียง Blue Note นอกจากได้นายวงอย่างไมล์มาช่วยเป่าแตรให้แล้ว แอดเดอร์ลีย์ยังไหว้วานยอดฝีมืออย่างนักเปียโน Hank Jones มือเบส Sam Jones และมือกลอง Art Blakey มาร่วมสร้างประวัติศาสตร์ในวันที่ 9 มีนาคม 1958 ด้วย พวกเขาเล่นกันอย่างเรียบง่าย เป็นระเบียบ บทโซโล่ของทุกคนลงตัว สวยงาม มีสาระชวนให้ติดตาม ไมล์ เดวิสเด่นเท่จากการเป่าทำนองด้วยทรัมเป็ตผ่านฮาร์มอน มิวต์(Harmon Mute) ซึ่งช่วยกรองเสียงแตรให้นิ่มนวล น่าฟังไปอีกแบบ





ยอดนักเปียโนแจ๊ส Bill Evans มีความผูกพันอยู่กับเพลงนี้มาก เขาเล่นบันทึกเสียงตีความในหลายมุมมองหลายครั้งด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ Portrait in Jazz (1959) อัลบั้มชุดแรกในการร่วมงานกับ Paul Motian(กลอง) และ Scott LaFaro(เบส) ทริโอสุดยอดของเขา เราได้ฟัง Autumn Leaves ให้เปรียบเทียบกัน 2 เทค จุดเด่นของเวอร์ชันนี้ คือ ช่วงโซโล่โต้ตอบกันระหว่างลาฟาโรและแอเวน ลาฟาโรเป็นนักเบสหัวก้าวหน้าในยุคนั้น เขาคือต้นแบบสำหรับนักเบสรุ่นใหม่ 







ต่อมาแอเวนยังได้บันทึกเสียงเพลงโปรดนี้ร่วมกับ Eddie Gomez คนเบสคู่ใจคนต่อมา ใน Quiet Now (1969) 






และได้เล่นสั่งลาก่อนเสียชีวิตเพียงอาทิตย์เดียว ร่วมกับทีมทริโอสุดท้าย ซึ่งมี Marc Johnson(เบส) และ Joe LaBarbera (กลอง) ที่ได้รับการยกย่องว่า เทียบได้กับทีมตำนานทีมแรกใน Last Waltz: The Final Recordings Live (2000) ลองหามาฟังเปรียบเทียบกันดู




Joe Pass เลือกเอา Autumn Leaves เป็นเพลงโชว์เดี่ยวกีตาร์โปร่ง ในชุดประวัติศาสตร์ Virtuoso (1973) และ Virtuoso No. 4 (1973) 

 

 ต่อมานักกีตาร์แจ๊สรุ่นน้องจากแคนาดา Lenny Breau เสียบแอมป์เปิดโวลุ่มเบาๆ บรรเลงเดี่ยวได้น่าทึ่งไม่แพ้กัน ใน Five O'clock Bells/Mo Breau (1977) 



และยังมีเวอร์ชันที่น่าแสวงหามาฟังโดยนักกีตาร์แจ๊สรุ่นใหญ่อย่าง Barney Kessel ใน Live At Blues Alley  






และTal Farlow จาก Interpretations of Tal Farlow (1955), Tal Farlow ‘78 (1977) 






ของ Jimmy Raney ชุด Live in Tokyo (1976) ก็ดีมากในแบบทริโอ 





นักกีตาร์รุ่นใหม่อย่าง Stanley Jordan ก็ชอบจิ้มคอกีตาร์เล่นเพลงนี้ ใน Cornucopia (1986) และ Live in New York (1998) และ Stolen Moments (1990) 





 และถ้าจะถามหาถึงสุดยอดของการเล่นคู่ ก็คงไม่มีใครเกิน Jim Hall(กีตาร์) กับ Ron Carter(เบส) ใน Alone Together (1972)




นักร้องนักดนตรีแจ๊สขยันเอา Autumn Leaves มาอัดเสียงกันมากมายมหาศาลไม่รู้เบื่อ สำหรับนักฟังที่ชอบเพลงนี้ก็จะติดตามซื้ออย่างแฟนพันธุ์แท้เหมือนกัน คงจะต้องเป็นเรื่องยาวมาก ถ้าจะให้พูดถึงแต่ละเวอร์ชันที่โปรด ซึ่งคงอ้างอิงไปได้เรื่อยๆอีกหลายตอน ขอแถมท้ายด้วยเสียงหีบเพลงปาก (Harmonica) ของToots Thielemans จาก Live in the Netherlands (1980) ฟังแล้วสดชื่นมาก แต่ยังอยากฟังอีก เลยต้องต่อด้วย Do Not Leave Me (1986) และตามด้วย Toots Thielemans & Kenny Werner (2001)











  เสร็จแล้วไปฟัง Mel Torme ร้องในบรรยากาศแจ๊สคลับ Encore at Marty's, New York (1982) ก่อนขึ้นเพลงแกบอกคนฟังให้รัดเข็มขัดเก้าอี้นั่งให้แน่น แล้วพาไปซิ่ง ในช่วงกลางเพลงแกรัวลิ้นร้องสแคทเร็วมาก เรียกเสียงเฮดังจากคนดู น่าประทับใจมากครับ 




 
ขอปิดท้ายกับเวอร์ชันของ Sarah Vaughan ในอัลบั้ม Crazy and Mixed Up (1982) เปิดฉากด้วยเสียงกีตาร์ของ Joe Pass นำขึ้นมาก่อน แล้วซาร่าห์ วอห์นก็สแคทรับต่อยาวไปเลย ตั้งแต่โน้ตแรกจนจบเพลง ไม่มีอ้างอิงถึงทำนองหลักของเพลงเลย อาศัยโครงสร้างเพลงเป็นโจทย์เพียงอย่างเดียว บอกให้รู้ว่าเป็น Autumn Leaves จากชื่อเพลงเท่านั้น





มุมมองเชิงวิเคราะห์ Autumn Leaves สำหรับนักศึกษาวิชาดนตรี


เพลงนี้มีความยาวมาตรฐาน 32 ห้อง อยู่ในลักษณะฟอร์ม AABC ความยาวท่อนละ 8 ห้อง มีสำเนียงทำนองในทางไมเนอร์ นิยมเล่นกันในคีย์ G minor เป็นเพลงทำนองหวาน ที่เล่นกันได้ในระดับความเร็วทุกอัตราจังหวะ ไม่ว่าจะเล่นในแบบบัลลาด หรือลีลาลาติน หรือเร่งสปีดให้เร็วในจังหวะสวิง ในส่วนโครงสร้างของฮาร์โมนีโดยรวม จะเป็นการสลับไปมาระหว่างรีเลทีฟเมเจอร์ไมเนอร์คีย์ (ในที่นี้คือคีย์ Bb Major และ G minor) ซึ่งดูๆแล้วก็ไม่ซับซ้อนอะไร แต่อย่าหลงผิดคิดว่าเป็นเพลงตื้นๆ ธรรมดาก็แล้วกัน ไม่เช่นนั้น เหล่าครูเพลง ปรมาจารย์แจ๊สทั้งหลายคงไม่เอามาเป็นโจทย์ ให้เป็นการบ้านกันอยู่ตลอดชีวิตหรอกครับ



(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ปี 2005)